ROUNDTABLE TALK: Let’s Talk about Spiritual Space

Talk / 17 ก.ย. 2019

เรื่อง : ASA CREW Team
ภาพ : ชนิภา เต็มพร้อม

วงสนทนาว่าด้วยการสร้างศาสนสถานของทั้งสองศาสนา

การออกแบบหรือก่อสร้างอาคารทางศาสนาอาจจะเป็นความฝันหรือปณิธานของศาสนิกในแต่ละศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ASA CREW มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และพระมาร์ค ชาควโร อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาปนิกผู้ผันตัวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของพุทธศาสนา โดยมีหัวข้อหลักคือ การพูดถึงข้อกำหนดหรือหลักคำสอนของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามที่พูดถึงเรื่องการสร้างศาสนสถานของทั้งสองศาสนา

ศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี

ASA CREW: เราเริ่มต้นคุยกันเรื่องของศาสนาอิสลามก่อน อยากจะทราบว่าศาสนาอิสลามมีข้อกำหนดอะไรที่เป็นเงื่อนไขในการเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้ามาเป็นศาสนิกชนหรือเปล่า
ดร.อาดิศร์: มุสลิมหมายถึงผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สิ่งสำคัญคือต้องมีความศรัทธาในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวคือพระองค์อัลลอฮฺ มุสลิมจะปฏิบัติตามหลักคำสอนและทำความดีเพื่อหวังความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า

ASA CREW: เด็กคนหนึ่งเวลาจะเข้ามาเป็นศาสนิกชนมีพิธีอะไรที่กำหนดว่านับแต่นี้ไปเขาได้เป็นมุสลิมแล้ว
ดร.อาดิศร์: การจะเป็นมุสลิมต้องเริ่มจากการศรัทธาและกล่าวคำปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮฺและท่านนบีมุฮัมมัดเป็นรอซูลของพระองค์ เพียงแค่กล่าวคำปฏิญาณนี้ก็ถือว่าเป็นมุสลิม นอกจากนั้นจะมีข้อปฏิบัติ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีฮัจญ์ นี่คือหลักๆ ที่ต้องปฏิบัติ นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องการทำความดีตามที่บันทึกในคัมภีร์อัลกุรอานและการทำความดีตามแบบอย่างของศาสดา ซึ่งเป็นเรื่องของการปลูกฝังในครอบครัวและชุมชน เด็กที่เกิดในครอบครัวมุสลิมจะเห็นพ่อแม่ละหมาดทุกวัน เด็กก็จะซึมซับจากตรงนี้ เพียงแต่ว่าพอถึงช่วงอายุ 10 ขวบ ก็จะต้องเริ่มเข้มงวดว่าต้องละหมาดให้เรียบร้อยและตรงเวลา เพราะเป็นการแสดงความภักดีกับพระเจ้าโดยตรง

บรรยากาศในวัดนาป่าพง

ASA CREW: แล้วเรื่องของการเรียนคัมภีร์ มีข้อกำหนดเรื่องอายุหรือเปล่า
ดร.อาดิศร์: โดยปกติก็จะเรียนควบคู่ไปกับการเรียนวิชาสามัญปกติในโรงเรียน เพราะศาสนาอิสลามเราไม่มีนักบวช ฉะนั้นทุกคนจำเป็นต้องรู้เรื่องศาสนาเพื่อที่จะปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อก่อนในบ้านเรานั้นศึกษาศาสนาจากคัมภีร์ที่เป็นภาษาอาหรับทำให้มีคนเข้าใจน้อย ทำให้ต้องมีผู้รู้ศาสนาที่มีความรู้ด้านภาษาเป็นผู้อธิบายอีกต่อหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้จุฬาราชมนตรีทำการแปลคัมภีร์เป็นภาษาไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยเพราะทำให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น

