Boonserm Premthada | Bangkok Project Studio

Talk / 10 ก.ค. 2019

เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ

กล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา และ Bangkok Project Studio ซึ่งไม่ได้เพียงเป็นที่รู้จักในวงการสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น หากแต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รางวัล The Royal Academy Doftman Award และ รางวัลศิลปาธร สาขา สถาปัตยกรรม พ.ศ.2562 เป็นรางวัลระดับสากลและระดับประเทศ ที่อาจารย์เพิ่งได้รับทั้ง 2 รางวัลภายในเดือนเดียวกันนั้น น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา

จุดเริ่มต้นของความคิดในแบบของอาจารย์บุญเสริม
ผลงานของอาจารย์บุญเสริมล้วนเริ่มจาก ‘จิตวิญญาณในงานสถาปัตยกรรม’ (Spiritual of Architecture) ซึ่งความเข้าใจด้าน Spiritual ในโลกนี้มีหลายอย่าง แต่ในแบบของอาจารย์บุญเสริมจะเป็นเรื่องของ ‘ผัสสะ’ (Sense) ทั้ง 6 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง กาย และจิต ซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบ ทำให้นามธรรมเป็นรูปธรรม หากจะจำกัดความให้แคบลง เนื่องจากอาจารย์มีพื้นฐานและความถนัดทางด้านการก่อสร้างมาก่อน จึงเน้นลึกลงไปในเรื่องของวัสดุและโครงสร้างที่มีความเป็นเนื้อแท้ ดิบหยาบ ไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งจากธรรมชาติและที่ถูกทำโดยมือมนุษย์ ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด สร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนได้เสมอ  “ผมมักจะเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น เช่น อิฐและไม้ ผสมผสานกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น เหล็ก ที่มีขนาดมาตรฐานตายตัว มีความยืดหยุ่นน้อย เมื่อนำมาประกอบกับวัสดุพื้นถิ่น ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า ก็จะเกิดความสมดุล”

 

สถาบันกันตนา


กระบวนการทำงานของความคิด
“ปกติการทำงานที่ดีต้องเริ่มจากโปรแกรมที่ชัดเจนก่อน ซึ่งความชัดเจนนั้นจะเกิดขึ้นจากการค้นคว้าวิจัย เมื่อเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว จึงเข้าสู่การกำหนดโปรแกรมการใช้งาน ซึ่งไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นอาคารประเภทไหน หากแต่เป็นการสร้างทางออกให้มีการใช้งานให้มีความหลากหลายมากขึ้น” อาจารย์บุญเสริมเล่าถึงกระบวนการทำงานของตนเองอย่างสังเขป และเนื่องจากอาจารย์มีพื้นฐานจากการเรียนเรื่อง renovation อาคารมาก่อน โดยส่วนใหญ่อาคารในอดีตมีการใช้งานที่ชัดเจนและตายตัว เมื่อถึงเวลาปัจจุบันที่อยากให้อาคารนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ จึงถูกปรับเปลี่ยนการใช้งาน และมักจะถูกรื้อย้ายพื้นที่ภายในออกไปทั้งหมด แล้วค่อยสร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมซ้อนสถาปัตยกรรม ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดหนึ่ง จึงเกิดการตั้งคำถามถึงสถาปัตยกรรมกับการใช้งาน เมื่อมีโอกาสจึงสนใจทดลองสร้างอาคารที่สามารถมีการใช้งานได้หลายๆ แบบ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนที่จะเข้ามาใช้งาน หลายคนอาจมองว่าผลงานของอาจารย์ คิดได้อย่างอิสระ แต่จริงๆ แล้ว ทุกงานล้วนมีข้อจำกัดจากทางด้านกฎหมาย งบประมาณ แรงงาน และความสามารถของช่างก่อสร้าง รวมถึงเวลาด้วย แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาสที่จะพัฒนางานให้ก้าวหน้าขึ้น

The Wine
The Wine

“วิธีคิดของผมไม่ได้คิดเป็นเส้นตรงอย่างที่หลายคนมักเข้าใจ หากแต่เป็นวิธีคิดแบบเกลียว ที่หมุนวนแล้วค่อยๆ ดิ่งลึกลงไป เป็นการคิดทบทวนตัวเองเสมอ เวลากลับมาดูผลงานที่ผ่านมา งานส่วนไหนที่ยังไม่ลึกพอ ก็จะย้อนกลับมาทบทวนอย่างเชื่อมโยงกัน ระหว่างวัสดุ โครงสร้าง บรรยากาศ และความรู้สึก”

