เรื่อง: ผศ.ดร.อมฤต หมวดทอง
ภาพ: -.-
ทำไม “เกลือ” จึงมาเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม
ก่อนจะนำเข้าสู่ประเด็น “เกลือ” ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาปัตยกรรมอย่างไร ขอย้อนกลับไปยังแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมที่ผ่านมาจากที่เคยมุ่งศึกษาตัวสถาปัตยกรรมเป็นหลัก แต่ในภายหลังเริ่มขยายวงไปสู่สภาพแวดล้อมโดยรอบ อีกทั้งศึกษาผ่านมุมของสาขาวิชาอื่น เช่น มานุษวิทยา เศรษฐศาสตร์ ที่เห็นชัดเจน ได้แก่ การมองสถาปัตยกรรมผ่านวัฒนธรรม “ข้าว” หรือ “น้ำ” ซึ่งนำมาสู่การอธิบายสถาปัตยกรรมผ่านบริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบนิเวศน์ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมรวมถึงความเชื่อเกี่ยวเนื่อง ทำให้เกิดความเฉพาะของสถาปัตยกรรมที่คมชัดขึ้นกว่าที่ผ่านมา การกรุยทางของน้ำและข้าวจึงทำให้ “เกลือ”เกิดคำถามเทียบเคียงถึงลักษณะเฉพาะอันพึงเกิดขึ้นที่สร้างคำอธิบายทางสถาปัตยกรรมต่อไป
เกลืออยู่ร่วมกับอารยธรรมมนุษย์มายาวนาน Herring, Ann (2010) อธิบายความสำคัญว่าร่างกายมนุษย์จะขาดเกลือไม่ได้ เพราะมีเกลือหรือโซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลน้ำและเลือดในร่างกายรวมถึงความดันและการไหลเวียนของโลหิต แม้แต่น้ำคร่ำในครรภ์มารดายังมีส่วนผสมหลักเป็นโซเดียม มนุษย์ตามที่ต่าง ๆ ของโลกเรียนรู้การใช้เกลือในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ 1.เกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ (rock salt) 2.น้ำบาดาลเค็ม (saline) 3.เกลือทะเลสาบ (lake salt) 4.เกลือสมุทร (sea salt) แท้จริงแล้วเกลือคือพยานของทะเลโบราณที่มีอายุมากกว่า 100 ล้านปีเกิดขึ้นตามยุคต่าง ๆ ทางธรณีวิทยา สะสมอยู่ในชั้นใต้ดินสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก แหล่งเกลือโบราณอายุมากกว่า 400 ปีตามสถานที่ต่าง ๆ ของโลกที่อยู่ร่วมกับชุมชนโบราณ อาทิเช่น อังกฤษ ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา โบลิเวีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย โดยมีการออกแบบพื้นที่และก่อสร้างอาคารผลิตเกลือตามแต่ลักษณะทางธรณีวิทยาและสภาพภูมิประเทศของแต่ละแห่ง
เกลืออีสาน: ภาพจำและความรู้ที่ขาดช่วง
เกลืออีสานเป็นส่วนหนึ่งของทะเลโบราณในยุคครีเทเซียสที่ไหลเข้าสู่แผ่นทวีป เมื่อแผ่นดินยกตัวขึ้นทำให้เกิดแอ่งเกลือฝังอยู่ใต้ดิน 2 แอ่งได้แก่ แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช พบหลักฐานการผลิตเกลือตั้งแต่ยุคเหล็กหรือ 2,500 ปี ตามทุ่งผีโพนและทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งหนองหารสกลนคร และทุ่งกุลาเป็นต้น ด้วยระยะเวลาการผลิตที่ต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งถึงยุคอีสานพัฒนา พ.ศ.2504 ที่ทรัพยากรป่าไม้ลดลงส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาดินเค็มที่แพร่กระจายตามมา นับแต่นั้นมาภาพจำเกี่ยวกับความแห้งแล้งและดินเค็มที่เป็นปัญหากลับเด่นชัดและได้ตัดขาดจากความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ทรัพยากรที่หลากหลายของอีสาน ได้แก่ ป่าดง ป่าบุ่งป่าทามรวมถึงความรู้เรื่องบ่อเกลือและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องจากภูมิปัญญาโบราณ
มองสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมผ่านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
“สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment)” คือแนวการศึกษาที่นำศาสตร์ต่าง ๆ มาผสมผสานกันทั้ง มานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ โบราณคดีและคติชน เพื่อจะอธิบายความหมายสภาพแวดล้อมกับสถาปัตยกรรมแบบสหวิยาการ ในกรณีของสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเกลือเมื่อใช้แนวทางดังกล่าวศึกษาทำให้ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยาเพื่ออธิบายลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่าเกิดความสัมพันธ์และมีรูปแบบเป็นอย่างไร