ASA CREW: ในเรื่องการจัดสรรพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม คัมภีร์อัลกุรอานมีข้อกำหนดหรือบัญญัติเกี่ยวกับศาสนสถานไว้บ้างหรือเปล่า
ดร.อาดิศร์: ในคัมภีร์แทบจะไม่ได้กำหนดรูปแบบอะไรของศาสนสถานเอาไว้ เพียงแค่บอกหลักการเอาไว้ว่าในเวลาที่ละหมาดต้องหันหน้าไปทางทิศกิบลัตซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารกะอฺบะฮฺในมัสยิดอัลฮะรอมในนครมักกะฮฺครับ และในการสร้างมัสยิดเราจะระลึกเสมอว่าเรากำลังจะสร้างบ้านของพระเจ้า เพื่อที่มุสลิมจะได้แสดงความภักดีต่อพระเจ้า ทุกชุมชนก็พยายามจะสร้างมัสยิดในแบบที่ดีที่สุดตามที่ศักยภาพของชุมชนนั้นๆจะสามารถทำได้แต่จะระมัดระวังไม่ให้สร้างหรูหราฟุ่มเฟือยจนเกินจำเป็น ซึ่งถ้าย้อนกลับมาในอดีตของบ้านเรา มัสยิดตามชุมชนก็จะสร้างตามรูปแบบเรือนไม้ของแต่ละพื้นที่ เพียงแต่ว่าอาจจะใหญ่กว่าเรือนทั่วๆไป หรืออาจจะมีการใช้ลวดลายฉลุไม้เป็นส่วนตกแต่งมากหน่อย เพื่อแสดงออกว่านี่คืออาคารที่ที่พิเศษกว่าอาคารอื่นๆ ในสมัยต่อมา บางชุมชนที่มีขุนนางที่เป็นชาวมุสลิมอาศัยอยู่ ก็จะสร้างมัสยิดตามรูปแบบที่คิดว่าที่ดีที่สุดในยุคนั้น ซึ่งอาคารที่ดีที่สุดในบ้านเราในสมัยนั้นก็คืออาคารสถาปัตยกรรมประเภทวัดและวัง มัสยิดในสมัยนั้นก็เลยอาจจะได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากสถาปัตยกรรมไทย ยกตัวอย่างเช่น มัสยิดต้นสนหลังเดิม หรือมัสยิดบางหลวง ต่อมาเมื่อเริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น มัสยิดก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรปมากขึ้น แต่ก็มีลักษณะบางอย่างให้รู้ว่าอาคารหลังนั้นเป็นแบบอิสลาม ยกตัวอย่างเช่น มัสยิดบางอ้อ ซึ่งเป็นตึกยุโรปแต่มีโดมแบบอิสลาม จากนั้นก็มีพัฒนาการทางด้านรูปแบบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันที่มีสถาปนิกจบตามระบบการศึกษาในแบบสากล ก็มีการศึกษารูปแบบที่ตีความจากหลักคำสอนมากขึ้น ไม่ว่าจะสร้างในรูปแบบใด แนวทางในการสร้างมัสยิดส่วนใหญ่มีที่มาจากการสร้างตามแบบอย่างของท่านศาสดา สิ่งสำคัญประการแรกคือมัสยิดที่ท่านสร้างนั้นหันไปยังทิศกิบลัตตามคำสั่งของพระเจ้า มัสยิดที่สร้างในเวลาต่อมาจึงหันไปทิศกิบลัตเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว อย่างที่สองคือพื้นที่ภายในมัสยิดจะต้องมีความสะอาด สงบ และแสดงถึงความเท่าเทียมกันคือทุกคนเสมอกันภายใต้ความเมตตาของพระเจ้า อย่างที่สามคือตัวอาคารตอบสนองภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวัสดุท้องถิ่น และไม่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ทำให้มัสยิดในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่เป็นเหมือนแนวทางปฏิบัติเสียมากกว่า

