เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล
ภาพ: Courtesy of Plan Architects by PanoramicStudio, YAMASTUDIO
โครงการศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมเอไอเอส เป็นทั้งศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรงานบริการและการติดต่อสื่อสารขององค์กร และเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์แก่คนรุ่นใหม่ในภาคอีสานที่จะใช้เป็นแหล่งพบปะและแลกเปลี่ยนไอเดียผ่านประสบการณ์เทคโนโลยีดิจิทัล โดยการมีพื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้และทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนทั่วไป ตัวโครงการมีความตั้งใจในการที่จะออกแบบให้เป็นอาคารต้นแบบด้านการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ
ผังพื้นเป็นรูปร่างสามเหลี่ยมสองชิ้นวางประกบกัน โดยหันด้านยาวที่สุดออกสู่ด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศจะวันตกจัดวางพื้นที่ส่วนบริการ ได้แก่ แกนสัญจรทางตั้ง เช่น บันไดและลิฟท์ ห้องน้ำและพื้นที่สำหรับระบบอาคาร เป็นพื้นที่กันชนในการเป็นฉนวนกันความร้อนเข้าสู่พื้นที่ใช้งานหลัก ด้วยพื้นที่มากกว่า 18,000 ตารางเมตร ความสูง 6 ชั้น มีการใช้งานหลักเป็นอาคารสำนักงาน และให้บริการสำหรับสาธารณะที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน
ทีมออกแบบจึงนำแนวคิดอาคารเขียว หรือ Green building มาเป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบ โดยใช้มาตรฐานตาม LEEDS (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งถือได้ว่า เป็นหนึ่งในเกณฑ์อาคารเขียวที่ได้รับความนิยม โครงการนี้ ได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ Gold โดยแนวคิดในการรักษาสมดุลระหว่างการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างที่มีการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ถึงร้อยละ 30 และการจัดการภายในอาคาร ได้แก่
- การลดการใช้น้ำทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีการนำน้ำจากการบำบัดแล้วกลับมาใช้กับภูมิทัศน์โครงการ
- การประหยัดพลังงาน ใช้ระบบปรับอากาศแบบประหยัดพลังงาน มีการผลิตใช้พลังงานสะอาดจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ ร้อยละ 5 และเน้นการใช้แสงธรรมชาติ ใช้กระจกรอบอาคารที่ทำจากวัสดุกันความร้อนและรักษาความเย็นภายในตัวอาคาร
- คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร เช่น การนำระบบที่คำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอของอากาศบริสุทธิ์และระบบตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้วัสดุที่ปล่อยสารระเหยที่เป็นพิษภายในอาคาร และร้อนละ 90 ของพื้นที่มีการเปิดมุมมองออกสู่ภายนอกในการทำงาน
ภาพรวมของรูปทรงอาคารทำให้นึกย้อนยุคถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่รุ่นราวคราวเดียวกับเลอ คอร์บูซิเอร์ ที่เน้นความเรียบง่ายของเส้นนอนสีขาวสลับกับการเปิดช่องกระจกแนวยาวตลอดทั้งชั้นของอาคาร ประกอบกันขึ้นเป็นรูปร่างของอาคารด้วยเส้นนอนที่จัดวางเรียงกัน เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่ขนาดสอบลงจากด้านบน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการช่วยลดพื้นที่ความร้อนที่จะได้รับจากแสงอาทิตย์ ทีมสถาปนิกจัดวางเส้นสายส่วนบนของอาคารให้เป็นเส้นโค้ง เพื่อสื่อความหมายถึงสัญลักษณ์ที่มาจากรูปแบบของโลโก้ของบริษัทเพื่อการจดจำภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ในแง่ของการสื่อสารกับผู้คนส่วนใหญ่อาคารหลังนี้ก็ถูกตีความว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของตะกร้าหวายสานอันเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นอีสาน ซึ่งโครงการนี้ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของบริษัทในการเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์ของของผู้คนในภูมิภาคนี้
ด้วยผังอาคารที่มีการวางพื้นที่ใช้งานอยู่รายล้อมกรอบอาคารภายนอก จึงทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่ได้รับแสงจากธรรมชาติและผู้ใช้อาคารมีมุมมองออกสู่ภายนอก สามารถผ่อนคลายระหว่างการทำงานได้ และด้วยรูปร่างผังพื้นอาคารส่วนศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมถูกออกแบบให้เป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีขนาดเส้นรอบรูปอาคารขนาดใหญ่ ตรงกลางจึงถูกเจาะโล่งเพื่อเป็นโถงกลางรับแสงธรรมชาติ และพื้นที่ระหว่างสามเหลี่ยมทั้งสองที่วางประกบกัน ได้จัดวางให้เกิดเป็นโถงกลางที่ถูกล้อมด้วยผนังอาคารสูงถึงหกชั้นทั้งสองข้าง จึงทำให้ส่วนโถงหรือ “ชาน” กลาง สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติโดยที่มีรังสีความร้อนที่แผ่เข้ามาภายในอาคารโดยตรงมีปริมาณที่ลดลง โถงระหว่างอาคารส่วนนี้ ทีมสถาปนิกยังได้จัดวางบันไดและเส้นทางสัญจรที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 อาคาร เพื่อให้ผู้ใช้อาคารได้มีโอกาสเดิน แทนการใช้ลิฟท์ สนับสนุนให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายในระหว่างการทำงานอีกทางหนึ่ง แต่ด้วยควางโปร่งและบางเบาของบันได ประสบการณ์ในการเคลื่อนที่ผ่านบริเวณนี้อาจสร้างความแปลกใหม่และตื่นตาในการสัญจรแก่ผู้ใช้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว จากการสังเกตการณ์พบว่า พื้นที่บริเวณนี้ได้ทำหน้าที่เป็นอย่างดีในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อาคารในระหว่างช่วงเวลาพักเบรคจากการทำงาน จนมีชื่อเรียกเล่นๆว่าเป็น “โถงแฮร์รี่พอตเตอร์” เนื่องจากมีความละม้ายคล้ายกับฉากในหนังดัง
นอกจาก ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาจะสามารถรับรู้ถึงรูปทรงภายนอกอาคารที่ให้ความรู้สึกโฉบเฉี่ยว ก้าวหน้าและสะท้อนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแล้ว ระบบการสื่อสารซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับกิจกรรมต่างๆในการใช้พื้นที่ภายในอาคารมีการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยการจำลองบรรยากาศเสมือนการทำงานจริง รวมไปถึงระบบสนับสนุนอาคารที่มีการให้ความสำคัญกับการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคารได้เป็นอย่างดี
การก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่แทบทุกวัน ผู้คนจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สำหรับในโลกของสถาปัตยกรรมนั้น การตั้งคำถามว่าสถาปัตยกรรมที่รองรับการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานี้และในอนาคตอันใกล้ อะไรคือประเด็นที่สถาปนิกต้องให้ความสำคัญระหว่างเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากับค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษามหาศาล หรือการเลือกปรับตัว เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเลือกที่จะตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในการที่จะช่วยดูแลโลกในระยะยาวเพื่อคนรุ่นหลัง