The Wine

ตัวตนของอาจารย์บุญเสริม
ครูคนแรกของอาจารย์บุญเสริมคือคุณพ่อซึ่งเป็นช่างไม้ จึงถูกสอนให้อยู่กับสัดส่วนจริง 1:1 มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เปิดความเข้าใจในมิติและจินตนาการของสัดส่วนซึ่งมีความแตกต่างกัน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเรียนหลักการของช่าง ทำความเข้าใจช่างที่จะทำงานด้วย เครื่องมือ รวมถึงวิธีการก่อสร้าง จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย ส่วนการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร นั้นสอนให้มีความละเอียดอ่อน สุนทรียภาพ และเข้าใจความเป็นมนุษย์ ส่วนการศึกษาต่อที่หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนให้รู้จักหลักการ ทฤษฎีในระดับสากล สอนวิธีคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความเป็นเหตุเป็นผล หลังจากได้เรียนรู้ทุกอย่างหมดแล้ว เมื่อเข้าสู่การทำงานก็เกิดข้อสงสัยขึ้นกับตัวเองว่า การสร้างสถาปัตยกรรมน่าจะมีทางอื่น นอกจากหลักการและทฤษฎีที่เรียนมา จึงเริ่มหันมาสนใจสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากคนที่ไม่ใช่สถาปนิก อีกจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่สุดของอาจารย์บุญเสริมคือ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2539-2540 ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจารย์บุญเสริมเป็นพนักงานบริษัท ที่เน้นการออกแบบให้สวย ถูกใจคนอื่นเป็นจุดสำคัญ เมื่อเกิดวิกฤตที่ทำให้ประเทศย่ำแย่มาก ทำให้เปลี่ยนมุมมอง ย้อนกลับมาดูสิ่งรอบตัวที่มี ที่สามารถทำเองได้ ด้วยแรงงานและคนของเรา แต่ยังคงประสานเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ประหยัด และสมดุลกับแรงงาน

อาจารย์บุญเสริม กับผลงาน The Chapel
The Chapel


เล่าถึงรางวัลที่เคยได้รับและประสบการณ์ของการประกวด
Royal Academy
ปัจจุบันอาจารย์บุญเสริมได้รับรางวัลแล้วกว่า 14 รายการ ทั้งในประเภทผลงาน และประเภทบุคคล อย่างเช่น รางวัล Global Award for Sustainable Architecture 2018, The Royal Academy Doftman Award และรางวัลศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำพ.ศ.2562 โดยรางวัลศิลปาธร ถือเป็นรางวัลที่ได้รับในประเทศไทยรางวัลแรก “เป็นรางวัลที่ดีใจมาก หลายๆ รางวัลที่ได้รับ เป็นการถูกเสนอชื่อโดยคนอื่น ทราบอีกทีก็เมื่อเข้ารอบหรือได้รางวัลแล้ว อย่างรางวัล Global Award for Sustainable Architecture 2018 ถูกเสนอชื่อโดย Takaharu Tetsuka สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และยังเป็นเพื่อนสนิทของอาจารย์ด้วย  รวมถึงรางวัลศิลปาธร และ The Royal Academy Doftman Award ก็เช่นกัน  ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติต่อตัวเอง ต่อวงการสถาปัตยกรรมในประเทศไทย เป็นรางวัลสำคัญอันหนึ่งในชีวิต”

บรรยากาศการนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย ค่อนข้างเคร่งเครียด ผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่นๆ ได้แก่ Fernanda Canales สถาปนิกชาวเม็กซิโก Alice Casey และ Cian Deegan แห่ง TAKA Architects ประเทศไอร์แลนด์ และ Mariam Kamara จาก Atelier Masomi ประเทศไนเจอร์ ทุกคนล้วนเตรียมตัวกันมาอย่างดี ผมเองได้เห็นมุมมอง ทัศนคติ และเรียนรู้จากคนอื่นๆ ทั้งผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงคนใน Royal Academy of Arts (RA) ด้วย