พระมาร์ค ชาควโร

ASA CREW: ทางฝั่งของศาสนาพุทธ ในพระไตรปิฎกมีข้อกำหนดอะไรเกี่ยวกับการสร้างวัดหรือศาสนสถานเอาไว้บ้างหรือเปล่า
พระมาร์ค: คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ธรรมและวินัย ในส่วนของวินัยก็คือข้อปฏิบัติของภิกขุ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อความตั้งมั่นของพระสัทธรรม การอยู่อาศัยของภิกขุก็จะมีบัญญัติเอาไว้ เช่น การสร้างกุฏิสงฆ์ ถ้าไม่ได้มีผู้แสดงความประสงค์ว่าจะสร้างให้ แต่ภิกขุนั้นเป็นผู้ที่ไปขอฆราวาสให้สร้างเพื่อตัวเอง ก็จะสร้างได้กว้างไม่เกิน 7 คืบพระสุคต ยาวไม่เกิน 12 คืบพระสุคต (สาวกรุ่นหลังจะสรุปว่า 1 คืบพระสุคตเท่ากับ 25 ซม.) จะต้องสร้างบนที่ดินที่ไม่มีเจ้าของและต้องมีชานรอบ หากไม่ทำตามพระวินัยบัญญัตินี้ก็จะถูกปรับอาบัติ แต่ถ้ามีผู้มาแสดงเจตนาว่าจะสร้างให้ ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดบังคับ ทรงอนุญาตให้สร้างได้ตามความเหมาะสมของข้อธรรมและวินัย ในกรณีที่สงฆ์หลายรูปมาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะเรียกว่ามีอาวาสเดียวกัน ก็มีกิจของสงฆ์ที่จะต้องทำพร้อมกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดขอบเขตของอาวาสขึ้นเรียกว่าเขตสีมา โดยกำหนดขอบเขตด้วยเครื่องหมาย 8 อย่างคือ ภูเขา แผ่นหิน ป่าไม้ ต้นไม้ หนทาง จอมปลวก แอ่งน้ำ แม่น้ำ และทรงอนุญาตเขตสีมาไม่เกิน 3 โยชน์ (1 โยชน์เท่ากับ 16,000 เมตร) บัญญัติเรื่องสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เช่น กุฏิ ทางจงกรม วิหาร ห้องน้ำ ก็จะเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ไม่ได้ทรงบัญญัติในเรื่องของรูปแบบ หรือรูปร่างหน้าตาเท่าไหร่ แต่จะเน้นไปที่ข้อปฏิบัติตัวของภิกขุเมื่อเกี่ยวข้องสถานที่หรือกิจกรรมนั้นๆ

