François Montocchio and Architecture for Worship

Talk / 11 มี.ค. 2020

เรื่อง: วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม และภาพส่วนตัวของฟรองซัวส์ มองโตเคียว

François Montocchio

ฟรองซัวส์ มองโตเคียว[1] (François Montocchio) เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1934 เป็นบุตรชายของเอ็ดการ์ มองโตเคียว (Edgar Montocchio) (ลูกครึ่งฝรั่งเศส-เวียดนาม) ซึ่งทำงานเป็นเลขาและล่ามอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และมาร์เกอริต เบิร์นดต์ (Marguerite Berndt) (ลูกครึ่งอังกฤษ-เวียดนาม) ผู้เป็นมารดาซึ่งคอยดูแลบ้าน เขามีพี่น้องทั้งหมด 5 คน พี่ชาย 1 คน คือ ฌ็อง-อีฟ มองโตเคียว (Jean-Yves Montocchio) น้องชาย 1 คน คือ เอ็ดการ์ มองโตเคียว (Edgar Montocchio) และมีน้องสาว 2 คนคือ เทเรซ่า มองโตเคียว (Thérèse Montocchio) และเซลีน มองโตเคียว (Céline Montocchio)

ในช่วงปีที่เขาเกิด สิทธิสภาพนอกอาณาเขต[2] (Extraterritoriality) ยังมีผลบังคับใช้ในประเทศ ทำให้คนในบังคับของฝรั่งเศสอยู่เหนือกฎหมายของประเทศสยาม เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของลูกๆ ในอนาคต บิดาของเขาจึงเลือกที่จะให้ลูกทุกคนถือสัญชาติฝรั่งเศส[3] และหลังจากนั้นในช่วงปีค.ศ. 1939 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มเพียงไม่กี่เดือน บิดาของเขาถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจในขณะที่เขามีอายุเพียง 5 ปี

François Montocchio

ฟรองซัวส์ จบการศึกษาในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อปี ค.ศ. 1950 ด้วยความสนใจในด้านการก่อสร้างและการช่าง หลังจากที่สำเร็จการศึกษามารดาของเขาจึงฝากให้เข้าไปทำงานกับ สถาปนิกชาวดัชซ์ ปีเตอร์ ซูเรนเดรค (Peter Suerendrech) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ่อเลี้ยง (เพราะเคยร่วมรบและตกเป็นเชลยศึกที่สะพานแม่น้ำแควด้วยกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาก่อน) ในเวลานั้น ปีเตอร์ ซูเรนเดรค เปิดสำนักงานอยู่ที่ซอยพิกุล ถนนสาทร และทำงานร่วมกับวิศวกรชาวอิตาเลียนที่มีชื่อว่าจอร์จิโอ อักซีเนลี (Giorgio Accinelli) อยู่หลายโครงการ โดยมีสถาปนิก/ วิศวกรรุ่นใหญ่อย่าง ฟอสโต้ ปีสโตโน (Fausto Pistono) ซึ่งเป็นเจ้านายเก่าของ จอร์จิโอ อักซีเนลี เป็นที่ปรึกษา ขณะทำงานในสำนักงานออกแบบแห่งนี้ ฟรองซัวส์ได้เรียนรู้ทักษะ ทั้งด้านการออกแบบและการเขียนแบบ และมีส่วนร่วมในการทำงานกับสถาปนิกและวิศวกรคู่นี้ในหลายโครงการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นผู้ช่วยเขียนแบบให้จอร์จิโอ อักซีเนลี ในการออกแบบวัดพระมหาไถ่[4] (Holy Redeem Church) (1954) และยังเป็นผู้ช่วย ปีเตอร์ ซูเรนเดรค ในการเขียนแบบก่อสร้างวัดเซนต์หลุยส์ (Saint Louis Church) (1957) จนกระทั่งปีเตอร์ ซูเรนเดรค ย้ายไปทำงานที่ฮ่องกง เขาจึงฝากให้ฟรองซัวส์เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศของ จอร์จิโอ อักซีเนลี การได้เข้ามาทำงานที่นี่ทำให้เขาได้รู้จักกับสถาปนิกไทยที่มีชื่อว่า ตรุณี บุนนาค เธอเป็นลูกสาวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เธอเป็นสถาปนิกรุ่นราวคราวเดียวกันกับหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ (1900-1981) ในช่วงที่ออกแบบวัดพระมหาไถ่ ตรุณีในฐานะที่เป็นสถาปนิกร่วมออกแบบอาคารนี้ด้วย ได้นำแบบของโบสถ์หลังนี้ไปปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำกับหม่อมเจ้าโวฒยากรด้วย

