เรื่อง: พีรณัฏฐ์ อุไรรัตน์
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม
เคยมีครูชาวอิตาเลี่ยนท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้าน ย่าน เมือง หรือประเทศที่ไม่เคยไป สถานที่แรกที่เลือกไปเยือนคือ ตลาด เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เป็นพื้นที่ของการทำความรู้จัก เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ความแตกต่าง ได้สัมผัสข้าวของเครื่องใช้ วัตถุดิบต่างๆ เครื่องปรุงอาหารที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเฉพาะที่ วิถีชีวิตผู้คนที่แตกต่าง เรื่องอาหารการกินและความเป็นอยู่ ถือว่าเป็นการได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจครบครัน ทั้งการมองเห็น การได้กลิ่น ได้ยินเสียง ได้ชิม ได้สัมผัส จนสร้างเป็นความทรงจำเฉพาะที่ติดตัวไปตลอดชีวิต
ด้วยเหตุนี้เอง คำว่าตลาดในสมัยโบราณมักจะมีความเป็นพื้นที่สาธารณะ ทำหน้าที่รองรับการรวมตัวกันของผู้คน พบปะ พูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยการใช้ชีวิตซึ่งกันและกัน จนมาถึงในยุคปัจจุบัน ตลาด หรือ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ที่รองรับการรวมตัวของผู้คน การแลกเปลี่ยนหรือการซื้อขายสินค้าเท่านั้น หากต้องมีการปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม สร้างพื้นที่ที่สามารถให้ผู้คนเข้ามาใช้ชีวิตและสร้างประสบการณ์ร่วมกับงานบริการ โดยตอบสนองรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนตลอด 24 ชั่วโมง และระบบความคิดในการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นต้น ในขณะที่บทบาทหน้าที่ของความเป็นพื้นที่สาธารณะถูกตั้งคำถามมากขึ้นถึงการรองรับวิถีชีวิตการอยู่อาศัยและการทำงานในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปของชุมชนเมือง เกิดพื้นที่แบบใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ระหว่างส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่เราสะดวกใจ ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย พื้นที่ซึ่งสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความสนใจกันได้อย่างไม่เป็นทางการมากขึ้น
โครงการ True Digital Park 101 ที่อยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ในเบื้องต้นดูคล้ายจะเป็นอาคารลักษณะ Community mall ทั่วๆ ไปที่ประกอบไปด้วยโปรแกรมในการใช้สอยพื้นที่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านขายของ และลานทำกิจกรรม เป็นต้น หากเราได้ลองเดินเข้าไปยังพื้นที่เปลี่ยนผ่าน (Transitional Space) ที่เป็นสวนต่างระดับ มีหลังคาโปร่งแสงโค้งซ้อนกับภาพภายนอก เราจะเริ่มสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของความคิดที่แตกต่าง การออกแบบวางผังอาคารเริ่มจากภายนอกสู่ภายใน การเปลี่ยนระดับทำให้เกิดมุมมองและการใช้งานที่น่าสนใจ การให้รายละเอียดของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็นต้น
โครงการ True Digital Park 101 นี้เป็นการระดมความคิดในกลุ่มนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเชิงพฤติกรรมมนุษย์ นักลงทุน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผสมผสานกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจากบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด โดยผลลัพธ์ที่ออกมานั้นกว่าจะเป็น Lifestyle complex ที่ไม่ได้เป็นแค่ Conventional Department store หรือ Luxury mall ริมถนนสุขุมวิทเท่านั้น โดยมีเจตนาหลักคือการสร้างพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิต มีสถานที่ทำกิจกรรมทางสังคม ให้ผู้คนได้มานั่งเล่น พบปะพูดคุยหรือมาออกกำลังกายโดยไม่ได้มีแค่จุดหมายปลายทางคือร้านค้า/ร้านขายของ และสามารถตอบโจทย์การใช้เวลากับพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Optimize time)
อาจพูดได้ว่า แนวความคิด Third place นี้มีจุดเริ่มต้นจาก The Great Good Place ซึ่งเป็นชื่อหนังสือของ เรย์ โอลเดนเบิร์ก (Ray Oldenburg) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ตีพิมพ์ออกมาในปี 1989 กล่าวถึงการสร้างสมดุลในบริบทของสังคมบนพื้นที่สาธารณะอย่างลงตัวและองค์ประกอบของ The Great Good Place คือ First place (บ้าน) Second place (ที่ทำงาน) และ Third place (พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ไม่ใช่บ้านและที่ทำงานซึ่งเป็นพื้นที่ที่สาม) โดยที่โครงการ True Digital Park 101 ได้วางองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น First place อย่างคอนโดมิเนียม Second place ที่เป็นออฟฟิศแบบเปิดโล่ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสะดวกใจและมีอิสรภาพในการหาพื้นที่คิดและทำงาน และ Third place ซึ่งเป็นการรองรับการใช้งาน ร้านอาหาร พื้นที่จับจ่ายซื้อของ คาเฟ่ สวนสาธารณะ ห้องสมุด พื้นที่ออกกำลังกาย ลานจัดกิจกรรม โดยรวมเหมือนเป็นพื้นที่รองรับ Life style ที่ครบถ้วนแบบ One-stop service และองค์ประกอบของโปรแกรมที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจนคือ การสร้าง Innovative Lifestyle Complex เกิดจากความเข้าใจและค้นพบ Unmet need หรือความต้องการที่อยู่ในระดับลึกของผู้บริโภค ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในการตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคในแบบที่แตกต่างไปจากวิถีเดิมๆ นอกจากรวมความเป็นตลาด ร้านค้าไว้มากถึง 200 ร้าน (ที่มีทั้งแบบ fine dining, quick meal และ grab and go) ยังมีการสร้าง Night Life Zone เป็นพื้นที่รองรับการบริการแบบ 24 ชั่วโมงเพื่อสร้างให้เป็น Sleepless Community
มาถึงวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่เข้ามาใช้โครงการและคนในชุมชนใกล้เคียงให้ดีขึ้น เช่น พื้นที่ชั้นบนของอาคารถูกออกแบบให้เป็นทางเดินลอยฟ้า (Whizdom Track) เลนสำหรับปั่นจักรยานและลู่วิ่งออกกำลังกายบนระยะทางกว่า 1.3 กิโลเมตร รวมทั้งสระว่ายน้ำในรูปแบบ Outdoor ทั้งนี้ ยังมีการออกแบบพื้นที่รองรับสัตว์เลี้ยง (pet friendly) เช่น การออกแบบห้องน้ำส่วนตัวให้สัตว์เลี้ยง หรือการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตรงบริเวณลานภายนอก (Outdoor Area) ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น The Green Good Place ซึ่งกล่าวถึงการออกแบบสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทำ research กับพื้นที่ก่อสร้างกว่า 43 ไร่ เรื่องความสัมพันธ์ของต้นไม้กับสิ่งมีชีวิต การสร้างระบบนิเวศร่วมกันทั้งต้นไม้ คน สัตว์ เป็นเรื่องที่ถูกนำมาพิจารณาใช้ในการออกแบบ
แนวความคิดที่จะสร้าง The Great Sustainnovation Place บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร สถาปนิกได้เลือกใช้โปรแกรม BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มีการประมวลผลและแสดงผลแบบสองและสามมิติไปพร้อมๆ กัน ตลอดจนสามารถที่จะต่อยอดในการคำนวณเวลาการทำงานเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรในการก่อสร้างโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
ในทางปฏิบัติ กระบวนการก่อสร้างหน้างานจริง ย่อมมีความคลาดเคลื่อนทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ ซึ่งทางโครงการได้ร่วมมือกับ Echolab ดีไซน์สตูดิโอที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิด Circular Design โดยนำวัสดุเหล่านั้นมา Upcycling (กระบวนการชะลอการเกิดขยะที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้เป็นได้มากกว่าขยะเหลือทิ้ง) ไม่ว่าจะเป็นเศษเหล็กข้ออ้อย ท่อพีวีซี เศษไม้ ประกอบเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ภายนอกอาคาร ผนังที่เกิดจากลูกปูนวางเรียงเป็น pattern ที่น่าสนใจ รวมถึงการคิดและพัฒนา การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของทางโครงการร่วมกับสถาปนิก ตัวอย่างเช่นการเลือกใช้วัสดุแผ่นโปร่งแสง (ETFE) ซึ่งผลิตจากพลาสติก Ethylene Tetrafluoroethylene คุณสมบัติมีน้ำหนักเบา กันแสงยูวีได้ แทนการใช้กระจก มาใช้ประกอบโครงสร้างบริเวณหลังคาที่อยู่ด้านในของอาคาร เมื่อวัสดุมุงเบา โครงสร้างที่รองรับก็มีขนาดเล็กลง ซึ่งนอกจากช่วยลดความร้อนได้มากโดยใช้หลักการอัดอากาศสร้างเป็นฉนวน วิธีการเป่าลมเข้าไปตรงกลางระหว่างวัสดุมุงทั้ง 2 ชั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้อุณหภูมิด้านล่างลดต่ำลง ยังอนุญาตให้แสงแดดผ่านลงมายังต้นไม้ด้านล่างได้อีกด้วย นอกจากระบบ Solar Cell ที่ติดตั้งบนหลังคาทางเดิน ยังมีพื้นรองรับการเหยียบที่เรียกว่า pavegen เป็นระบบเทคโนโลยีสร้างพลังงานไฟฟ้า ที่เกิดจากน้ำหนักของแรงเหยียบลงบนพื้น ซึ่งแรงกดลงบนพื้นจะถูกแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า และถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่รถยนต์ โดยพลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่สามารถนำไปใช้ภายในโครงการส่วนต่างๆ เช่น ไฟส่องสว่างในช่วงเวลากลางคืน หรือสร้างจุดชาร์จโทรศัพท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับการสร้างพลังงานโดยตรงที่น่าสนใจมาก
ไม่ว่าเราจะเรียกหรือให้คำนิยามของพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่อยู่ร่วมกันในลักษณะ True Digital Park 101 นี้อย่างไร นิยามความเป็นบ้าน ความเป็นที่ทำงาน ความเป็นพื้นที่ที่สาม ความเป็นตลาดในยุคสมัยใหม่ จะถูกตีความได้หลากหลายอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น หากคิดย้อนกลับไปเรื่องการแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของตลาด การพูดคุยพบปะกัน การแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน เป็นสิ่งที่แสดงถึง Sense of community อันเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชุมชนที่สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) อย่างยั่งยืน