ASA CREW

ASA CREW: ในมุมของศาสนาอิสลาม องค์ประกอบที่รวมกันเป็นมัสยิดมีอะไรบ้าง
ดร.อาดิศร์: ท่านศาสดากล่าวไว้ว่า “พื้นดินทั้งหมดเป็นที่ที่สามารถทำการละหมาดได้” ซึ่งต้องเป็นพื้นที่สะอาดและไม่อยู่ในข้อห้าม แต่มุสลิมอยากจะมาละหมาดที่มัสยิด เพราะมีข้อบัญญัติว่าทุกก้าวที่เดินทางไปละหมาดที่มัสยิดนั้นนับเป็นผลบุญทั้งสิ้น ตัวมัสยิดจึงเป็นเหมือนที่หมายของคนในชุมชนมุสลิม มัสยิดจึงรองรับกิจกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การทำบุญให้กับเด็กที่เกิดใหม่ การทำพิธีศพ การแต่งงาน และการจัดกิจกรรมชุมชนอย่างการพบปะพูดคุย การสอนอ่านพระคัมภีร์ หรือแม้กระทั่งเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของเด็กๆในชุมชน และเมื่อถึงเวลาละหมาดก็จะมีการอะซานหรือประกาศให้ทุกคนมาละหมาดพร้อมกัน ทุกกิจกรรมจะหยุดทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันละหมาด การอะซานนี้เดิมก็จะให้คนปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านที่สูงที่สุดเพื่อให้ได้ยินไปทั่ว ซึ่งภายหลังก็มีการพัฒนาเป็นการสร้างหออะซานเพื่อให้สามารถอะซานได้ไกลขึ้นแล้วก็เป็นจุดสังเกตว่าที่ไหนมีหออะซานก็แปลว่ามีชุมชนมุสลิมอยู่ ฟังก์ชันอื่นอย่างเช่นแท่นมินบัรนั้นเกิดจากการที่ต้องการให้คนเห็นและได้ยินผู้พูดได้ชัดเจนขึ้น จึงทำแท่นให้สูงขึ้น หรือองค์ประกอบอย่างซุ้มมิห์รอบก็เกิดจากการที่บางครั้งชาวมุสลิมที่ไม่เคยเข้ามัสยิดนั้นๆ มาก่อนอาจจะงงว่าทิศทางไหนคือทิศทางที่ต้องหันไปเพื่อละหมาด ก็มีการสร้างซุ้มที่ประดับด้วยลวดลายหรือการใช้อักษรประดิษฐ์จากข้อความในคัมภีร์หรือพระนามของพระเจ้าพระศาสดาเพื่อให้ศาสนิกรู้ว่าทิศทางนี้คือทิศทางที่ต้องหันไปขณะละหมาด ก็จะเห็นว่าองค์ประกอบแต่ละอย่างนั้นเกิดจากการใช้งานหรือฟังก์ชันแทบจะทั้งหมด

ASA CREW: ในศาสนาอิสลามจะไม่สร้างรูปเหมือนหรือรูปเคารพของพระเจ้า แล้วชาวมุสลิมใช้สัญลักษณ์หรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมอะไรที่มีความหมายแทนพระเจ้าบ้างหรือเปล่า
ดร.อาดิศร์: ไม่มีเลยครับเพราะถือเป็นข้อห้ามที่จะทำอะไรเทียบเคียงหรือเสมอพระเจ้า เราจะไม่ใช้สัญลักษณ์แทนพระองค์แต่จะใช้สัญลักษณ์หรือลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ทำให้ระลึกถึงพระองค์มากขึ้นอย่างเช่นอักษรประดิษฐ์ที่เขียนพระนามของพระเจ้าหรือข้อความจากคัมภีร์ หรือการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ที่มีการตีความสรวงสวรรค์ตามคัมภีร์อัลกุรอานแล้วนำมาเป็นแนวทางการวางผังที่สื่อถึงสวนในสวรรค์ แต่ตรงนี้ยังไม่ค่อยพบในบ้านเราสักเท่าไหร่

ASA CREW

ASA CREW: ศาสนาอิสลามจะมีลักษณะของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแต่ศาสนาพุทธจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องของการปฏิบัติของแต่ละบุคคล อะไรคือความสมดุลของการปลีกวิเวกเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อปฏิบัติธรรม กับการสอนธรรมะให้ชาวบ้านในชุมชนในมุมของพุทธศาสนา
พระมาร์ค: ความเกี่ยวข้องกันระหว่างนักบวชกับคฤหัสถ์ทรงตรัสไว้ว่า คฤหัสถ์บำรุงนักบวชด้วยปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนนักบวชพึงอุปการะคฤหัสถ์ด้วยการแสดงธรรมของพระศาสดา ต่างคนต่างอาศัยกันและกันในการถอนกิเลส เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ การมาวัดของพุทธบริษัทคือการมาถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มาได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เมื่อฟังธรรมไปแล้วก็หลีกไปปฏิบัติด้วยการนั่งสลับเดิน เพื่อเพ่งพิสูจน์ข้อธรรม และทำความเข้าใจกับสัจธรรมที่ทรงสอนเกี่ยวกับการทำงานของจิต เหล่านี้เป็นการทำความเพียรเผากิเลส เพื่อให้หลุดออกจากระบบของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเรียกว่าเป็นอนุศาสนีปาฏิหารย์ คือปาฏิหาริย์ของคำสอนที่ทำให้ปุถุชนพัฒนาเป็นอริยบุคคลได้ จริงๆแล้วการทำความความเพียรนี้สามารถปฏิบัติที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ จะยืน เดิน นั่ง นอน หากมีความคิดที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นก็ให้ละทิ้งเสีย กลับมาระลึกรู้อยู่ที่กายของตนเอง หากแต่ว่าถ้าเราได้มาที่วัดนั้น เป็นการสละเวลาจากการใช้ชีวิตปรกติที่วุ่นวายอยู่กับโลกธรรม แล้วแบ่งเวลามาแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐกว่า