François Montocchio

ฟรองซัวส์พูดถึงบรรยากาศในการทำงานตอนนั้นว่า “คุณตรุณีเป็นคนสอนผมให้เขียนแบบและฝึกทักษะพื้นฐานการทำงานให้ผมหลายอย่าง ตอนทำงานอยู่ที่นั่นผมมีเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันอีกคนหนึ่งคือคุณบุญประเสริฐ ณ เชียงใหม่ เขาเป็นลูกชายของเจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ เพิ่งจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ตอนนั้นงานทางด้านวิศวกรรม จอร์จิโอ อักซีเนลี ได้กำหนดมาตรฐานในการทำงานด้วยการเขียน standard sheet ของคานคอนกรีตแบบต่าง ๆ เอาไว้ บุญประเสริฐก็แค่เขียนตำแหน่งและขนาดของเหล็กลงไป ผมทำงานร่วมกับเขาประมาณ 2-3 ปี จากนั้นเขาก็ออกไปเป็นทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง จนกระทั่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายโยธา เขาทำงานอยู่ที่นั่นกว่า 30 ปี”

นอกจากทำงานอยู่ที่ออฟฟิศของปีเตอร์ ซูเรนเดรค และจอร์จิโอ อักซีเนลี ในช่วงนอกเวลางานเขายังออกแบบและรับเหมาสร้างบ้านไม้อยู่ 3-4 หลัง ในละแวกถนนสาทรเอาไว้หลายหลัง “ผมยังจำได้ ผมรับเหมาสร้างบ้านสองชั้นเป็นบ้านไม้ ค่าก่อสร้างประมาณ 80,000 บาท ประตูหน้าต่างเปิดถึงพื้นหมด พื้นเป็นไม้ตะแบก ตอนนั้นผมยังเด็กมากอายุแค่ 17 ปี แต่เขาก็ยังไว้ใจให้ทำ มีบ้านหลังหนึ่งอยู่แถวสนามเป้า แล้วก็อีกหลังหนึ่งเป็นบ้านบังกะโลอยู่ที่ซอยเย็นอากาศเป็นบ้านของนายพ่วง สุวรรณรัฐ ทำให้มีเงินเก็บอยู่ประมาณ 30,000 บาท แล้วจึงตัดสินใจใช้เงินก้อนนี้ไปเรียนต่อ” ฟรองซัวส์เล่าถึงประสบการณ์ในตอนนั้นให้ฟัง หลังจากที่จบมัธยมปลายจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แล้วเขาทำงานอยู่ประมาณ 7 ปีก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศเบลเยี่ยม

ภาพวาดทิวทัศน์เมือง (1959) ของฟรองซัวส์ มองโตเคียว ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่  1 ณ The Institut Saint-Luc deTournai

การเดินทางไปศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่ประเทศเบลเยียมของฟรองซัวส์นั้นได้คุณพ่อโรเซ็นส์บาทหลวงชาวอิตาเลียนที่รู้จักและเคยร่วมงานกันตอนออกแบบโบสถ์เป็นผู้แนะนำให้ไปที่โรงเรียนสถาปัตยกรรมที่ The Institut Saint-Luc de Tournai เพราะรู้จักกับบาทหลวงที่ดูแลอยู่ที่นั่น โรงเรียนนี้มีวิธีการเรียนการสอนเหมือน École des Beaux-Arts ที่ประเทศฝรั่งเศส ตอนเข้าไปเรียนในปีแรกจะเน้นที่การไปทัศนศึกษาเพื่อดูงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจตามสถานที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะให้นักศึกษากลับมาทำรายงานส่ง และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต้องออกไปฝึกวาดภาพทิวทัศน์เมืองเพื่อมาส่งวันจันทร์อย่างต่ำคนละไม่ต่ำกว่า 10 รูป