จุดบรรจบของบนดินกับใต้ดิน จากการทบทวนเอกสาร ปกรณ์ (2545) กล่าวว่าในภาคอีสานเกิดลักษณะธรณีวิทยาที่เกลือหินใต้ดินถูกดันตัวเข้าใกล้ผิวดินในระยะไม่ต่ำกว่า 100 เมตรเรียกว่า “โดมเกลือ” (Salt Dome)จากนั้นน้ำบาดาลจะละลายเกลือหิน ให้เอ่อขึ้นมาบนผิวดิน จนแห้งให้เห็นเป็นเกลือปนดินสีขาวในช่วงฤดูแล้ง และยังมีการสะสมในรูปแบบของ “น้ำบาลเค็ม” ตามชั้นหินในระดับตื้น จากสำรวจเฝ้าสังเกต และสัมภาษณ์พบการทำเกลือพื้นบ้านอีสานที่มีอายุมากกว่า 200ปี อยู่ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ แบบน้ำบาดาลเค็ม และแบบขูดดินเค็ม
1.แบบน้ำบาดาลเค็ม พบเพียง 1 แหล่ง คือบ่อหัวแฮด จ.บึงกาฬ โดยเริ่มผลิตในฤดูแล้งหรือประมาณหลังเกี่ยวข้าว รอให้น้ำแก่งหรือน้ำที่ท่วมพื้นที่บ่อเกลือลดลง จนสามารถทำการตักน้ำบาดาลเค็มจากบ่อที่เคยขุดไว้ขึ้นมาต้ม ในอดีตออกแบบโครงสร้างไม้ยกสูงเพื่อตักลำเลียงมายัง “ตูบเกลือ” อาคารโครงไม้เนื้อแข็งมุงหลังคาทรงจั่วด้วยกระเบื้อง โดยนำน้ำบาดาลเค็มมาพักไว้ใน “แอ่ง” ลึกประมาณ 1เมตร ปูทับด้วยพื้น “สะแนน” ทำจากไม้ไผ่สาน การต้มเกลือใช้กระทะเหล็กต้มด้วยความร้อนจากฟืน ถัดจากตูบมีพื้นที่พักผ่อนแยกออกมาสำหรับนอนเฝ้าเรียกว่า “เถียง” โดยทั้งหมดออกแบบโครงสร้างวัสดุให้รับการแช่น้ำและแรงกระแทกต่าง ๆ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวชาวบ้านจะหยุดทำเกลือและเริ่มทำต่อไปในช่วงน้ำลดของปีต่อไป
2.แบบขูดดินเค็ม จากการสำรวจพบว่ามีจำนวนมากที่สุดและกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน โดยเริ่มทำเกลือในฤดูแล้งที่เกลือขึ้นสู่ผิวดิน จากนั้นทำการขูดดินมากรองเอาน้ำเค็มใส่ภาชนะรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ละท้องถิ่นออกแบบเรียกว่า ฮาง (ราง) มีทั้งทำจาก ดินเหนียว ยางรถยนต์ ท่อซีเมนต์ แต่ที่โดดเด่นและมีจำนวนมากคือ ฮางไม้ที่ทำจากท่อนซุง จากนั้นนำมาต้มด้วยกระทะสังกะสีในเพิงที่ออกแบบให้มีลักษณะชั่วคราวด้วยวัสดุหาง่ายตามท้องถิ่น ออกแบบให้มีน้ำหนักเบาง่ายต่อการเคลื่อนย้ายจัดเก็บในฤดูน้ำหลาก โดยสามารถนำมาใช้ใหม่ในฤดูต่อไป
การผลิตเกลืออีสานทั้งสองรูปแบบมีสิ่งศักดิ์ประจำแหล่งเกลืออีกทั้งมีการประกอบพิธีกรรมด้วยการบวงสรวงหรือไหว้เพื่อเริ่มต้นการผลิต โดยทำพิธีที่ศาลขนาดเล็กมีลักษณะเรียบง่ายหรือเป็นเพียงพุ่มไม้ธรรมดาอยู่ในบริเวณแหล่งเกลือ พิธีดังกล่าวทำสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ
สถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและล่องหนได้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
สถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเกลืออีสาน ออกแบบตอบสนองการใช้งานอย่างตรงไปตรงมา หากมองดูรูปแบบกายภาพอย่างผิวเผินจะรับรู้ถึงสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวที่แลดูทรุดโทรม ไม่ได้แสดงความวิจิตรในเชิงช่างการออกแบบ แต่ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญสถาปัตยกรรมดังกล่าวได้แสดงความรู้ความเข้าใจของคนในท้องถิ่นต่อระบบนิเวศน์น้ำหลากน้ำลดตามธรรมชาติที่เกิดจากเหตุผลธรณีวิทยา โดยเลือกที่จะออกแบบให้โครงสร้างและรอยต่อวัสดุมีรูปแบบไม่ถาวร พร้อมต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกิจกรรมจากการผลิตเกลือสู่การทำนา หรือในบางแห่งเปลี่ยนสภาพเป็นหนองน้ำ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นความรู้ทางธรณีวิทยาที่อธิบายสภาพพื้นที่นำมาสู่รูปแบบการผลิต แสดงออกคุณลักษณะทางมานุษยวิทยาที่ผู้คนปรับใช้พื้นที่และให้ความหมายความศักดิ์สิทธิ์ ในส่วนสถาปัตยกรรมนั้นเข้าไปเชื่อมต่อกับประเด็นทั้งหมดแสดงให้เห็นความซับซ้อนและภาพรวมที่เกิดขึ้นผ่านภูมิทัศน์ พืชพรรณเฉพาะถิ่นดินเค็มและสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของผู้คนต่อการออกแบบตามข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างเรียบง่าย อีกทั้งเคลื่อนย้ายและกลับมาใหม่ตามฤดูกาลผลิต
