ASA TAKSIN: Common Ground Hadyai การสร้างตลาดแนวใหม่ในคอนเทนเนอร์บรรจุฝัน

Visit / 09 ต.ค. 2019

เรื่อง: กิตติ เชาวนะ
ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง

แม้ในปัจจุบันจะพบเห็นการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างสรรค์ใหม่เป็นที่พักอาศัย ห้างร้านต่างๆ มากมาย แต่ภาพตู้คอนเทนเนอร์สีแดงวางซ้อนกัน 4 ชั้น บนถนนนวลแก้ว ถนนตัดใหม่ส่วนขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ก็ยังสามารถดึงดูดความสนใจผู้คนที่สัญจรผ่านได้เป็นอย่างดี อาจด้วยสีสัน รูปทรงที่เรียบง่าย หากแต่จัดเรียงได้อย่างน่าสนใจ มีคำชวนคิดที่ติดไว้ข้างลวดลายกราฟิกว่า “Common Ground” หรือภาพกิจกรรมหลากหลายของผู้คนในกล่องที่มองเห็นผ่านช่องกระจกที่ชวนให้ค้นหา ล้วนช่วยกันสร้าง “ภาพจำที่ชัดเจน” โครงการนับว่าประสบความสำเร็จเบื้องต้นในแง่การตลาด เป็นแบรนด์สินค้าใหม่ที่สามารถแทรกตัวขึ้นมาในเมืองการค้าที่คึกคัก

ภาพภายนอกของ Common Ground

เมื่อได้เข้าไปในกล่องแดงพบว่า ภายในกล่องที่วางซ้อนทับกันนั้นได้โอบล้อมและสร้างพื้นที่ภายในเป็นโถงกลางสูงโล่งพอเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่นั่งเล่น ต่อเนื่องกับตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สนับสนุน ทั้งร้านกาแฟ (Espresso Bar) ร้านอาหาร ห้องฉายหนังโรงเล็ก และจินบาร์ (Gin Bar) ซึ่งเปิดในตอนค่ำโดยใช้พื้นที่เคาน์เตอร์บาร์ร่วมกันกับร้านกาแฟที่เปิดในช่วงกลางวัน ส่วนพื้นที่ชั้นบนจัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการศิลปะ (Gallery) ที่สามารถเดินชมต่อเนื่องกับพื้นที่ภายนอกอาคาร ที่เว้นช่องว่างนอกกล่องเพื่อสร้างกรอบภาพชมวิวโดยรอบได้อย่างชัดเจน

กรอบภาพสำหรับชมวิวโดยรอบ

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมก็คือ กระบวนการเกิดของโครงการเองที่ก่อรูปขึ้นจากการตั้งคำถามถึงพื้นที่แบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการพื้นที่ทางสังคมในบรรยากาศสบายๆ เพื่อรองรับกิจกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อมาทำอะไรร่วมกัน ตามความสนใจที่หลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ คำถามนี้ได้สร้าง “บทสนทนา” เพื่อหาอะไรทำร่วมกันของผู้ก่อตั้งร่วม เกิดเป็นพันธมิตรร่วมในการทำธุรกิจตามความถนัดและความสนใจ หลอมรวมความเป็นตัวตนเพื่อสร้าง “ลักษณะร่วมใหม่” ในแบรนด์ร่วมกัน

ภาพในช่วงเริ่มต้นการก่อสร้าง Common Ground

การก่อรูปของโครงการทั้งโครงสร้างทางธุรกิจ และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ค่อยๆ ถูกพัฒนาต่อเติมทีละน้อย ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ ถูกวิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งในแง่ ขนาดพื้นที่ใช้งาน มิติความสูงภายในที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท รวมทั้งโครงสร้างและการรับน้ำหนักของตัวเอง ความสามารถในการรับน้ำหนัก และการเสริมความแข็งแรง ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม นับได้ว่าแบรนด์ “Common Ground” สามารถสร้างจุดขายร่วม สร้างทางเลือกความเป็นไปได้ใหม่ ให้ทั้งในภาพรวมของธุรกิจและกิจกรรมย่อยในโครงการ เกิดเป็นพื้นที่สนทนาร่วมกันในส่วนกลางของร้าน และพื้นที่พูดคุยใกล้ชิดบริเวณเคาน์เตอร์บาร์กับบาริสต้าในตอนกลางวัน หรือพูดคุยผ่อนคลายกับบาร์เทนเดอร์ในอีกบรรยากาศยามค่ำคืน