ภาพวาดทิวทัศน์เมือง (1959) ของฟรองซัวส์ มองโตเคียว ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่  1 ณ The Institut Saint-Luc de Tournai

ในช่วงปิดเทอมการศึกษาเมื่อเรียนจบชั้นปีที่หนึ่ง เนื่องจากเป็นนักศึกษาต่างชาติเพียงคนเดียวที่ไม่ได้กลับบ้าน และพักอาศัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพื่อรอเปิดเทอมการศึกษาใหม่ เมื่อบาทหลวงที่ดูแลโรงเรียนมาเห็นจึงมอบหนังสือของเลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) ให้เขาเพื่อให้อ่านและศึกษายามว่าง “การได้อ่านหนังสือของเลอกอร์บูซีเยในช่วงเวลานั้น ช่วยเปิดโลกทัศน์และความคิดความอ่านของผมเป็นอย่างมาก” ฟรองซัวส์พูดถึงช่วงเวลาของการอ่านที่ยาวนานในคราวนั้น

ในปี ค.ศ 1959 ช่วงต้นเทอมแรกของปีการศึกษาที่สอง ตอนนั้นประเทศฝรั่งเศสอยู่ระหว่างการทำสงครามกับอัลจีเรีย เนื่องจากถือสัญชาติฝรั่งเศสทำให้ฟรองซัวส์ถูกเกณฑ์ไปรบที่สมรภูมินี้ด้วย “ในช่วงเวลานั้นพี่น้องสามคนที่เป็นผู้ชายต้องเป็นทหารทั้งหมด ผมจึงสมัครใจเพื่อไปรบที่นั่นเพียงคนเดียว ทำให้พี่น้องคนอื่น ๆ ไม่ต้องไปรบ เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสมีกฎหมายว่า ในแต่ละครอบครัวถ้ามีพี่น้องหลายคนให้ไปรบแค่เพียงคนเดียว เพราะว่าเกิดกรณีที่เป็นเรื่องใหญ่มาก คือมีแม่หม้ายคนหนึ่งเธอมีลูกชายสองคนไปรบแล้วเสียชีวิตทั้งสองคน จนเป็นกรณีที่ถกเถียงกันใหญ่โตในสภาที่ฝรั่งเศส ก็เลยมีกฎหมายออกมาใหม่ว่า ในกรณีที่ครอบครัวมีพี่น้องหลายคนให้ไปแค่เพียงคนเดียว” เขาเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาต้องเดินทางไปรบที่อัลจีเรียเป็นเวลาเกือบ 28 เดือน นั่นทำให้เขาต้องหยุดพักการเรียนสถาปัตยกรรมชั่วคราว

ภาพถ่ายฟรองซัวส์ มองโตเคียว (คนที่สามจากซ้ายมือ) ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่ The Institut Saint-Luc de Tournai (ภาพถ่ายของฟรองซัวส์ มองโตเคียว)

ในระหว่างที่ไปรบนั้นเขาต้องเดินทางไปฝึกที่โรงเรียนนายสิบที่ประเทศฝรั่งเศสก่อนเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรบในพื้นที่ทะเลทรายซาฮาร่า บางครั้งก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า กินขนมปังก้อนกลมๆ ที่พกติดตัวไว้กับปลาซาดีน 3-4 กระป๋อง แต่ในเวลานั้นสถานการณ์ค่อนข้างย่ำแย่ ถึงแม้ฝรั่งเศสจะมีทหารที่ไปร่วมรบกว่า 1 ล้านคน ทั้งทหารฝรั่งเศสที่เกิดในอัลจีเรีย ทหารต่างด้าว รวมถึงทหารอาสาสมัคร เวลานั้นชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสดูจากสถานการณ์แล้วเห็นท่าว่าจะไม่ไหวจึงตัดสินใจประนีประนอมกับอัลจีเรีย โดยยอมให้อิสรภาพในปี ค.ศ. 1962 ทำให้สงครามในครั้งนั้นได้ยุติลง

