ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

Talk / 02 เม.ย. 2020

เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

ทีมงาน ASA CREW ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักและเตรียมตัวสำหรับงานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” โดยทีมงานได้ทำการพูดคุยสั้น ๆ กับ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานจัดงานในปีนี้ เกี่ยวกับเนื้อหางานคร่าว ๆ เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจแนวคิดและเตรียมตัวสำหรับงานที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 7  – 12 กรกฎาคม 2563 นี้

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ASA CREW: ทำไมถึงเป็น Refocus Heritage
คุณวสุ: เริ่มต้นจากโจทย์ว่าสมาคมฯ อยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับ Heritage ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสของการออกแบบในปัจจุบัน หลายที่จะพูดถึงเรื่องของความยั่งยืน การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมา เราจะทำอย่างไรให้โลกของเรายั่งยืนแบบมีความหมาย ก็จะนึกถึงว่ามรดกในโลกของเราในแต่ละที่มันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และองค์ประกอบซึ่งสามารถนำมันมาใช้เป็นวัตถุดิบในการออกแบบได้ การนำของเก่าเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน ย่อมดีกว่าการไปรื้อทำลาย และสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด นี่คือกระแสนิยมที่เป็นอยู่ แต่หากถามว่าทำไมถึงต้อง Refocus เราต้องนึกย้อนดูก่อนว่าเราคิดเห็นอย่างไรกับเรื่อง Heritage เมื่อครู่เราพูดถึงกระแสนิยมว่าที่อื่นเขาคิดถึงแนวทางการใช้ประโยชน์แล้ว แต่บ้านเราไม่ใช่

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ถ้าเราพูดคำว่า Heritage คนส่วนใหญ่จะนึกถึงโบราณสถาน ซึ่งพอพูดถึงโบราณสถาน เราจะรู้สึกถึงความหมายทั้งในเชิงบวกและลบ ในส่วนของเชิงบวกคือรับรู้ถึงคุณค่า แต่ก็เป็นคุณค่าที่เหมือนอยู่บนหิ้ง อยู่ห่างไกล เป็นสิ่งที่ต้องเก็บไว้อย่างไรอย่างนั้น ในส่วนที่เป็นลบ ความเก่า ความโบราณ ความรู้สึกที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ พอเราเจออะไรที่เป็นมรดกที่อาจจะมีคำว่าโบราณสถานไปครอบมันไว้ เกิดความเกร็ง เข้าไปแตะต้องลำบาก ทำให้เราคิดว่าเป็นงานที่เป็นความรับผิดชอบของกรมศิลป์ฯ ไม่ใช่งานของเรา ในทางกลับกันบางงานก็ถูกมองว่ารื้อมันเสีย เมื่อเห็นอาคารเก่าคนเรารู้ว่ามันอาจจะมีคุณค่า แต่เรามักจะบอกว่าถ้ามันไม่ใช่โบราณสถาน กรมศิลป์ฯ ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ฉะนั้นเราสามารถทำอะไรกับอาคารก็ได้ นี่คือกรอบความคิดที่เป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในบ้านเรา

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

แม้แต่ในวงการสถาปนิก สถาปนิกทุกคนก็มักจะมองว่างานอนุรักษ์ งานออกแบบที่เกี่ยวกับอาคารเก่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งทำให้สถาปนิกเกร็งกับการทำงานเก่า นี่คือข้อมูลทั้งหมดที่อธิบายว่าทำไมถึงจะต้อง Refocus เราอยากจะสื่อสารกับคนว่าจริง ๆ แล้วเรื่อง Heritage เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ มันคือเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราควรจะมองคำว่า Heritage หรือมรดกว่าเป็นสิ่งที่คนในรุ่นก่อนส่งต่อมาให้เรา เพราะมันมีคุณค่า และคุณค่าเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป แต่วิธีการที่จะส่งต่ออย่างไรนั้นเราจะต้องมาดูกัน ศาสตร์ของการออกแบบจะช่วยได้ในเรื่องของการที่เราจะทำอย่างไรให้มรดกเหล่านั้นมันมีคุณค่าที่จะได้ใช้ในอนาคตและเหมาะสมกับการใช้สอยในปัจจุบัน มรดกเหล่านี้มีหลายระดับ เราควรจะต้องมีการเลือก มีการหาวิธีการที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละรูปแบบต่อไป นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าสมาคมฯ ควรจะทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารเรื่องนี้