อาคารไม้กลางน้ำที่วัดนาป่าพง

ASA CREW: แล้วอย่างที่วัดนาป่าพงนี่การอยู่อาศัยหรือการปฏิบัติของพระเป็นอย่างไร
พระมาร์ค: การใช้ชีวิตก็จะเป็นไปตามธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติให้มีความมักน้อยสันโดษ อย่างเช่นจีวร พระสงฆ์ที่นี่ก็ต้องย้อมเองตามพระวินัยที่กำหนดว่าภิกขุได้จีวรมาใหม่พึงถือเอาวัตถุสำหรับทำให้เสียสี 3 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือของเขียวครามก็ได้ ตมก็ได้ หรือของดำคล้ำก็ได้ และจีวรจะย้อมด้วยน้ำฝาด ที่นี่ก็จะใช้น้ำย้อมที่ได้จากเปลือกมังคุดกับแก่นขนุน ดังนั้นวัดจึงจะต้องมีพื้นที่สำหรับซักผ้า ย้อมผ้า และตากจีวรที่ย้อมแล้ว ส่วนกิจข้อวัตรของภิกขุก็มีทั้งกิจส่วนรวม กิจส่วนตัว มีการดูแลเสนาสนะของวัด มุ่งเน้นการภาวนาเป็นหลัก การใช้สอยเสนาสนะก็เป็นไปตามที่ทรงบัญญัติว่า ให้ใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อบำบัดความร้อนความหนาว เหลือบ ยุง ลมแดด ภัยอันตรายจากดินฟ้าอากาศ เพื่อความยินดีในการหลีกเร้น เพราะฉะนั้นสิ่งก่อสร้างจะเป็นไปอย่างไรก็ได้ให้สอดคล้องกับคำสอน อย่างตอนน้ำท่วมปี 2554 วัดก็ได้รับผลกระทบพอสมควร ทำให้การพิจารณาจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงอันตรายจากน้ำท่วมด้วย

พระมาร์ค ชาควโร

ASA CREW: การสวดมนต์หรือการทำวัตรของพระสงฆ์มีข้อกำหนดอะไรบ้าง
พระมาร์ค: เรื่องของการสวดมนต์พระพุทธเจ้าจะไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว แต่ทรงตรัสไว้ว่าการสาธยายธรรมของพระองค์นั้นเป็น 1 ใน 5 หนทางที่จะทำให้ถึงการหลุดพ้นได้ ส่วนภิกขุก็จะมีวินัยบัญญัติเรื่องการสวดปาฏิโมกข์(การสวดทบทวนศีลอันเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์) ซึ่งเป็นข้อบังคับของสงฆ์ที่จะต้องสวดทุกกึ่งเดือนหากอยู่กันตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป การกำหนดพื้นที่ในการสวดปาฏิโมกข์ในอาวาสนั้นก็จะค่อนข้างยืดหยุ่นมากพอสมควร