ขณะไปรบที่อัลจีเรียช่วงปี ค.ศ. 1959-1963 (ภาพถ่ายของฟรองซัวส์ มองโตเคียว)

จากความต้องการของบาทหลวงผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่อยากให้ฟรองซัวส์เรียนช้าไปกว่านี้เนื่องจากการถูกเกณฑ์ไปรบ เขาจึงกลับมาเรียนต่อในชั้นปีที่สามเลย ในปี ค.ศ. 1963 รูปแบบการเรียนการสอนของชั้นปีสูง ๆ ของที่ The Institut Saint-Luc นักศึกษาต้องออกไปดูงานในประเทศต่าง ๆ ทำให้ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นี่ฟรองซัวส์จึงมีโอกาสได้ไปที่ประเทศอังกฤษ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี การวิธีในการเรียนออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่นี่ จะให้นักศึกษาค้นคว้าและศึกษาด้วยตนเองโดยจะมีสถาปนิกที่เป็นอาจารย์จากข้างนอกเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมของโครงการต่างๆ สำหรับให้นักศึกษาใช้ฝึกฝนในการออกแบบ และหลังจากนั้นตอนสุดท้ายปลายเทอมอาจารย์เหล่านั้นก็จะเข้ามาตรวจและวิจารณ์ผลงานที่นักศึกษาแต่ละคนทำ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นี่ฟรองซัวส์ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ที่มาจากประเทศฝรั่งเศสสองท่านคือ ปิแอร์ วาโก้ (Pierre Vago, 1900-2002) ซึ่งเป็นสถาปนิกคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศฝรั่งเศสที่เคยทำงานกับเลอกอร์บูซีเย เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสารทางสถาปัตยกรรมเล่มสำคัญของฝรั่งเศสที่ยังคงออกวางจำหน่ายอยู่จนถึงปัจจุบันนี้อย่าง L’Architecture d’Aujourd’hui รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอย่าง UIA – International Union of Architects และสถาปนิกที่มีชื่อว่า ฌ็อง แวร์กโน (Jean Vergnaud, 1905-1995) ซึ่งเป็นสถาปนิกที่ทำงานออกแบบให้หน่วยงานของรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้นหลายแห่งด้วยกัน และหลังจากที่จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1965 ฟรองซัวส์ได้เดินทางไปที่กรุงปารีสและทำงานที่ออฟฟิศของฌ็อง แวร์กโนอยู่ถึง 5 ปี

ภาพแบบจำลองโครงการอาคารสระว่ายน้ำของเทศบาล (Piscine Municipale) ที่เมือง Bayeux (ภาพถ่ายของฟรองซัวส์ มองโตเคียว)

ตลอดช่วงเวลาที่เขาทำงานกับฌ็อง แวร์กโน เขาได้มีโอกาสได้ออกแบบอาคารและทำงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบอาคาร งานผังเมือง รวมถึงโครงการต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการวิจัย รวมทั้งงานออกแบบโรงมหรสพที่เมืองลีล (Lille) และโครงการประกวดแบบอาคารสระว่ายน้ำของเทศบาล[5] (Piscine Municipale) ที่เมืองบาร์เยอร์ (Bayeux) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เขาพูดถึงงานออกแบบชิ้นนี้ว่า “ตัวผังพื้นของตัวอาคารจะเป็นวงกลมที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งมีโครงสร้างหลังคาขนาดใหญ่ที่สามารถเลื่อนเปิดปิดได้ โดยจะมีหลังคาขนาดใหญ่ที่สามารถเปิด-ปิดได้อยู่ 3 ชิ้นโดยที่แต่ละชิ้นจะติดตั้งมอเตอร์สำหรับเคลื่อนย้ายหลังคาอยู่ 2 ตัว โดยที่มันจะเคลื่อนที่ตามราง ส่วนที่มีความเตี้ยที่สุดของตัวอาคารจะเป็นทางเข้าโดยชั้นล่างจะเป็นห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวและห้องน้ำส่วนชั้นบนจะเป็น coffee shop สำหรับให้ผู้ปกครองนั่งรอเด็กที่มาว่ายน้ำอยู่ที่ชั้นล่าง โดยมีเสาขนาดใหญ่อยู่ที่กึ่งกลางวงกลมของตัวผังอาคารเพื่อเป็นจุดยึดหลังคาที่เลื่อนเปิดปิดได้ทั้งหมด”