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ASA CREW: ความหมายของ Heritage ในที่นี้กว้างแค่ไหน
คุณวสุ: อย่างที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ มุมของคนทั่วไปเราอาจจะนึกถึงโบราณสถาน แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่อยากจะให้คนเห็นก็คือทุกอย่าง แม้แต่สิ่งที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ก็ตาม ถ้าเราสร้างด้วยความตั้งใจให้มันเกิดคุณค่าแล้วมันเหมาะที่จะส่งต่อไปให้คนในรุ่นต่อไป มันก็เข้ากับความหมายของคำว่ามรดกทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเฉพาะสิ่งก่อสร้างหรือลักษณะทางกายภาพเท่านั้น ความหมายของมรดกยังมีในส่วนที่จับต้องไม่ได้ คือในเรื่องของคุณค่าทางศิลปะ ความงาม คุณค่าของความหมายและความเชื่อ เพราะฉะนั้นในการที่เราจะทำให้คุณค่าเหล่านั้นปรากฏเราคงไม่ได้นึกถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมหรือเฉพาะศาสตร์ของวิชาชีพเราเท่านั้น มันคือการประสานงานร่วมมือกันของหลาย ๆ วิชาชีพ งานสถาปนิกในปีนี้จึงเรียกได้ว่าเปิดกว้าง ไม่ได้เฉพาะสำหรับวิชาชีพสถาปนิกเพียงอย่างเดียว

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ASA CREW: แล้วตัวงานจะแตกต่างงานปีก่อนๆ อย่างไร
คุณวสุ: มันเป็นครั้งแรกที่เราเอาเรื่องของมรดก หรือการอนุรักษ์มาขยายความให้มันกว้างถึงในชีวิตประจำวัน เพราะว่าทุก ๆ ปี เราจะเห็นว่ามันมีส่วนของงานอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ผ่าน ๆ มา พอมาถึงจุดนี้ มันคือแนวโน้มที่เราสามารถเอาประโยชน์ของเรื่องของมรดกและวัฒนธรรมมาใช้ในศาสตร์ของการออกแบบของเราได้ทุกมิติ เราพยายามจะสื่อสารให้คนเห็นว่างานออกแบบที่เกี่ยวข้องกับมรดก มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่จะต้องเก็บมันไว้ในสภาพดั้งเดิม หากแต่เราสามารถใช้การออกแบบเข้ามาช่วยให้มันยังสามารถต่อชีวิตออกไปได้อย่างเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศมีงานออกแบบที่เป็นลักษณะนี้จำนวนมาก พอเราย้อนมาดูตัวอย่างในบ้านเรากลับพบว่ายังมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าถ้ามันมีการนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในงานสถาปนิก มันน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้แนวคิดนี้ แล้วความกลัวที่เราจะทำงานกับอาคารเก่าจะหมดไป ซึ่งต่อไปผมคิดว่าสถานการณ์ในบ้านเรา นับวันจะมีตัวอย่างหรือมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานกับอาคารเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นที่มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าในยี่สิบกว่าเมืองทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งจะต้องมีข้อกำหนด มีการห้ามก่อสร้างอาคารบางประเภท แต่ว่าในลักษณะของการนำเอาอาคารเก่ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน มันยังคงเป็นสิ่งที่ทำได้และนี่คือโอกาสของเรา

