SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES

Learn / 26 พ.ย. 2019

แสงไฟในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน ถูกปรับให้สลัวลง บนจอขนาดใหญ่ที่ทุกสายตาจับจ้องปรากฏภาพสถาปัตยกรรมจากแท่งกระดาษหลากหลายรูปแบบ Shigeru Ban สถาปนิกชาวญี่ปุ่น วัย 62 ปี ผู้มีผลงานน้อยใหญ่ฝากไว้เกือบทั่วโลก เขาเริ่มต้นเล่าเรื่องราวการทำงานที่ผ่านมาด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง

ความสนใจในการทำงานสถาปัตยกรรมเพื่อผู้ประสบภัยของเขา เริ่มต้นจากคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อปี 1994 การทำงานตลอด 10 ปีให้แก่ผู้ว่าจ้างที่มีทั้งเงินและอำนาจในสังคม ทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองถึงสิ่งที่ต้องการทำในฐานะสถาปนิกคนหนึ่ง และค่อยๆ พัฒนาวิธีการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในรูปแบบของที่พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง จนในปีถัดมาเขาได้ก่อตั้งองค์กรบรรเทาสาธารณภัย ชื่อว่า Voluntary Architects’ Network (VAN) และตระเวนไปยังพื้นที่ประสบภัยต่างๆ แทบจะทั่วโลก เพื่อนำความรู้ ความสามารถของเขาไปช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการมากที่สุด แนวทางการใช้วัสดุที่แตกต่างและการออกแบบเพื่อสังคมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาได้รับรางวัลสูงสุดของวงการสถาปัตยกรรม Pritzker Architecture Prize ในปี 2014 แม้ว่าเส้นทางสายนี้จะไม่ใช่อาชีพในฝันของเขาก็ตาม

SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES

ย้อนกลับไปตั้งแต่วัย 6 ขวบ Shigeru Ban ฝันอยากเป็นช่างไม้ จากการที่ได้มีโอกาสเฝ้าดูการทำงาน สูดกลิ่นไม้ ลอบสังเกตเครื่องไม้เครื่องมือของช่างไม้ที่มาซ่อมแซมบ้านของเขาอยู่เนืองๆ แม้ไม่ได้เติบโตมาเป็นอย่างที่ฝัน แต่เส้นทางชีวิตก็นำทางเขาให้มาเป็นสถาปนิกที่ทำงานกับไม้ วัสดุจากธรรมชาติอยู่ดี ในยุคสมัยที่ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้ Shigeru Ban เลือกที่จะใช้วัสดุรีไซเคิล หรือนำไปใช้ซ้ำได้มาใช้ในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม

เขายกตัวอย่างบางผลงานจากนับร้อย มาเล่าถึงความต่อเนื่องทางความคิด การพัฒนาจากไอเดียสู่แบบก่อสร้าง ที่ต่อเติมโอกาสให้เขาได้ทำงานในโจทย์ที่ท้าทายต่างรูปแบบกันไปอยู่ตลอดเวลา

Nomadic Museum (2005), Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Nomadic Museum (2005) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาเลือกใช้วิธีเช่าตู้คอนเทนเนอร์เปล่ามาเรียงต่อกัน ร่วมกับแท่งกระดาษรีไซเคิล ยาวกว่า 200 เมตร สร้างเป็นที่ตั้งนิทรรศการแสดงงานภาพถ่ายของศิลปินชาวแคนาดาอย่าง Gregery Colbert บนท่าเรือฝั่งตะวันตกของแมนฮัตตัน จากนั้นทางพิพิธภัณฑ์ได้รื้อถอนแล้วนำไปจัดแสดงใหม่ที่ซานตา โมนิก้า แคลิฟอร์เนีย และเคยนำมาจัดแสดงในโตเกียว เมื่อปี 2007 ด้วย

Villa Vista (2010) Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Villa Vista (2010) ใน Weligama Bay ที่ประเทศศรีลังกา เป็นบ้านพักตากอากาศของนักธุรกิจท้องถิ่นคนหนึ่ง ที่ออกแบบให้พื้นที่ภายนอกและภายในเชื่อมโยงถึงกันผ่านประสบการณ์ของผู้อยู่อาศัย หลังจากที่เขาได้เข้าไปใช้เวลาในพื้นที่นั้นเพื่อดูแลการก่อสร้างที่พักอาศัยให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิก่อนหน้านั้น

