เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม
เมื่อไม่นานมานี้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมในสมัยหน้าเสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้ที่ได้รับเลือกจากการลงคะแนนของสมาชิกสมาคมก็คือ “พี่โอ๋” หรือคุณชนะ สัมพลัง ผู้บริหารจากบริษัทสถาปนิก49 (A49) ทีมงาน ASA CREW จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับคุณชนะสั้นๆ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานและเป้าหมายในการบริหารงานสมาคมฯ ของคุณชนะ
ASA CREW: ความรู้สึกหลังได้รับเลือกตั้งเป็นอย่างไรบ้างครับ
คุณชนะ: อย่างแรกเลยคือตกใจ ในตอนแรกเราก็คิดว่ามั่นใจเพราะเราไปทางเด็กรุ่นใหม่ แต่พอดูแล้วน้อง ๆ ไม่ค่อยสมัครเป็นสมาชิกสมาคม ไม่ค่อยมีวัยรุ่นที่เป็นฐานเสียงของผมเลย คือคิดไว้ว่าอาจจะแพ้ พอมันกลับมาคะแนนนำก็เลยรู้สึกสงสัยเหมือนกันว่าใครกันที่เลือก ความรู้สึกมันเลยปนกันแปลก ๆ ครับ
ASA CREW: พูดถึงการวางแผนระยะสั้น ระยะยาวในช่วงที่เป็นนายกที่คิดว่าจะทำมีอะไรบ้างครับ
คุณชนะ: บังเอิญว่า 4 ข้อหลักที่ผมตั้งใจทำแต่แรก มันน่าจะใช้เวลาไม่นานก็จบ แต่หลายข้อมันจะทำครั้งเดียวไม่ได้ และครั้งแรกมันอาจจะไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรเลย แล้วมันคงต้องส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ทำต่อ อย่างเช่น อันที่ผมคิดว่าเราอยากให้สถาปนิก หรือคนที่เรียนจบในสาขาสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่นักออกแบบเขามีพื้นที่ หรือทำให้เขารู้สึกว่าหน้าที่ของเขาก็สำคัญ อันนี้มันทำครั้งเดียวไม่ได้ ทำโดยสมาคมฯ เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันอาจจะต้องได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยด้วย คือถ้าคณะเองให้ความสำคัญกับมัน สมาคมฯ ก็ให้ความสำคัญ ทุกๆ คนในวิชาชีพเห็นความสำคัญของเขา มันก็จะทำให้ความภูมิใจของคนที่อยู่ตรงนั้นมีมากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมว่าไม่ใช่ปีสองปีแล้วจบ หรือว่าครั้งเดียวแล้วจบ อันนี้น่าจะเป็นระยะยาว แต่เชื่อว่าถ้าทำครั้งแรกแล้วมันได้รับผลตอบรับที่ดี เดี๋ยวนายกท่านอื่น ๆ เขาก็ทำตาม
ASA CREW: กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางสมาคมฯ เคยจัดมาจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอย่างไรบ้างครับ
คุณชนะ: กิจกรรมเดิม ๆ ที่เราทำกันมามันดีอยู่แล้ว ความหมายของการที่จะทำให้มันแพร่หลายมากขึ้นหรือทำให้ดีขึ้นนี้ ไม่ได้แปลว่าของเก่ามันแย่ เพียงแค่ผมมีความรู้สึกว่าเราทำซ้ำ ๆ กันมานานแล้ว มันควรจะมีการพัฒนา ทีนี้พัฒนาการของมันจะสนับสนุนตัวเราในด้านใดบ้าง เราพูดถึง generation อย่างหนึ่งแล้ว เราอาจจะต้องพูดถึงเชิงวิชาการอย่างหนึ่ง เราอาจจะต้องพูดถึงเมืองที่มันเปลี่ยนไป อาชีพที่มันเปลี่ยนไป ความพร้อมของสถาปนิกก็เปลี่ยนไปด้วย โลกมันกว้างขึ้น ทุก ๆ อย่างมันควรจะต้องหันไปตอบตรงจุดนั้น ตอนนี้เราจะสร้างกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ มันควรจะต้องตอบบริบทของวันนี้ แล้วก็ทำให้มันดีขึ้นไปอีก ถ้าเราพูดถึง ASA ไม่ว่าจะเป็นงาน ASA Expo หรือรางวัลต่าง ๆ ที่สมาคมฯ มอบให้ ผมคิดว่ามันควรมีโครงสร้างของมันว่าจุดประสงค์ของมันคืออะไร ที่ผ่านมาจุดประสงค์ของมันไม่ค่อยจะชัดเจนว่าเราให้รางวัลเพื่ออะไร ให้เพื่อคัดเลือกงานที่ดีที่สุด หรือว่าจริง ๆ แล้วเราให้รางวัลเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศ หรือเราให้รางวัลเพื่อสร้างมาตรฐาน หรือเป็นการกระตุ้นให้คนผลิตงานดี ๆ ออกมา