มุมมองใหม่ของสถาปัตยกรรมกับธรณีวิทยา
บทความนี้ต้องการเสนอประเด็นแหล่งเรียนรู้ประเภทมรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยาที่แตกต่างในอีกลักษณะหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเกลือหินใต้ดินกับภูมิทัศน์บนดินที่มีอยู่จำนวนมากแต่กลับไม่มีคำอธิบาย อีกทั้งยังรุ่มรวยไปด้วยความเชื่อ พิธีกรรมที่สะท้อนเรื่องราวท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับการทำเกลือพื้นบ้าน โดยปรากฏตัวตนมาเป็นพันปีโดยอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมชนอีสาน แต่กลับหายสาบสูญเนื่องจากคำนิยามและกรอบมองสถาปัตยกรรมในแบบเก่า อีกทั้งต้องการปลดเปลื้อง “มายาคติเรื่องดินเค็มอีสาน” ที่เห็นแต่ภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ โดยไม่เข้าใจภาพรวมและที่มา ผู้เขียนเห็นว่าสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเกลืออีสานมีศักยภาพสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทางอุทยานธรณีของยูเนสโก โดยท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถศึกษาขยายผลสร้างเป็นข้อเสนอใหม่ต่อแหล่งมรดกวัฒนธรรมในประเทศไทยต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
-
ชาร์ลส ไฮแอมและ รัชนี ทศรัตน์. (2542) สยามดึกดำบรรพ์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คจำกัด
-
ธิติ เฮงรัศมีและคณะ. (2535) การพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยในชนบทอีสานแถบลุ่มน้ำชี. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-
บุปผา โตภาคงาม. (2549) ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-
ปกรณ์ สุวานิช. (2552) หนังสือชุดโลกแห่งธรณีวิทยา ธรณีวิทยาแหล่งแร่โพแทช-เกลือหินของไทย. กรุงเทพฯ: คำภีร์วรรณ
-
เพียงตา สาตรักษ์. (2548) ขอบเขตและวิวัฒนาการของเกลือหินใต้ผิวดินในหมวดหินมหาสารคามในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.วารสารวิจัย มข., 10(1), 65-78
-
ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) เกลืออีสาน. วารสารศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 71-123
-
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2539) น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ:สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
-
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(2561). คู่มือการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกทางธรรมชาติเป็นแหล่งมรดกโลก ISBN 978-974-641-690-0
-
อมฤต หมวดทอง, สุพิชชา โตวิวิชญ์ และอรศิริ ปาณินท์. (2562) สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างพื้นถิ่นในวัฒนธรรมเกลืออีสาน : ข้อเสนอทางกายภาพด้านวิชาการเกลืออีสาน ,บทความสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่13 : บทความเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2561
-
Herring,Ann (2010). Tobacco & Salt Museum(English edition). Tokyo: HikariShasin Printing Center,Ltd,
-
Rapoport, Amos(1990). The meaning of the Built environment a nonverbal communication approach. Arizona: The University of Arizona Press.
-
สัมภาษณ์ ผู้ผลิตเกลือพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