บรรยากาศภายในอาคารสระว่ายน้ำของเทศบาล (Piscine Municipale) ที่เมือง Bayeux (ที่มาภาพ: https://actu.fr)

ระหว่างที่เขาทำงานอยู่ที่ออฟฟิศของฌ็อง แวร์กโนนั้น ในปี ค.ศ. 1968 เกิดการประท้วงและนัดหยุดงานโดยเยาวชนคนหนุ่มสาว นักเรียน นักศึกษา และคนงานครั้งใหญ่ในปารีส จนชาร์ล เดอ โกลต้องหนีออกนอกประเทศ “จำได้ว่าบนท้องถนนที่ปารีสเต็มไปด้วยแก๊สน้ำตา ผมแพ้ควันพวกนี้มาก เลยต้องเดินมุดลงไปที่สถานีรถไฟใต้ดินเพื่อนั่งรถไฟเข้าไปที่ออฟฟิศ ถ้ามองจากหน้าต่างบนออฟฟิศจะเห็นผู้คนเดินประท้วงกันอยู่เต็มท้องถนนและก้อนอิฐปูพื้นถนนจะถูกผู้ประท้วงงัดขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับคว้างปาต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ตอนนั้นผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับพวกนักศึกษาที่กำลังประท้วงอยู่เท่าไหร่” ฟรองซัวส์พูดถึงความทรงจำที่มีต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1970 บริษัท อินทาเรน จำกัด[6] (Intaren Co., Ltd.) คือบริษัทสถาปนิกแห่งแรกที่ฟรองซัวส์ทำงานด้วยหลังจากที่เขาเดินทางกลับมาจากปารีสในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่นี่เองที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับหัวหน้าทีมชาวสวิสที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง เฮช. อาร์. โวเกล (H.R. Vogel) และเดวิด รัสเซล (David A. Russell) สถาปนิกชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่อินทาเรนฟรองซัวส์มีส่วนร่วมในการออกแบบอาคารเคี่ยนหงวน (1970) นอกจากนั้นยังเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างอาคารเอสโซ่ (1971) และการควบคุมงานที่อาคารเอสโซ่ทำให้เขารู้จักกับวิศวกรชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า เค. ที. ฟิลค็อกซ์ (K. T. Philcox) ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่ที่ฮ่องกงและเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างของอาคารนี้หลังนี้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทำงานร่วมกันในอีกหลายโครงการหลังจากนี้

ในปี ค.ศ. 1971 เดวิด รัสเซล และฟรองซัวส์ ตัดสินใจลาออกจากที่อินทาเรนเพื่อออกมาเปิดสำนักงานออกแบบร่วมกัน ในช่วงเวลานี้พวกเขาได้ทำงานร่วมกันหลายงาน อาทิเช่น โครงการปรับปรุงทางเดินและสร้างที่จอดรถ 6 ชั้นที่พัฒน์พงษ์ (1971) ที่ออกแบบด้วยการใช้พื้นสำเร็จซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการก่อสร้างจากฮ่องกง รวมถึงอาคารที่จอดรถของสมาคมราชกรีฑาสโมสร (1972) ที่ออกแบบโครงสร้างพื้นเป็น waffle slab โดยทั้งสองโครงการนี้มี เค. ที. ฟิลค็อกซ์ เป็นวิศวกรโครงสร้าง นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบบ้านของปิยะ ภิรมย์ภักดี (1971) ที่ซอยสุขุมวิท 39 ซึ่งเป็นบ้านที่ออกแบบให้มีกลิ่นอายแบบสเปนและเมดิเตอร์เรเนียนโดยมีลาน (patio) อยู่กลางบ้าน รวมถึงงานออกแนวคิดเมืองรีสอร์ท Suncoast (1971) ที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

ภาพแบบจำลองบ้านของปิยะ ภิรมย์ภักดี (1971) (ภาพถ่ายของฟรองซัวส์ มองโตเคียว)
บ้านของปิยะ ภิรมย์ภักดี (1971) (ภาพถ่ายของ ฟรองซัวส์ มองโตเคียว)