บรรยากาศการใช้พื้นที่ของ Common Ground
เคาน์เตอร์บาร์ภายใน Common Ground

ส่วนพื้นที่ฉายหนังโรงเล็ก สามารถเติมเต็มพื้นที่สนทนาของกลุ่มผู้ชื่นชอบหนังนอกกระแส จากช่วงแรกที่ฉายเดือนละครั้ง ได้เพิ่มความถี่มากขึ้นกลายเป็นทุกสัปดาห์ และนอกจากเวลาดูหนังร่วมกันแล้ว Common Ground ยังทำให้เกิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็น ทัศนคติ มุมมอง ที่ต่อเนื่องจากการดูหนังร่วมกัน หลายครั้งพบว่าบทสนทนาร่วมกันยาวนานกว่าเวลาในการดูหนังด้วยซ้ำ

ห้องฉายภาพยนตร์ใน Common Ground
หน้าห้องฉายภาพยนตร์

Common Ground จึงเป็นเหมือน common space ที่ถูกรื้อสร้างให้เหมาะสมมากขึ้นโดยใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาร่วมคิด ปรับเปลี่ยน “ตู้ใส่ของ” เพื่อใส่คนและกิจกรรมอย่างเหมาะสม ประกอบสร้างจากสิ่งเล็กๆ ตามความสนใจ เกิดเป็นจุดร่วมที่รวมคนมีฝันให้มาพบกันตรงกลางที่ว่างของกล่อง เพื่อสานฝันและส่งต่อความฝัน จุดประกายความคิดผ่านบทสนทนาต่างๆ ของผู้คนที่หลากหลาย เป็นอีกพื้นที่เล็กๆ ที่ตอบสนองตลาดแนวใหม่ ได้ทดลองสร้างความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ร่วมกับมิติของเวลา และความคุ้มค่าของการทรัพยากร ภายในกล่องปิดนี้ได้เปิดมุมมองความคิดที่ท้าทายได้อย่างน่าสนใจ อาจเป็นอีกปรากฏการณ์ที่สามารถอธิบายและยืนยันคำกล่าว “The Whole is Greater than Sum of its Part” จากการสร้างแบรนด์หลักที่แข็งแรงร่วมกัน พร้อมกับการมีแบรนด์ย่อยที่ชัดเจน รองรับตลาดกลุ่มใหม่ที่มีความหลากหลาย แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ได้เป็นอย่างดี

อีกมุมหนึ่งของ Common Ground
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    Studio Visit: ทิศทาง สตูดิโอ

    เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ ภาพ: อนันตา ฐิตานัตต์ ทิศทาง สตูดิโอ (Tidtang Studio) เป็นสตูดิโอสถาปนิกชื่อไทยๆ ที่เน้นความเป็นไทยเข้าไปอยู่ในทุกงานที่ทำ โครงการ Busaba Ayutthaya Hostel ถือเป็นผลงานที่อธิบายทิศทางของงานสถาปัตยกรรมในแบบของทิศทาง สตูดิโอไ…

    โดย ASACREW
  • Visit

    “Darunbannalai” the Library for Kids บ้านโบราณซอยวัดม่วงแค สู่ห้องสมุดเจ้าตัวจิ๋ว

    จากแนวคิด“บุงโกะ” ของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้บ้านและผู้ใหญ่รักการอ่านมักดัดแปลงบ้านของตนให้เป็นห้องสมุดในชุมชนสำหรับเด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งมีภารกิจ “นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ” มองหาสถานที่ในฝันที่จะเป็นพื้นที่แบ่งปันก…

    โดย asa
  • Visit

    โบสถ์ศีลมหาสนิท

    เรื่อง: ดร.จักรสิน น้อยไร่ภูมิ ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 60 ถือเป็นยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม ในช่วงเวลานี้โลกได้เกิดเหตุการณ์ๆ สำคัญทางประวัติศาสตร์ขึ้นมากมาย และหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้ค…

    โดย ASACREW