Nicolas G Hayek Center (2007) Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Nicolas Hayek Centre (2007) อาคารหน้าแคบในกรุงโตเกียวที่ขับเน้นพลังของการออกแบบอย่างเต็มที่ ด้วยการเจาะพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารให้เป็นทางเดินทะลุไปยังถนนอีกฝั่งได้ และมีลิฟต์ไฮโดรลิกที่ส่งนักช้อปขึ้นไปยังร้านค้าแต่ละร้านได้อย่างเฉพาะเจาะจง คุShigeru Ban เล่าเรื่องเบื้องหลังถึงการสร้างอาคารแห่งนี้ว่า ในภาพเรนเดอร์เขาได้ใส่ยีราฟเข้าไปในตัวอาคารเพื่อเทียบส่วนสูงของตัวสถาปัตยกรรม แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วเจ้าของอาคารไม่เห็นยีราฟของจริงจึงไม่ยอม ทำให้เขาจำเป็นต้องออกเงินเพื่อสร้างประติมากรรมยีราฟเพิ่มเข้าไปเอง

Centre Pompidou-Metz (2010) Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Centre Pompidou-Metz (2010) ประเทศฝรั่งเศส
ผลงานชิ้นเอกที่เป็นส่วนต่อขยายของ Pompidou Center ในปารีส เขาเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานว่าทีมสถาปนิกใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของ Pompidou Center สำหรับทำงาน โดยตัวอาคารนี้อยู่ในเมือง สร้างจากไม้ลามิเนตดัดโค้งสานกันไปมาเป็นรูปหกเหลี่ยม ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะการขึ้นรูปของหมวกไม้ไผ่สานของชาวจีน หลังคาทำจากไฟเบอร์กลาสเคลือบเทปลอน โปร่งแสงพอที่จะทำให้ภายในอาคารมีสว่างอย่างเพียงพอ บานหน้าต่างแต่ละบานหันไปยังอนุสาวรีย์ และบรรดาโบสถ์ที่อยู่รายรอบ

Oita Prefectural Art Museum (2014) Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Oita Prefectural Art Museum (2014) เมือง Oita ประเทศญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกออกแบบให้พื้นที่ชั้นล่างเปิดโล่งสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เน้นให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ “เปิด” เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนกล้าเดินเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างไม่รู้สึกว่าถูกตัวอาคารอันใหญ่โตข่มขวัญ เชื่อมโยงพื้นที่ภายนอกกับภายในได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้บานพับกระจกขนาดใหญ่ที่เปิดปิดได้สำหรับจัดสรรพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ให้ตอบรับกับการใช้งานแต่ละช่วงเวลาได้อย่างอิสระ

Mt.Fuji World Heritage Centre (2017), Courtesy of Shigeru Ban Architects.

Mt.Fuji World Heritage Centre (2017)  Fujinomiya, Shizuoka ประเทศญี่ปุ่น
อาคารแห่งนี้ Shigeru Ban ชนะการประกวดแบบด้วยการนำรูปทรงของภูเขาไฟฟูจิมากลับด้าน แล้วสะท้อนเป็นภูเขาอีกลูกผ่านพื้นน้ำด้านหน้า ภายในอาคารออกแบบให้เป็นเกลียวขดม้วนที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ จากชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 5 แสดงให้เห็นภาพวิวที่แตกต่างกันออกไปของภูเขาไฟลูกนี้ ปิดท้ายด้วยภาพวิวของจริงแบบพาโนรามาเป็นรางวัลที่ชั้นบนสุด ระบบปรับอากาศของอาคารใช้การหมุนเวียนของน้ำที่เชื่อมต่อกับสระด้านหน้าที่ทำหน้าที่มากกว่าเป็นเพียงภาพสะท้อน

La Seine Musicale (2017) île Seguin, Boulogne-Billancourt, Courtesy of Shigeru Ban Architects.

La Seine Musicale (2017) île Seguin, Boulogne-Billancourt ประเทศฝรั่งเศส
หอประชุมสำหรับการแสดงดนตรีและศิลปะแห่งนี้ตั้งอยู่บน Seguin Island ที่ตะวันตกของชานเมืองปารีส นำการสานโครงสร้างไม้หกเหลี่ยมมาใช้ จุดเด่นของอาคารคือการนำแผงโซลาร์เซลล์มาสร้างเป็นทรงสามเหลี่ยมโค้งรับกับเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์

จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า Shigeru Ban ไม่ลืมที่จะสอดแทรกความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเข้าไปในทุกอาคารที่เขาลงมือออกแบบ ทำให้นอกจากความสวยงามที่สะกดสายตาผู้พบเห็นแล้ว ฟังก์ชันต่างๆ ของอาคารนั้นก็ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Shigeru Ban, Emergency Shelters at Gihembe Refugee Camp, Rwanda, 1999. Courtesy of Shigeru Ban Architects.