เดวิด รัสเซล ทำงานร่วมกันฟรองซัวส์ได้ไม่นาน เนื่องจากในตอนนั้นมีการกำหนดอาชีพที่ห้ามคนต่างประเทศทำในประเทศ หนึ่งในอาชีพนั้นคืออาชีพ สถาปนิก[7] ทำให้เดวิด รัสเซล ไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้อีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจบินไปทำงานที่ฮ่องกงกับภรรยาที่เป็นสถาปนิกชาวไทยและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1973 ฟรองซัวส์ จึงตั้งบริษัท FMA Architects & Engineers Co.,Ltd. โดยมีทีมสถาปนิกอย่างเสาวนีย์ จารุบุษปายน และวิศวกรโยธาอย่าง วิศิษฐ์ ตันศิริคงคล เป็นเพื่อนร่วมทีมใหม่ ช่วงเวลานี้ฟรองชัวส์ได้ออกแบบงานที่น่าสนใจไว้หลายโครงการอย่างเช่นอาคารสำนักงานไทยประกับชีวิต (1975) ถนนพระราม 4 ที่โครงสร้างเสาด้านหน้ามีลักษณะเป็นตัว V ที่ลองรับน้ำหนักของเสาที่ถ่ายแรงลงมาจากด้านบน ซึ่งตัว V ของโครงสร้างนี้มีที่มาจากชื่อย่อของ วานิช ไชยวรรณ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ อาคารหลังนี้เขาได้วิศวกรรที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก อย่าง อรุณ ชัยเสรี เป็นผู้ออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารให้ หลังจากโครงการนี้เขายังออกแบบอาคารให้ไทยประกันชีวิตอีกหลายสิบแห่งด้วยกัน หรืออีกโครงการที่ออกแบบในระยะเวลาไล่เลี่ยกันอย่างโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ (1978) เขาพูดถึงแนวความคิดในการออกแบบอาคารว่า “ที่ผมออกแบบผังอาคารหลักให้เป็นวงกลมเพราะต้องการให้ตัว nurses station เป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้ตัวอาคารใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะนางพยาบาลสามารถดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง” นอกจากงานวางผังและออกแบบอาคารทั้งหมดแล้ว อีก 5 ปีต่อมา เขาได้ออกแบบวัดน้อยพระจิตเจ้า (The Holy Spirit Chapel) (1983) โบสถ์หลังเล็กๆ ที่อยู่ภายในโรงพยาบาล “ผมต้องการให้โบสถ์หลังนี้จุดศูนย์กลางโรงพยาบาล ให้ทุกคนสามารถมารำพึงที่นี่ได้ ทางเข้าออกแบบดูมีขนาดที่ไม่ใหญ่โตแต่พอเดินเข้าไปก็จะค่อยๆ ใหญ่และสูงขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นไอเดียที่เลอกอร์บูซีเยใช้ในการสร้างโบสถ์หลายแห่งของเขาเหมือนกัน ที่จุดศูนย์กลางของโบสถ์จะสะท้อนไอเดียเรื่องการม้วนขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ตำแหน่งของไม้กางเขนที่อยู่บนยอดโบสถ์สามารถมองเห็นได้จากห้องพักของคนไข้ อีกไอเดียหนึ่งที่ผมได้รับอิทธิพลมาจากเลอกอร์บูซีเยก็คือ เรื่องการระบายน้ำฝน น้ำฝนจะไหลมารวมกันที่จุดเดียว โดยที่รอบๆ จะเป็นเนินดิน ถ้ามองจากภายนอกจะรู้สึกว่าอาคารมีขนาดไม่ใหญ่และมีความสำรวม และโบสถ์แห่งนี้จะเป็นเสมือนศูนย์รวมทางด้านจิตใจของคนที่อยู่ในโรงพยาบาลนี้ โครงสร้างจะเป็นคานโค้งที่ถ่ายน้ำหนักมารวมกันที่จุดเดียว”