ผลงานที่อาจารย์บุญเสริมส่งไปนำเสนอ มี 2 โครงการ คือ สถาบันกันตนา และโครงการโลกของช้าง จ.สุรินทร์ และอีกหนึ่งการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเสียงในสถาปัตยกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวอาจารย์เองด้วย การนำเสนอผลงานเป็นไปตามลำดับชีวิตและผลงานของอาจารย์ เสมือนการก้าวกระโดดที่ต้องย่อตัวก่อนที่จะกระโดด เพื่อให้ไปได้ไกลขึ้น โดยนำเสนอผลงานชิ้นแรกที่เป็นจุดเริ่มต้น ข้ามไปสู่ผลงานล่าสุดที่ทำอยู่ปัจจุบัน และการค้นคว้าวิจัยช่วยหาคำตอบเพื่อเข้าใจในตนเองมากขึ้น นอกจากนี้เนื่องจากอาจารย์มีปัญหาทางการได้ยิน หูข้างขวาไม่ได้ยินเสียงเลยและข้างซ้ายสามารถได้ยินเพียง 30% เฉพาะเสียงโทนต่ำเท่านั้น  ซึ่งสิ่งที่ดูเหมือนข้อจำกัดนี้กลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งในการที่อาจารย์บุญเสริมได้สร้างเสียงในงานสถาปัตยกรรม โดยที่ตัวเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน การค้นพบเกิดจากหลังจากที่  Solano Benitez สถาปนิกชาวปารากวัยเข้ามาเยี่ยมชมสถาบันกันตนา แล้วได้ยินเสียงในงานสถาปัตยกรรม ประกอบกับคำแนะนำของคุณอั๋น ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมน แห่ง CHAT Architects อาจารย์บุญเสริมจึงเริ่มต้นศึกษาวิจัยเรื่องนี้  ในการนำเสนองานอาจารย์บุญเสริมได้เริ่มต้นด้วยประโยคเปิดขึ้นว่า “This is my story telling what I do for my lovely country.” โดยไม่ได้นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมโดยตรง แต่เป็นการเล่าถึงชีวิตที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรม ปฏิสัมพันธ์ของที่ว่างและการใช้งานที่เกิดขึ้นของทั้งคนและช้าง  ก่อนที่จะจบด้วยหน้าสุดท้ายที่ขึ้นประโยคไว้ว่า “Now I did my love of Architecture for my lovely country” เป็นการจบการนำเสนอผ่านประโยคที่แสดงความรักที่มีต่อสถาปัตยกรรม อาจารย์บุญเสริมกล่าวว่า “Royal Academy of Arts (RA) ไม่ได้หาสถาปนิกที่เก่งหรือดีที่สุด หากแต่มองหาสถาปนิกที่มีตัวตน เป็นแบบอย่าง สามารถส่งผ่านความรู้ได้ และเป็นแรงบันดาลให้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ในอนาคต ซึ่งการส่งผ่านความรู้ที่ดีที่สุดในแบบของผมคือการสร้างสถาปัตยกรรมให้ผู้คนได้เข้ามาใช้และเรียนรู้ผ่านตัวสถาปัตยกรรมเอง”

ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา ก่อตั้งบริษัท Bangkok Project Studio ด้วยความมุ่งมั่นและความเชื่อที่ว่า ยังมีการทำงานสถาปัตยกรรมในแบบอื่นๆ อีก และรางวัลที่อาจารย์ได้รับในระดับสากล สามารถรับรองได้เป็นอย่างดีว่า ผลงานของอาจารย์บุญเสริมเป็นงานที่แปลกใหม่ ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยไม่เคยมี หากแต่ทั่วโลกก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นกัน

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    Roundtable Talk: Between the Preservation and Digitization

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม จากกระแสการรีโนเวตอาคารเก่าสู่พื้นที่การใช้งานแบบใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สู่การตั้งคำถามว่าอะไรควรเก็บรักษาไว้ให้เป็นความจริงแท้ดั้งเดิม อะไรควรถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง…

    โดย ASACREW
  • Talk

    ASA EXPO 2020: Refocus Heritage in Details นิทรรศการที่เต็มไปด้วยคำถามเกี่ยวกับการมองมรดกทางวัฒนธรรมแบบใหม่

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: ไลลา ตาเฮ หนึ่งในสิ่งที่หลายคนตั้งตารอสำหรับงานสถาปนิก ซึ่งจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ทุกปีนั้น ก็คือการออกแบบนิทรรศการซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่แล้วให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก งานสถาปนิกในปี 2563 ครั้งนี้ …

    โดย ASACREW
  • Talk

    Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี 

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: Faiz Phongprasert, Charif Phorhet, Overlay และ Bossakorn Buena จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน มลายูลิฟวิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กรร…

    โดย ASACREW