Studio Visit: Studiomake

Visit / 19 มี.ค. 2020

เรื่อง: กฤษณพล วัฒนวันยู
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

Studiomake

Studiomake ไม่ได้เป็นเพียงสตูดิโอที่ออกแบบเฉพาะงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังผลิตสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบด้วย ดังที่สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาในชื่อเรียกของสตูดิโอ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ “การทำ/ การสร้าง/ การผลิต” (makings) ที่เกิดขึ้นในหลายสเกล ตั้งแต่ลูกบิดประตูไปจนถึงตัวอาคาร เอกลักษณ์อันโดดเด่นของ Studiomake คือการให้ความสำคัญในกระบวนการสร้างสรรค์ที่ผ่านการลงมือปฏิบัติ การหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แบบ hands-on ซึ่งพวกเขามีความภูมิใจเป็นอย่างมาก และอาจจะสามารถเรียกคนกลุ่มเล็กกลุ่มนี้ได้เต็มปากว่า ผู้ผลิต/ผู้สร้าง (makers) และนอกจากพื้นที่สร้างสรรค์ในสตูดิโอแล้ว ยังมีส่วนของเวิร์กช็อปที่อยู่ติดกับตัวสตูดิโอ ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานระหว่างทีมสถาปนิกและนักออกแบบกับทีมช่าง จนเกิดการทำงานร่วมกันของทีมงานทุกฝ่ายในแบบ collaborative process อย่างแท้จริง

Studiomake

ที่มาและจุดเริ่มต้น
Studiomake ก่อตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยา คุณอรพรรณ สาระศาลิน แชเฟอร์ และ David Schafer (เดวิด แชเฟอร์) และหลังจากที่ทั้งคู่จบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ได้ทำงานต่ออยู่ที่นั่นสักระยะหนึ่ง จึงได้ย้ายกลับมาที่ประเทศไทยและเปิดสตูดิโอออกแบบนี้ขึ้นมา แถมยังแบ่งเวลาบางส่วนไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และไม่นานต่อมา มีการขยับขยายสตูดิโอครั้งใหญ่ จึงได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมมาสร้างบ้านพักและสตูดิโอบนที่ดินของครอบครัวคุณสาระศาลิน ที่ อ.ไทรม้า จ.นนทบุรี โดยที่อาคารหลักที่เป็นโฮมออฟฟิศนั้นมีสตูดิโอและเวิร์กช็อปอยู่ชั้นล่าง และส่วนที่พักอาศัยของครอบครัวแชเฟอร์อยู่ชั้นบน

Studiomake

แนวทางการออกแบบ
หลักการสำคัญของ Studiomake คือ การมองว่ามันไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนตายตัวในเรื่องของการออกแบบและการทำ/การสร้าง/การผลิต มันเป็นกระบวนการที่ถักทอร้อยรัดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งก็ถือเป็นแนวคิดหลักในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโดยทั่วไปในวงวิชาชีพอยู่แล้ว หากแต่สตูดิโอนี้ต้องการที่เน้นย้ำในแนวทางดังกล่าวที่ว่า การออกแบบและการทำ/การสร้าง/การผลิตนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ งานของ Studiomake มักจะสนใจลงไปในงานสเกลที่เล็ก ซึ่งเป็นสเกลที่เส้นแบ่งต่างๆ มันมีความพร่ามัว จนบ่อยครั้งที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังทำ/สร้าง/ผลิต สิ่งของอะไรบางอย่างที่สำคัญในโครงการนั้นๆ ก่อนที่แง่มุมอื่นๆ ของโครงการจะถูกออกแบบ หรือ ถูกพัฒนา คลี่คลายไปแล้วอย่างเต็มที่

Studiomake

และโดยส่วนใหญ่ ที่มาของไอเดียและแนวคิดในการออกแบบต่างๆ ของ Studiomake มักจะมาจากเวิร์กช็อปด้วยซ้ำไป พวกเขามองว่ามันไม่ใช่กระบวนการแบบเส้นตรงต่อเนื่อง แต่มักจะเป็นขั้นตอนที่เชื่อมโยงกลับไปกลับมา บางครั้งพวกเขาก็เริ่มคิดงานจากการสร้างต้นแบบ (prototype) ในขั้นตอนการออกแบบร่างเลยก็มี ดังนั้น หัวใจหลักในการทำงานของ Studiomake คือ กระบวนการและขั้นตอนที่ต้องคิดและทำงานกลับไปกลับมาระหว่างสตูดิโอออกแบบและเวิร์คช็อป ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการสร้างสรรค์