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ASA CREW: ในงานปีนี้มีอะไรที่น่าจับตามองเป็นพิเศษบ้าง
คุณวสุ: เนื้อหาที่เราเอามาเน้นมันก็ตรงกับหัวข้อหลักที่เราต้องการนำเสนอว่า Refocus ฉะนั้นเราก็ต้องนำเสนอก่อนว่าสภาพแนวความคิดในปัจจุบันในสังคมของเรามันเป็นอย่างไร เราก็เลยหยิบยกเอา 10 ประเด็นร้อนจากที่เราพูดถึงกันในสื่อ social media ที่เกี่ยวกับเรื่อง Heritage ว่าเราคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนั้นบ้างในมุมมองต่าง มีทั้งมุมมองในแง่ลบและบวก มุมมองหรือข้อมูลที่เราอาจจะเข้าใจผิด หรือว่าเป็นบางอย่างที่มันมีเหตุผลในอีกด้านหนึ่งซึ่งเราควรที่จะต้องรับฟัง โครงการที่ประสบความสำเร็จจากการที่เขานำเอามรดกมาใช้ในการออกแบบ หรือว่ามีการศึกษาคุณค่าของมรดกนี้เราสามารถมองในแง่มุมไหนได้บ้าง สองประเด็นนี้จะนำไปสู่การที่เราจะถามคำถามกับคนที่เข้าชมว่า ความหมายของ “มรดก” ของคุณคืออะไร เราจึงทำเป็นสื่อภาพยนตร์ที่จะจุดประกายว่าในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับมรดกหลังจากที่ได้เห็นทั้งสภาพปัจจุบัน ทั้งตัวอย่างที่ไม่ดีแล้ว อยากให้คุณตั้งคำถามกับตัวเองว่าสำหรับคุณ มรดกคืออะไร และคุณจะทำอะไรกับมัน ซึ่งนี่น่าจะเป็นหัวใจของตัวนิทรรศการหลักครับ แต่ว่าเราก็จะมีนิทรรศการอื่นๆ ที่มาเสริม เพื่อให้คนเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับมรดกเป็นอย่างไร

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

อีกประเด็นหนึ่งก็คือการ Refocus การให้รางวัลอาคารอนุรักษ์ของสมาคมฯ

ทุก ๆ ปี ซึ่งเราจะมีการประกาศแล้วให้ผู้ที่สนใจสมัครมาเสนอรางวัลอนุรักษ์ โดยที่เราแบ่งประเภทตามลักษณะของอาคาร และทุก ๆ ครั้งอาคารที่เราได้มาจะเป็นการให้รางวัลในระดับเดียวกัน คือได้ชื่อว่าเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น การให้รางวัลของเราในบางครั้งมีการให้รางวัล โดยที่แท้จริงแล้วยังไม่ได้เกิดการอนุรักษ์จริง ๆ ยังไม่ได้มีการออกแบบหรือใดๆ ก็ตาม เราให้รางวัลกับอาคารที่มีคุณค่าแต่สังคมมองไม่เห็น และกำลังจะถูกรื้อทิ้ง เราจึงให้รางวัลนั้นเพื่อหยุดการรื้อถอน ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับการที่เราต้องการจะสนับสนุนการออกแบบเพื่อรักษาคุณค่าของอาคาร เพราะฉะนั้นแม้แต่อาคารที่กำลังจะโดนรื้อก็สามารถได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นได้หมด นี่คือสิ่งที่ผ่านมา มาครั้งนี้เนื่องจากเราได้เห็นการให้รางวัลอาคารต่างๆ และเราได้รับแนวคิดมาจาก UNESCO ซึ่งมีการให้รางวัล Asia Pacific Award สำหรับอาคารที่เน้นในเรื่องของการออกแบบที่ดีจริง ๆ จึงมีการแบ่งระดับของรางวัลออกเป็นระดับต่าง ๆ เช่น หากออกแบบได้ดีก็ให้รางวัลระดับหนึ่ง ออกแบบได้ดีมากก็ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง หรือว่าการออกแบบได้ดีเหนือความคาดหมาย ก็เป็นอีกระดับหนึ่ง