ASA CREW: แล้วทางฝั่งศาสนาอิสลาม หน่วยเล็กที่สุดของพื้นที่สำหรับละหมาดควรจะมีขนาดพื้นที่เท่าไหร่
ดร.อาดิศร์: ท่านศาสดาบอกว่าพื้นที่ทั้งหมดถ้าเป็นที่สะอาดก็ถือว่าสามารถทำละหมาดได้ พื้นที่เล็กที่สุดของการละหมาดก็จะอยู่ที่ประมาณ กว้าง 0.5-0.6 ม. ยาว 1.20 ม. หรือก็คือ พื้นที่ที่พอจะให้คนหนึ่งคนก้มลงกับพื้นได้เท่านั้นเอง แค่ต้องระวังด้านหน้าไม่ให้มีอะไรรบกวน อย่างในสังคมปัจจุบันที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านอย่างเช่นตามออฟฟิศต่างๆ ก็คือ ใช้แค่พื้นที่ข้างโต๊ะทำงานที่สะอาดและสงบ ปูผ้าก็ใช้ได้แล้ว ในสถานที่สาธารณะบางแห่ง เช่น สนามบิน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าเขาก็มีการสร้างห้องละหมาดเตรียมเอาไว้ให้ด้วย แต่เราก็มีข้อยกเว้นนะครับอย่างเช่นคนที่เดินทางไกลก็จะได้รับการผ่อนผันให้สมารถย่อรวมการละหมาดให้สั้นลงได้

ศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี

ASA CREW: แล้วในสถาปัตยกรรมอิสลามร่วมสมัยที่อยู่ในเมืองซึ่งพื้นที่ค่อนข้างที่จะหนาแน่น หน่วยเล็กที่สุดของการออกแบบมัสยิดควรจะเป็นอย่างไร หรือในแง่ของการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางชุมชนปัจจุบันนี้มีวิธีการในการจัดการพื้นที่อย่างไร
ดร.อาดิศร์: หน่วยเล็กที่สุดสำหรับการละหมาดก็คือพื้นที่สำหรับคน 1 คนก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าไปยังทิศกิบลัต แต่เมื่อมาละหมาดรวมกัน จะมีอิหม่ามหรือผู้นำยืนอยู่หน้าสุด และมีผู้ตามเข้าแถวละหมาดตามหลังอิหม่าม ถ้าแถวเต็มก็จะขึ้นแถวใหม่ต่อไปทางด้านหลัง มีการแยกชายหญิงเป็นสัดส่วน หลักการออกแบบก็ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเหล่านี้ด้วย ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการเป็นศูนย์กลางชุมชนก็อาจจะไม่ได้ดูแค่พื้นที่ละหมาดอย่างเดียวแต่ต้องดูการใช้สอยของแต่ละชุมชนด้วย เช่นบางที่ใช้เป็นพื้นที่สอนหนังสือก็ต้องดูว่าขนาดที่เหมาะสมสำหรับที่จะให้นั่งล้อมวงกันเพื่ออ่านหนังสือได้เป็นอย่างไร หรือบางที่เป็นที่สอนวิชาชีพก็ต้องคำนึงถึงว่าจะต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่สำหรับกิจกรรมประกอบวิชาชีพแบบไหน ในปัจจุบันแม้จะแยกฟังก์ชันต่างๆออกจากโถงละหมาดมากขึ้น แต่มัสยิดก็ยังเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆในชุมชนเข้าด้วยกัน การวางผังมัสยิดจึงมักมีความสัมพันธ์กับผังชุมชนและเชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญในชุมชน เช่น สุสาน อาคารเรียน ห้องสมุด และห้องประชุม การขยายต่อเติมมัสยิดโดยทั่วไปมักมีการประชุมกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งในบางครั้งอาจจะมีการจัดระเบียบพื้นที่ในชุมชนและมีการสละพื้นที่ส่วนตัวเพื่อให้สร้างมัสยิดได้กว้างขวางรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