Studiomake

เครื่องมือ
สำหรับ Studiomake การมีเวิร์คช็อปอยู่ในที่เดียวกันติดกับสตูดิโอนั้นมีข้อได้ดีหลายประการ ทำให้สามารถเข้าไปในเวิร์คช็อปได้บ่อยๆ และการที่เมื่อได้เข้าไปอยู่ในเวิร์คช็อป ทำให้สามารถหยิบจับ สัมผัส รู้สึก และเข้าใจได้ถึงคุณสมบัติของวัสดุ รวมถึงการได้รับแรงบันดาลใจจากวัสดุเหล่านั้น แต่ที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ จะต้องมีความเข้าใจเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้กับวัสดุเหล่านั้น คุณเดวิด มองว่าตัวเขาเองและรวมถึงอีกหลายๆ คน เมื่อตอนสมัยเรียนนั้น มักจะมุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับวิชาออกแบบในสตูดิโอ หรือ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และมองว่าเรื่องโครงสร้าง เรื่องทางเทคนิคต่างๆ นั้นน่าเบื่อ แต่สำหรับเขานั้น กลับคิดว่าความรู้เชิงเทคนิค-เชิงช่างนั้นมีความสำคัญมากไม่แพ้กัน ซึ่งถ้าหากยิ่งมีความเข้าใจต่อเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มากเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้เปิดทาง เกิดความเป็นไปได้มากมายต่อความคิดสร้างสรรค์ เพราะมันจะช่วยผลักดันความคิดและขยายขอบเขตการสร้างสรรค์ให้กว้างขวางออกไปอีก

Studiomake

รูปแบบการทำงานและกระบวนการทำงาน
โดยส่วนใหญ่ การเริ่มต้น การคิดงานมักจะเริ่มต้นด้วย design charette ที่เป็นในรูปแบบการอภิปรายกลุ่ม หรือ การระดมสมองร่วมกันในทีมงาน เพื่อหาไอเดียและหาแนวทางการออกแบบต่างๆ ร่วมกัน และคุณเดวิดมักจะนำทีมช่างเข้ามาร่วมคิดตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ของโครงการเลย และเคล็ดลับของการทำงานของ Studiomake อีกเรื่องคือการออกแบบที่ยืดหยุ่น หรือการออกแบบเผื่อความผิดพลาดบางประการที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งบางครั้งนั้น มันเป็นการออกแบบสิ่งที่ไม่อาจรู้ล่วงหน้ามาก่อน แต่ยังคงสามารถปรับเปลี่ยน หรือ แก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องได้

นอกจากนี้ ในการทำงานในภาพรวม การร่วมมือกันและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งระหว่างผู้คนกับผู้คน และระหว่างผู้คนกับวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน คุณเดวิดก็ต้องการให้ทีมงานทำงานด้วยความสุข เพราะทุกคนล้วนมีความสนใจและทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งเขาเชื่อว่ามันขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละทำได้ดี เพราะคนเรานั้นมักต้องการทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี

Studiomake

ทีมงานและการคัดเลือกทีมงาน
ทีมงานที่นี่นอกจากจะไม่ได้มีเพียงแค่สถาปนิกและนักออกแบบตกแต่งภายใน ยังมีทีมช่าง (ทั้งช่างเหล็ก ช่างไม้) ที่เป็นส่วนสำคัญของทีมงานทั้งหมด และทีมงานช่างเหล่านี้ทำงานเต็มเวลาเช่นเดียวกับทีมสถาปนิก/นักออกแบบ ไม่ได้เป็นลักษณะรับจ้างชั่วคราวเป็นโครงการๆ ไป และพอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ที่ทุกคนเข้าใจภาพรวม เข้าใจทีมเวิร์ค ทุกคนก็สามารถทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่หลากหลายได้ ไม่เฉพาะเจาะจงลงไปว่าต้องทำแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานตนเท่านั้น

แต่สิ่งที่ยากสำหรับ Studiomake คือการค้นหาและคัดเลือกพนักงานที่จะมาร่วมงานกัน ต้องมีทัศนคติที่ไปในทิศทางเดียวกันกับทีม และมีความเข้าใจ สามารถมาร่วมกันสร้างทีมงานที่ดีให้เติบโตต่อไปได้ คุณเดวิดมองว่าคนที่จะมาร่วมงานกับพวกเขาได้นั้นต้องเป็นคนกลุ่มพิเศษประมานหนึ่ง คือต้องมีความสนใจและใส่ใจในงานออกแบบเชิงช่าง-เชิงเทคนิคพอสมควร และต้องเป็นคนที่ชอบลงมือทำ ทดลองทำอะไรต่างๆ หรือ ทำงานแบบ hands-on ในเวิร์คช็อปได้ และต้องเป็นคนที่ต้องฝึกฝนตนเองเสมอๆ เพราะ Studiomake เองก็เป็นเสมือนห้องเรียนที่ทุกคนต้องหมั่นพัฒนา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย

Studiomake

พื้นที่การทำงานและการออกแบบพื้นที่การทำงาน
การที่สตูดิโอมาตั้งอยู่ที่นนทบุรี ทำให้มีที่ว่างมากพอ ที่เอื้อให้ Studiomake สามารถทำงานในลักษณะงานที่ทำอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนพื้นที่สตูดิโอนั้น ถูกออกแบบเป็น open space ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้น มีโต๊ะทำงานตัวกลางอันใหญ่ตัวเดียว ที่ทุกคนมานั่งคิดงานและทำงานร่วมกัน แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปบ้าง เนื่องจากความต้องการพื้นที่ทำงานของแต่ละคนเพิ่มเติม แต่ก็ยังคงสภาพเปิดโล่ง ไม่ได้มีการกั้นห้องหรือกั้นฉากเป็นส่วนย่อยๆ ยังคงมองเห็นกันและกันได้ การออกแบบพื้นที่เปิดโล่งที่ต่อเนื่องกันนี้จึงสอดรับกับลักษณะการทำงานของทีม การจัดพื้นที่แบบเปิดโล่งนั้นสำคัญ เพราะงานของ Studiomake เน้นไปที่เรื่องเชิงช่าง-เชิงเทคนิคค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่การทำงาน

Studiomake

คุณเดวิดอธิบายถึงโครงสร้างองค์กรของสตูดิโอว่าเป็นโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์ในแนวราบมากกว่าแนวตั้ง คือทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ได้มีลำดับขั้นลำดับชั้นหลายระดับเหมือนองค์กรใหญ่ทั่วไป แต่พอช่วงหลังๆ มาก็ได้ปรับเปลี่ยนไปบ้าง คือเริ่มมีความเป็นลำดับขั้นขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ อันเนื่องมาจากพนักงานบางคนนั้นได้ร่วมงานมานาน ประกอบกับการรับสมาชิกใหม่เข้ามาทดแทนคนที่ลาออกไป และด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของแต่ละคนในทีม

Studiomake

เป้าหมายในอนาคต
คุณเดวิดเล่าถึงเป้าหมายในระยะยาวนั้นคือความยั่งยืนของสตูดิโอ และการที่ยังสามารถทำในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไปได้เรื่อยๆ และหลายปีที่ผ่านมาทำให้เขาได้คิดทบทวน และคำนึงถึงทั้งผลประโยชน์ในระยะยาวและการเสียสละในระยะสั้น ซึ่งคุณเดวิดก็ได้ยกคำพูดที่เป็นข้อคิดของภรรยาให้ฟังว่า “รางวัลของการทำงานที่ดี คือการที่ได้งานมากขึ้น” และเขายอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของสตูดิโอนี้ คือพวกเขามักจะทำงานหรือ ส่งมอบงานมากเกินกว่าที่โจทย์ลูกค้ามอบหมายให้มา หรือบางครั้งพวกเขามักจะชอบทำอะไรให้มันดีกว่าที่มันควรจะเป็นจนเกินไป

การหาจุดสมดุลที่เหมาะสมทั้งเพื่อฝั่งลูกค้าและโครงการต่างๆ ที่พวกเขาทำให้นั้นต้องเป็นผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจ และขณะเดียวกัน ในฝั่งทีมงานเองก็ต้องได้รับการตอบแทนและผลประโยชน์ที่สมส่วนด้วย ดังนั้น การรักษาสมดุลของสตูดิโอทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

Studiomake

ข้อคิดและมุมมองที่อยากเสนอแนะ
ในสิ่งที่คุณทำได้ดีนั้น ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม หากคุณสามารถมีส่วนร่วมในการแบ่งปันหรือนำไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ มันจะเป็นอะไรที่วิเศษมาก การที่มีมุมมองแบบคนนอกนั้นทำให้มองเห็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดต่างๆ และอยากให้คนที่อยู่ข้างในทำความเข้าใจในกรอบและบริบทของสังคมตนเอง มันจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการคิดค้นหาคำตอบต่อปัญหาต่างๆ และพัฒนาทรัพยากรและศักยภาพที่มี และที่สำคัญคืออยากให้สถาปนิกรุ่นใหม่ให้เวลากับตัวเอง เพราะทุกอย่างนั้นล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

Studiomake
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    อาคาร 9 โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เรือนไม้เก่ากว่า 70 ปีที่ยังมีลมหายใจ

    โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เดิมชื่อ “โรงเรียนประจำจังหวัดบุรีรัมย์” จัดตั้งเป็นโรงเรียนรัฐบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตั้งอยู่บริเวณวัดกลาง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาทางราชการแผนกมหาดไทยได้ยกศา…

    โดย asa
  • Visit

    D HOSTEL BANGKOK เปลี่ยนฉากหน้าของตึกแถวให้กลายเป็นงานดรอว์อิ้ง

    D HOSTEL BANGKOK ผลงานของ Klickken Studio เป็นโฮสเทลที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในย่านข้าวสาร อันเป็นที่รู้กันว่าคือเมืองหลวงของเหล่าแบคแพคเกอร์ การออกแบบโฮสเทลแห่งนี้ได้รับโจทย์มาว่าอยากได้อาคารที่หน้าตาของมันดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ซึ่งแถวที่ตั้งของโค…

    โดย asa
  • Visit

    Reopening of the Pavillon Le Corbusier

    Story and Photos : Asst.Prof. Kamon Jirapong, Ph.D. Content: Museum fur Gestaltung, Zurich  Media Information – Reopening of the Pavillon Le Corbusier, Exhibition Mon univers Graphic of Plans and Elevations: Brochure – Pavillon Le Corbusi…

    โดย ASACREW