ASA CREW: มีแนวทางอย่างไรที่จะให้คนทั่วไปเข้าใจในสมาคมฯ หรืออาชีพสถาปนิกมากขึ้นครับ
คุณชนะ: อันนี้ยากและเป็นอะไรที่ต้องทำเป็นระยะยาวมาก คนก็ยังไม่เข้าใจ อย่าว่าแต่คนอื่นเลย แม่ผมก็ยังไม่เข้าใจ ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไร มันเป็นอะไรที่ต้องค่อย ๆ คิดแล้วทำแบบไม่จงใจทำ ไม่ได้ hard sale ให้เขารู้ แต่คราวนี้มันคงต้องทำแล้วให้เขาเห็นถึงความสำคัญ จริง ๆ แล้วความสำคัญของพวกเรามันถูกมันแสดงได้โดยวิธีใดบ้าง ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมาวิเคราะห์ อันนี้เป็นเหมือนเชิงการตลาดให้กับสมาชิกเลย คือถ้าคนรู้สึกว่าสำคัญ แสดงว่าเราจะต้องสื่อสารออกไปว่าอาคารหลังนั้นมันส่งผลกระทบอะไรบ้างกับคน ซึ่งสุดท้ายเราอาจจะไม่ได้ชูแค่ว่า คนนี้ได้รางวัลเหรียญทอง หรือเหรียญเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันอาจจะต้องไปในเชิงอื่นด้วย ถามว่าการรับรู้ของคนในประเทศไทยต่อสถาปนิกแย่ขนาดที่เรากลัวไหม ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ได้แย่ขนาดนั้น คนส่วนใหญ่ก็รู้ แต่คนที่เขาไม่ได้เข้าถึงตรงนี้เขายังไม่รู้ แต่ก็จะพยายามช่วยให้ข้อมูลให้เขาได้รับรู้ เราอาจจะต้องช่วยกัน อันนี้อาจจะไม่ใช่สมาคมฯ เป็นคนทำเพียงอย่างเดียว
ASA CREW: สมาคมฯ จะสามารถสนับสนุนสถาปนิกตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นใหญ่อย่างไรบ้างครับ
คุณชนะ: มิติแรกผมว่าเป็นเรื่องของการที่เราตอบคำถามแรกที่เราได้พูดไปว่า การที่น้อง ๆ ไม่สนใจสมาคมฯ เลย เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์กับเขาหรือเปล่า เพราะถ้ามันมีประโยชน์เขาคงอยากเป็นสมาชิก คตินี้คือใจความสำคัญของการสร้างประโยชน์ให้สมาชิกเลยเพราะผมเคยได้พูดไปตอนให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง บอกว่าจริง ๆ ถ้าสมาคมฯ มีแหล่งข้อมูลให้เขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุ กฎหมาย หรือการให้คำปรึกษาต่อสิ่งที่เขาคับข้องใจ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่
เขาก็จะวิ่งมาหาสมาคมฯ ทันที แล้วสมาคมฯ จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าหากมีองค์กรเข้ามาช่วยตรงจุดนี้ มีคนให้ความรู้ ไม่ใช่เป็นแค่การจัดอบรมแบบกว้าง ๆ รวม ๆ แต่เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะบุคคล ผมเชื่อว่าสมาคมฯ จะมีคนมาต่อคิว และมาขอความช่วยเหลือเลย ซึ่งถ้ามันเป็นแบบนั้นได้คนก็จะอยากมา คือเราไม่จำเป็นต้องบังคับเขา แต่เป็นการทำให้คนอยากเข้าหาสมาคมฯ เอง แล้วมันก็จะทำให้สมาชิกรู้สึกว่าสมาคมฯ กำลังตอบความต้องการเขา อย่างที่ผมบอกคือเรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องปัญหาของแต่ละบุคคล เป็นปัญหาที่สถาปนิกคนนี้เจออยู่คนเดียวเนื่องจากแต่ละคนประสบการณ์ไม่เหมือนกัน หากสมาคมฯ นำความรู้ของสมาชิกทุก ๆ คน สื่อสารไปถึงคนอื่น ๆ ได้ บางคนเขาทำงานไทยประเพณี เขาไม่รู้ว่าวิธีการฉาบปูนในอาคารที่มันเป็นอาคารโบราณมันควรจะทำอย่างไร ถ้าถามผมผมก็ไม่สามารถตอบได้ แต่หากถามสมาคมฯ ก็อาจจะสามารถค้นหาคนที่รู้วิธีผสมปูนฉาบแบบไทยได้ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องดี