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราจะมีการจัดระดับของรางวัล และรางวัลที่ได้นั้นเราไม่ได้ให้กับเจ้าของของอาคารเท่านั้น แต่เราจะให้กับผู้ที่ออกแบบด้วย มันจึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ออกแบบซึ่งอยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ในครั้งนั้น และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการนำศาสตร์ของการออกแบบมาใช้ในการออกแบบอาคารที่มีคุณค่าต่อไปด้วย นอกจากนั้นเรายังสร้างประเภทของรางวัลในอีกรูปแบบหนึ่งคืองานออกแบบใหม่ ในบริบททางด้านมรดก ซึ่งแต่เดิมสมาคมฯ เราไม่ได้ให้รางวัลนี้แต่ UNESCO Award มีรางวัลประเภทนี้อยู่แล้ว เราจึงนำลักษณะของการให้รางวัลแบบนี้มาเพิ่มในการให้รางวัลของสมาคมฯ ด้วย ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตจากการออกแบบที่จะจำกัดเฉพาะตัวอาคารเอง ไปสู่งานออกแบบต่อเติมหรืออาคารใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับอาคารอนุรักษ์ ว่าสามารถจะทำอย่างไรให้งานออกแบบนั้นช่วยส่งเสริมคุณค่าของอาคารเหล่านั้นด้วย

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ASA CREW: ผู้จัดงานมีความคาดหวังจากตัวสถาปนิกหรือจากคนภายนอกที่เข้ามาดูงานอย่างไร
คุณวสุ: มันก็คงตรงกับชื่องานเลยครับ เราคาดหวังว่าเขาจะได้มาพบกับมุมมองใหม่ แล้วก็คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดที่มีจากเดิมที่คิดว่ามรดกเป็นเรื่องที่ไกลตัว พอเขารับรู้ได้ว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวการที่เขาจะนำมรดกมาใช้ให้เป็นประโยชน์มันย่อมเกิดขึ้นได้ แล้วมันเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่เฉพาะสถาปนิกเท่านั้น ในส่วนของสถาปนิกก็ได้เปิดมุมมองว่าในการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับมรดกนั้นเป็นเรื่องง่ายที่เราสามารถทำได้ มันไม่ต่างอะไรกับเรื่องแนวความคิด Green มันไม่ต่างอะไรกับการที่เราจะออกแบบอะไรแล้วเราศึกษาสภาพแวดล้อมก่อนว่าในพื้นที่ของคุณมีต้นไม้กี่ต้น มีทิศทางแดดลมอย่างไร จริง ๆ แล้วสิ่งนี้ก็เหมือนกัน ในงานออกแบบของคุณมันมีข้อมูล มันมีคุณค่าที่มันเกี่ยวข้องกับคนในอดีตอยู่ในพื้นที่ของคุณ คุณก็สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และเป็นเรื่องที่อยู่ในทุกระดับของการออกแบบมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การเรียนปี 1 ของคุณจนมาถึงปัจจุบัน

ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    Boonserm Premthada | Bangkok Project Studio

    เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ กล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา และ Bangkok Project Studio ซึ่งไม่ได้เพียงเป็นที่รู้จักในวงการสถาปัตยกรรมไทยเท่านั้น หากแต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รางวัล The Royal Academy Doftman Award แล…

    โดย ASACREW
  • Talk

    François Montocchio and Architecture for Worship

    เรื่อง: วิชิต หอยิ่งสวัสดิ์ ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม และภาพส่วนตัวของฟรองซัวส์ มองโตเคียว ฟรองซัวส์ มองโตเคียว[1] (François Montocchio) เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1934 เป็นบุตรชายของเอ็ดการ์ มองโตเคียว (Edgar Montocchio) (ลูกครึ่งฝรั่งเศส-เวียดนาม) ซึ…

    โดย ASACREW
  • Talk

    พื้นที่ศิลปะในโลกสาธารณะของ Alex Face

    “ผมรักและผูกพันกับงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ อยากเป็นศิลปินจึงเลือกเรียนศิลปะพอได้มาเจอกับวัฒนธรรมของ กลุ่มวัยรุ่นคือ เพื่อนๆ ที่ชอบเล่นสเก็ตบอร์ด ทําให้รู้จักกับศิลปะกราฟฟิติ้ผ่านหนังสือสเกต็บอร์ด ผมสนใจในลวดลาย กราฟิก ฟ้อนต์ และตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์ที่ม…

    โดย asa