วัดอัครเทวดาราฟาเอล (Raphael Church) (1979) ผลงานออกแบบของ ฟรองซัวส์ มองโตเคียว ที่หลังคาเป็นโครงสร้างแบบ hyperbolic paraboloid (ภาพถ่ายโดย วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์)
วัดอัครเทวดาราฟาเอล (Raphael Church) (1979) ผลงานออกแบบของ ฟรองซัวส์ มองโตเคียว ที่หลังคาเป็นโครงสร้างแบบ hyperbolic paraboloid (ภาพถ่ายโดย วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์)

นอกจากวัดน้อยพระจิตเจ้าและโบสถ์ที่เขาออกแบบขณะที่ทำงานกับปีเตอร์ ซูเรนเดรค และจอร์จิโอ อักซีเนลี ในสมัยก่อนที่เขาจะไปศึกษาต่อที่ประเทศเบลเยียมแล้ว หลังจากที่เขากลับมาที่เมืองไทยเขายังออกแบบโบสถ์ และอาคารที่เกี่ยวข้องกับสถาบันต่างๆ ทางศาสนาเอาไว้มากมายอาทิ เช่น ออกแบบผังรวมถึงอาคารของวิทยาลัยแสงธรรม (Saengtham College) (1972) โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา วัดพระแม่การุณย์ (Our Lady of Mercy Catholic Church) (1974) วัดอัครเทวดาราฟาเอล (Raphael Church) (1979) วัดนักบุญอันนา (ท่าจีน) (Saint Anna Church) (1983) วัดเซนต์ร็อค (Catholic Church of Saint Roch) (1983-1987)

จากประสบการณ์ที่ออกแบบโบสถ์มาหลายโครงการเขาพูดถึงแนวทางหลักๆ ในการออกแบบโบสถ์ทั้งหมดของเขาว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบคือเรื่องของทิศทาง พระแท่นจะต้องอยู่ทางด้านทิศตะวันออก รูปร่างของผังผืนหรือรูปทรงของอาคารควรมีที่มาจากเรื่องราวหรือเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ อีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องทิศทางลมและวิธีการระบายอากาศ ทำให้อากาศภายในนั้นบริเวณพื้นที่ทำพิธีนั้นสามารถถ่ายเทได้โดยสะดวก”

François Montocchio

นอกจากอาคารทางศาสนาแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1990 เขายังออกแบบอาคารประเภทอื่นไว้อีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น อาคารสำนักงานของบริษัทแองโกลไทย ที่หัวหมาก หรือคอนโดมิเนียมอย่างบ้านรองเมือง (1994) และเซ็นเตอร์ พ้อยท์ (Centre Point) ที่ประตูน้ำ รวมถึงโรงแรมดุสิต รีสอร์ท ที่จังหวัดเชียงราย และอันดามันคลับ ที่ประเทศพม่า และออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ของไทยประกันชีวิตที่ถนนรัชดาภิเษก เป็นอาคารหลังสุดท้าย ก่อนที่จะเกษียณตัวเองจากอาชีพสถาปนิกในช่วงปลายทศวรรษ 1990

ฟรองซัวส์เล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของเขาก็คือการได้มีโอกาสเข้าพบและได้สัมผัสพระหัตถ์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ขณะที่ท่านเสด็จเยือนประเทศไทยในปี ค.ศ. 1983 ณ สำนักสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย และทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเขาจะเกษียณจากอาชีพสถาปนิกแล้วแต่เขาก็ยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมของมิซซังคาทอลิกอยู่

ปัจจุบันนี้ฟรองซัวส์มีอายุ 85 ปี เขาพักอาศัยและใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่ายอยู่ที่บ้านพักของเขาในย่านสาทร ตอนนี้เขากำลังกลับมาออกแบบงานสถาปัตยกรรมอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ทำมานาน ในวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมเยือนเพื่อขอสัมภาษณ์เพื่อเขียนเป็นบทความชิ้นนี้ ฟรองซัวส์หยิบโมเดลผลงานชิ้นหนึ่งมาให้ดูด้วยความภาคภูมิใจ ผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นที่ว่านี้คือบ้านหลังเล็ก ๆ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านหลังที่เขากำลังออกแบบนี้ ก็คือลูกสาวของเขาเอง