ทีนี้พูดถึงเรื่องตัวสเปซข้างในก็จะรู้สึกว่าถ้าไม่มีข้อจำกัดอย่างนี้แล้วจะออกแบบอย่างไร แต่ว่าอย่างที่บอกว่าในปัจจุบันที่มีการศึกษาวิชาชีพสถาปัตยกรรมแบบเต็มหลักสูตรมากขึ้นก็มีสถาปนิกมุสลิมรุ่นใหม่ๆ ที่มีการศึกษาหลักคำสอนมาตีความเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่นการคิดว่ารูปทรงเรขาคณิตที่ถูกนำมาใช้ในสถาปัตยกรรมมุสลิมนั้นมีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนมนุษย์อย่างไร มีผลต่อความรู้สึกอย่างไรหรือสัมพันธ์กับผังชุมชนอย่างไร แล้วก็ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดความภักดีต่อพระเจ้า ตรงส่วนนี้ก็เช่นการนำแสงมาใช้ในอาคารเพื่อให้เกิดสภาวะที่สงบและพร้อมปฏิบัติศาสนกิจหรือการนำองค์ประกอบต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดสภาวะน่าสบายในมัสยิดเพื่อตอบสนองต่อการอยู่อาศัยในพื้นที่เขตร้อน

ศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี

ASA CREW: จากมุมมองของศาสนาพุทธ ความเงียบมีความจำเป็นแค่ไหนในการปฏิบัติธรรม
พระมาร์ค: พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีความยินดีในการวิเวกหลีกเร้น การไม่คลุกคลี ซึ่งการจะได้สมาธิจะต้องดับอกุศลเสียก่อน หากเราอยู่ในที่ที่มีเสียงหรือมีสิ่งรบกวนเยอะอาจจะทำให้เราได้สมาธิยาก เราจะคิดตลอดเวลา แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เราทิ้งความคิด แล้วมาทำจิตให้สงบ ความเงียบจะช่วยลดผัสสะภายนอกลง เกื้อกูลต่อการพิจารณาในภายในให้เห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของอารมณ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นสัจจะว่า สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นเรานั้น ล้วนมีความไม่เที่ยง มีความแตกสลาย มีความเป็นตัวตนชั่วคราว และจะเกิดปัญญาเห็นตามเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

ASA CREW: ในมุมของศาสนาอิสลาม ความเงียบถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นของศาสนสถานหรือเปล่า
ดร.อาดิศร์: จริงๆแล้วในการละหมาดต้องการสมาธิ ถ้าพื้นที่มัสยิดเงียบสงบก็จะทำให้ประกอบศาสนกิจได้ดีขึ้น การออกแบบมัสยิดต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ในชีวิตประจำวันเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งรบกวนอยู่ทั่วไป เช่นเสียงรถยนต์ เสียงที่เกิดจากการใช้ชีวิตของผู้คน หรืออะไรต่างๆ เราต้องพยายามเลือกสถานที่ที่ห่างไกลสิ่งรบกวนและป้องกันให้ดีที่สุด ยอมรับและทำให้ดีที่สุดจากเงื่อนไขที่มีอยู่

ASA CREW
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ทีมงาน ASA CREW ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักและเตรียมตัวสำหรับงานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” โดยทีมงานได้ทำการพูดคุยสั้น ๆ กับ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานจัดงานในปีนี้ เกี่ยวกับเนื้อหางาน…

    โดย ASACREW
  • Talk

    ASA EXPO 2020 นิทรรศการเครือข่ายมรดก การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าต้องมาจากการมีส่วนร่วม

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: เครดิตตามภาพ เรื่องของการจัดการคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม ที่มีงานสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งนั้น ไม่ได้มีเพียงสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังมีอีกหลายหลายของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมรดกที่มาจากควา…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี 

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: Faiz Phongprasert, Charif Phorhet, Overlay และ Bossakorn Buena จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน มลายูลิฟวิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กรร…

    โดย ASACREW