ASA CREW: ยกตัวอย่างองค์ความรู้ที่สมาคมฯ จะส่งต่อให้สมาชิกหน่อยครับ
คุณชนะ: ด้านนี้จะเป็นด้านที่ผมโดนน้อง ๆ เพื่อน ๆ ถามเสมอ ผมเลยคิดว่าขนาดคนที่มาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงเขายังถามเราเลย เรื่องที่เขาถามก็น่าจะกลายเป็นประเด็นที่เราจะบอกต่อผู้อื่น เหมือนเล่าให้เขาฟังต่อได้ เรื่องหลัก ๆ จะมีเรื่องของ proposal อันที่จริงสมาคมฯ ก็มี proposal ให้อ่านอยู่บนเว็บไซต์ แต่ไม่มีคนอธิบายว่า proposal นั้นความสำคัญคืออะไรบ้าง หรือ Proposal นั้นไม่ทันสมัยแล้ว ค้างอยู่ในสมาคมฯ มานาน สมมติว่าหากปีหน้าผมอาจจะเชิญบริษัทใหญ่ๆ มาแบ่งปัน proposal มาแบ่งปันความรู้ที่มันเกิดจากความเจ็บปวดของเขาในอดีต เพราะมันคือประวัติศาสตร์ของการเกิดเหตุ และทุกคนก็จะบันทึกลงไปใน proposal เพื่อป้องกันตนเอง นี่คือหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่สองก็คือน้อง ๆ หลายคนทำงานที่ต่างประเทศ สิ่งที่เราจะโดนกันก็คือจะเจอนักกฎหมายต่างชาติให้เราเซ็น proposal ของเขา ถ้าคนที่ทำงานต่างประเทศทั้งหมดนำ proposal ที่เคยถูกเซ็นเอามารวมกันแล้วมาสัมมนากันสักครั้งหนึ่ง ผมว่าก็อาจจะน่าสนใจมากกับการที่เคยไปเจออะไรกันมาบ้าง อะไรที่เราต่อรอง และอะไรที่เราเข้าใจความหมายมันผิด แน่นอน proposal ที่ลูกค้าทำมักจะเข้าข้างลูกค้าเสมอ เราจะยอมเซ็นได้แค่ไหน อาจจะต้องมีนักกฎหมายเข้ามาช่วย โลกตอนนี้มันไม่ได้อยู่ได้เฉพาะ proposal ภาษาไทยแล้ว ผมว่าสมาคมฯ ก็ควรจะมี proposal ภาษาอังกฤษเป็นของตัวเองเพื่อใช้ ใครอยากใช้ก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน นี่คือประโยชน์โดยตรงกับสมาชิกสมาคมฯ
เรื่องที่สองก็คือการระบุวัสดุที่ค่อนข้างที่จะล้าสมัย การระบุวัสดุในปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับ BIM ถ้าทุกคนไม่รู้ว่าโลกมันจะไปทางนี้มันก็จะเริ่มยากแล้ว เพราะในอนาคตผมค่อนข้างมั่นใจว่า Autocad จะถูกเลิกใช้แน่ ๆ ในอีกไม่นาน เมื่อไหร่ก็ตามที่ BIM เข้ามามีบทบาท การระบุวัสดุกับระบบ BIM มันคือเรื่องเดียวกัน มันคือการเตรียมความพร้อมสำหรับ 5 ปีข้างหน้า การที่ชูประเด็นนี้ก็คล้ายกับเรื่องที่แล้ว ใครที่ไม่เคยเจอ คงไม่อยากฟัง ก็ช่างเขา แต่หากเขาไม่เข้ามาฟังวันนี้อีก 5 ปีเขาจะกลายเป็นคนที่ถือขวานที่สร้างด้วยหิน เรื่องที่ผมพูดนี้มันคือพื้นฐานของสิ่งที่เราใช้ในทุกวัน จะเป็นสองเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดให้เรากับน้อง ๆ ได้มากที่สุด แต่เรื่องอื่น ๆ เราก็ยังต้องทำ เช่น เวลาเกิดปัญหาในการทำงานโดนลูกค้าฟ้องขึ้นมา เราทำงานช้า หรือเขามีการปรับ เราจะต่อรองกับเขาอย่างไร หรือค่าออกแบบที่อ้างอิงได้คืออะไร หลายคนชอบถามผมว่าทำไมไม่กำหนดไปเลยว่าค่าออกแบบ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผมตอบว่าไม่ได้ ถ้าเกิดทุกคนถูกควบคุมด้วยราคาเดียวกัน ทุกคนจ้างแต่บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหมดแน่ ๆ มันมีการแข่งขันกันในเชิงราคา เราต้องยอมรับ แต่ทำอย่างไรให้การแข่งขันเชิงราคามันไม่ได้มีค่ามากนักถ้าทุกคนมีอาวุธพร้อมมือเหมือน ๆ กันมีมาตรฐานเดียวกัน คำว่ามาตรฐานนี้จะทำให้น้องที่เพิ่งเปิดออฟฟิศใหม่ค่อย ๆ โต แล้ววันหนึ่งก็จะโตเท่ากับบริษัทใหญ่เอง ผมไม่เชื่อว่าจะมีบริษัทไหนที่เกิดขึ้นมาแล้วก็หยุดอยู่ตรงนั้น