François Montocchio


[1] ฟรองซัวส์ มองโตเคียว (François Montocchio) ได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย ทวีธวัส มั่นธนาการ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975
[2] หมายถึง สิทธิพิเศษทางกฎหมาย ซึ่งประเทศหนึ่งสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตนต่อบุคคลในดินแดนของประเทศอื่นได้ ตัวอย่าง เช่น ประเทศสยามเคยให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่อังกฤษ คือหากคนในบังคับอังกฤษหรือฝรั่งเศสก่อคดีในสยามก็จะไปขึ้นศาลของอังกฤษแทน หลังจากที่ประเทศสยามได้มีเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. 1932 จึงได้เริ่มมีการเจรจากับนานาประเทศเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ สิทธินี้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1938 ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
[3] พี่น้องของฟรองซัวส์ ถือสัญชาติฝรั่งเศสเกือบทุกคน ยกเว้นน้องสาวคนสุดท้อง เซลีน มองโตเคียว (Céline Montocchio) ที่ถือสัญชาติไทยเนื่องจากเกิดหลังจากที่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1938
[4] นอกจากวัดพระมหาไถ่แล้วฟรองซัวส์ยังทำงานกับ จอร์จิโอ อักซีเนลี อีกหลายโครงการ อาทิเช่น โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย (บ้านโป่ง, ราชบุรี) โรงเรียนเซนกาเบียล อัสสัมชัญ ศรีราชา และอาคารสำนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จังหวัดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และเพชรบุรี
[5] Piscine Municipale ที่เมืองบาร์เยอร์ (Bayeux) ออกแบบในช่วงปี ค.ศ. 1968-1969 สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1972 และถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างเป็นอาคารหลังใหม่ในปี ค.ศ. 2019
[6] อินทาเรน (Intaren) เป็นบริษัทรับออกแบบงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1966 โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า สถาปนิกชาวสวิสที่มีชื่อว่าเจน อัลเบอร์ตลูเชียง เพ็นนิโคล (Jean Albert Lucien Penneceau) และสถาปนิกชาวสวิส เฮช. อาร์. โวเกล (H.R. Vogel) สำนักงานออกแบบแห่งนี้ได้ออกแบบผลงานที่น่าสนใจไว้หลายแห่งในช่วงทศวรรษ 1970 ไม่ว่าจะเป็น อาคารเอสโซ่ (1971) (ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นคาเธ่ทรัสต์ และอาคารศรีเฟื่องฟุ้งในปัจจุบัน) อาคารเคี่ยนหงวน อาคาร เอฟ. อี. ซิลลิค (F.E. Zuellig) (1973) อาคารไบเออร์ (Bayer) ออฟฟิศของอินทาเรนในขณะนั้นอยู่บนชั้น 6 อาคารจงกลนี (1964) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าบนถนนสุรวงศ์ ที่ออกแบบโดย สำนักงานดวง ทวีศักดิ์ ชัยยา และสหาย ซึ่งเป็นอีกบริษัทสถาปนิกที่มีงานน่าสนใจในขณะนั้น
[7] พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2516 (1973)

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    Interview: ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส

    เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ก่อนอื่น อยากให้ช่วยเล่าถึงพัฒนาการของงานอนุรักษ์ในภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการก่อตั้งกรรมาธิการอนุรักษ์ ภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2511 น่าจะแบ่งได้ตามลักษณะการทำงานแบบกว้างๆ เป็น 3 ยุ…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Round Table Talk: Sook Siam

    อีกหนึ่งโครงการตลาดที่น่าสนใจในช่วงนี้คือพื้นที่ตลาดที่ถูกจับมาไว้ในศูนย์การค้าอย่างโครงการสุขสยาม โครงการตลาดที่นำเอาสินค้าตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาจัดไว้รวมกันในโครงการ ICONSIAM และในครั้งนี้ทีมงาน ASA CREW ก็ได้โอกาสพูดคุยกับคุณโอ๊ต-ชยะพงส…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี 

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: Faiz Phongprasert, Charif Phorhet, Overlay และ Bossakorn Buena จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน มลายูลิฟวิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กรร…

    โดย ASACREW