เรื่อง: อ.ดร.จิรันธนิน กิติกา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพ: …
วีฟ อาติสาน โซไซตี้ (Weave Artisan Society) เป็นพื้นที่ของกลุ่มนักออกแบบงานฝีมือ ด้วยความพยายามของทีมวีฟที่จะผลักดันความหลากหลายของงานออกแบบฝีมือ ที่มีฐานผู้ออกแบบจากเชียงใหม่ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมีพื้นที่วีฟอาติสานนี้ทำหน้าที่เป็นชุมทางการออกแบบ พื้นที่จัดแสดงผลงาน และกิจกรรมของโครงข่ายนักออกแบบงานฝีมือ โครงการดำเนินงานผ่านความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนทำงานฝีมือและทีมทำงานของวีฟ ซึ่งมีผู้ประสานงานหลักคือ คุณจูเลี่ยน (Zi Liang Huang) และคุณนก (นัดดา สงวนเดช) ร่วมกับพันธมิตรนักออกแบบงานฝีมือทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างร้านกาแฟ Taste Cafe Atelier และงานดอกไม้ Les Fleurs Fac เป็นผู้ร่วมแชร์พื้นที่โครงการ และยังต้อนรับนักออกแบบงานฝีมืออื่นๆ อีกในอนาคต
วีฟอาติสานโซไซตี้ เป็นโครงการที่มาจากการรีโนเวทโรงน้ำแข็งที่มีอายุกว่า 40 ปี ตั้งในชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ โกดังนี้ถูกทิ้งร้างจากการปิดกิจการ และมีพื้นที่ภายนอกประกอบด้วยลานจอดรถ และพื้นที่บ้านเช่าของคนงาน การคืนชีพพื้นที่โรงงานน้ำแข็งที่เป็นโกดังโครงเหล็กขนาดใหญ่ ไปสู่การเป็นพื้นที่ของนักออกแบบงานฝีมือนั้น ทำให้อาคารต้องถูกปรับปรุงทั้งในเรื่องโครงสร้าง งานระบบ และสุนทรียภาพ อาทิ การปรับปรุงเชิงโครงสร้างหลักในส่วนการเสริมความแข็งแรงของโครงอาคารและหลังคา การปรับเปลี่ยนวัสดุมุงและผนังอาคารเบา การปรับปรุงที่เน้นการใช้แสงสว่างจากหลังคาโปร่งแสง เพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ การระบายอากาศจากช่องเปิดไปจนถึงทิศทางท่อระบายลม และในส่วนที่สำคัญที่สุดที่สร้างบรรยากาศเฉพาะตัวให้กับพื้นที่นี้ คือ การสร้างสุนทรียภาพเชิงสถาปัตยกรรมที่มีจุดเด่น คือ การเล่าเรื่องภูมิหลังของอาคารนี้ผ่านการเปลือยโครงสร้างและผนังบางส่วน เพื่อการสะท้อนความหลากหลายของวัสดุอาคารสะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยของอาคารนี้ที่ปะปนกันอยู่
ผู้เขียนสนใจการใช้องค์ประทางสถาปัตยกรรมในงานปรับปรุงอาคาร ล้อเลียนไปกับองค์ประกอบโรงน้ำแข็งเก่า ทำให้เกิดพื้นที่ภายในโกดังที่มีคุณภาพและความน่าสนใจแตกต่างกันไป อาทิ แท่นคอนกรีตวางเครื่องทำน้ำแข็งเก่า 6 แท่นที่ถูกแปลงให้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อน ซึ่งไม่มีการกำหนดรูปแบบของการนั่งตายตัว ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ตามพฤติกรรมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการนอน การแชร์พื้นที่นั่งร่วม รวมถึงการขึ้นไปนั่งขัดสมาธิเพื่อทำเป็นพื้นที่ทำงานส่วนตัว เป็นต้น
สุนทรียภาพของการใช้พื้นที่ในอาคาร วีฟเน้นการออกแบบพื้นที่ด้วยการจัดวาง (installation) องค์ประกอบต่างๆ ที่น่าสนใจทั้งการนำเอาต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์เก่า โครงเหล็ก และผ้า มากำหนดตำแหน่งและระยะของการใช้กิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่โถงอาคาร ทำให้เกิดคุณลักษณะของการใช้งานที่ไม่ตายตัว และมีที่ว่างที่เชื่อมต่อกัน (flow of space) เกิดขึ้นภายในพื้นที่โถงอาคารนี้ ตามความตั้งใจที่จะให้พื้นที่นี้เป็นการแชร์พื้นที่ระหว่างผู้ประกอบการงานฝีมือที่ถูกใช้งานอย่างลื่นไหลและยืดหยุ่น ประกอบกับสเกลของโรงน้ำแข็งที่กว้างขวางทำให้เกิดความเป็นสาธารณะที่สะท้อนแนวคิดที่ว่างสำหรับทุกคน (inclusive space) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ของนักออกแบบนั้นจำเป็นจะต้องถูกสร้างผ่านแนวคิดการออกแบบร่วม (collaborative design) ซึ่งปรากฏอย่างเด่นชัดจากความร่วมมือกันระหว่างทีมวีฟและผู้ออกแบบงานฝีมือ จนทำให้เกิดพื้นที่ของชุมชนนักออกแบบงานฝีมือ พื้นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว พื้นที่พบปะของวัยรุ่น และพื้นที่เมืองสร้างสรรค์ของคนเชียงใหม่ ปัจจุบันทีมวีฟใช้พื้นที่ชั้นลอยของโครงการเป็นสำนักงานหลัก โดยทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันชุมชนนักออกแบบงานฝีมือ และไม่หยุดที่จะพัฒนาพื้นที่โครงการนี้อยู่เสมอ