ASA CREW: ตอนนี้มีทีมงานที่จะมาร่วมงานกันมากน้อยแค่ไหนครับ
คุณชนะ:ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 40 คน อย่างที่บอกคือผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผมอยากทำให้ภาพของนายกในยุคผมไม่ได้มีความสำคัญคนเดียว แต่ทีมงานจะเป็นคนที่สำคัญ ทีมงานคือกลุ่มคนที่จะขับเคลื่อนทุกอย่าง นายกเหมือนเป็นแค่กรรมการอยู่ตรงกลาง เป็นกุนซือควบคุมเกม แต่ตัวผู้เล่นต่างๆ ที่มีคือคนสำคัญ ทีนี้ความโชคดีของผมก็คือมีน้อง ๆ ช่วยเยอะ แต่ก็อยากจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมคนละนิดคนละหน่อยก็พอ เราก็เลยคิดว่าถ้าเกิดเรามีคนเยอะ เราก็ให้เขาทำแค่อย่างเดียวแล้วก็ทำให้มันดีโดยที่ไม่เหนื่อย สมมติว่ากิจกรรมมันอาจจะมีเยอะมาก มีเป็นสิบกิจกรรม เราอาจจะแบ่งแค่คนหนึ่งทำอย่างเดียวก็พอ แล้วก็ช่วย ๆ แบ่งเบากันไป เพราะทุกอย่างคือการสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องมีคนที่วิ่งจัดการทุกงาน ที่นี้การที่จะจัดการคนในตอนท้ายมันอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน หรือ 100 คน อาจจะต้องจัดการกันดีๆ ผมกำลังคิดว่าหนึ่งปีในวาระอาจจะแบ่งเป็นทีมหนึ่ง อีกปีหนึ่งอาจจะแบ่งเป็นอีกทีมหนึ่ง ทุกคนก็รับช่วงต่อกันไปเพราะทุกคนก็ไม่ได้มีอีโก้มาก ทุกๆ คนก็มาช่วยผมและช่วยสมาชิกหรือทำงานให้กับสังคม กิจกรรมที่เกิดขึ้นในอดีตมันก็มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องระยะยาวอยู่แล้ว เราก็ทำต่อไปโดยมีเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายว่าจะทำให้ดีขึ้น
ASA CREW: คำถามสุดท้าย มีอะไรจะฝากถึงสมาชิก หรือบุคคลทั่วไปบ้างครับ
คุณชนะ: ก็น่าจะฝากย้อนกลับไปถึงคำถามแรกเลย อย่างที่ผมบอกคือผมลงมาสมัครรับเลือกตั้ง ก็คาดว่าเราจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนรุ่นใหม่ได้ เป็นแกนนำให้กับน้อง ๆ ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แล้วเราก็พบว่าน้อง ๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสมาคมฯ เลย แม้แต่การสมัครสมาชิก แม้แต่เพื่อนผมเอง มันถึงยุคสมัยที่ทุกคนควรจะทำเพื่อส่วนรวมแล้ว ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมได้หมด มันอยู่ที่แต่ละบุคคล หลักแนวความคิดของผมก็คือถ้าเราอยากให้อะไรมันดี เราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน บางทีการเริ่มที่ตัวของเราเองอาจจะไม่ต้องเดินมาที่สมาคมฯ ก็ได้ คือทำให้ตัวเองหรือองค์กรของตัวเองประสบความสำเร็จ หรือทำงานแล้วพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ แค่นี้ก็ถือว่ายกระดับสมาคมฯ และวิชาชีพของเราแล้ว หรือช่วยกันประชาสัมพันธ์ตัวของสถาปนิกให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนทั่วไป ถ้าทุก ๆ คนช่วยกันเริ่มจากจุดนี้ ทุกอย่างก็น่าจะดีขึ้นครับ