เมื่อหันมามองผลงานด้านการออกแบบอาคารที่พักอาศัยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ Shigeru Ban ก็ได้ทำให้โลกได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของแกนกระดาษที่ดูเหมือนจะเป็นวัสดุ “ชั่วคราว” ที่ไม่คงทนถาวรอย่างอิฐปูน เขาได้ท้าทายนิยามของความถาวรด้วยแกนกระดาษน้อยใหญ่เหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่นำวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาปรับใช้ร่วมกัน ทำให้งานสถาปัตยกรรมแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปแม้จะสร้างขึ้นจากแกนกระดาษเหมือนกัน ทำให้เขาสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

Shigeru Ban, Emergency Shelters at Gihembe Refugee Camp, Rwanda, 1999. Courtesy of Shigeru Ban Architects.

ใน Gihembe Refugee Camp ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา เมื่อปี 1994 เมื่อได้เห็นแผ่นพลาสติกสำหรับสร้างที่พักพิงชั่วคราวจาก UN แล้ว Shigeru Ban ก็อดรนทนไม่ไหว เพราะนอกจากจะไม่ฟังก์ชันในแง่การให้ความอบอุ่นหรือกันฝนให้ผู้อยู่อาศัยแล้ว ชาวรวันดายังต้องไปตัดต้นไม้มาสร้างบ้านเองด้วย เขาจึงนำแกนกระดาษมาออกแบบเป็นที่พักชั่วคราวที่แข็งแรงทนทานได้ด้วยงบประมาณเพียง 50 ดอลลาร์ต่อหลัง

Shigeru Ban, Alvar Aalto Exhibition, Tokyo, Japan, 1986. Courtesy of Shigeru Ban Architects.

ต่อมาเขาไปพิสูจน์ฝีมืออย่างต่อเนื่องในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นในปี 1995 เหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกี ปี 1999 เหตุการณ์แผ่นดินไหวทางตะวันออกของอินเดีย ปี 2001 เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวน ปี 2008 หมู่บ้านชาวประมงในศรีลังกาถูกสึนามิจากแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตราพังถล่มเสียหาย ปี 2004 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2011 เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเนปาล เมื่อปี 2015 Shigeru Ban และทีมอาสาสถาปนิกได้เข้าไปช่วยบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยอย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยวัสดุพื้นฐานนั้นมีเพียงไม่กี่อย่าง แน่นอนว่าคือ แกนกระดาษที่เป็นตัวโครงสร้างที่แข็งแรง น้ำหนักเบา ขนส่งง่าย และลังใส่เบียร์ของบริษัทเบียร์ท้องถิ่นที่ยินดีบริจาคให้ใช้สำหรับเป็นฐานรากของบ้านพักชั่วคราวเหล่านี้

Cardboard Cathedral (2013)

Cardboard Cathedral (2013) เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขาในประเทศนิวซีแลนด์ กุมภาพันธ์ ปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวที่ความรุนแรง 6.3 แมกนิจูด ทำให้ส่วนหนึ่งของ Christchurch Cathedral ในนิวซีแลนด์พังทลายลง Shigeru Ban จึงได้รับคำเชิญให้ช่วยออกแบบส่วนที่เสียหายขึ้นใหม่เป็นการชั่วคราวเพื่อกอบกู้ขวัญกำลังใจของผู้คนในเมือง เขาเลือกใช้แกนกระดาษประกอบกับตู้คอนเทนเนอร์สูง 20 ฟุตสร้างรูปทรงสามเหลี่ยมของโบสถ์ขึ้นมา เขาออกแบบให้ไม้กางเขนเป็นแกนกระดาษด้วยเช่นกันเพื่อให้เข้ากับวัสดุหลักที่ทีมสถาปนิกเลือกใช้ แม้จะถูกคัดค้านในตอนแรกว่าดูไม่สมเกียรติ แต่ด้วยทักษะการต่อรองอันชาญฉลาด Shigeru Ban ให้เหตุผลว่าคำว่ากระดาษในภาษาญี่ปุ่น พ้องเสียงกันกับคำว่า พระเจ้า จึงทำให้ทางโบสถ์ยินยอมให้ใช้ไม้กางเขนจากแกนกระดาษอย่างที่ออกแบบไว้ เช่นเดียวกันกับโบสถ์จากแกนกระดาษที่ถอดประกอบจากโบสถ์แกนกระดาษชั่วคราวในญี่ปุ่นไปสร้างใหม่ในประเทศไต้หวันหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ปี 2008 ก็ยังคงใช้งานมาจนทุกวันนี้

Shigeru Ban จึงทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า “สถาปัตยกรรมชั่วคราว” ที่อาจจะต้องทบทวนกันใหม่ ว่านิยามนั้นควรมาจากวัสดุที่สร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมา หรือว่าควรมาจากอายุการใช้งานของสถาปัตยกรรมนั้นมากกว่ากัน

ภาพบรรยากาศบางส่วนจากในงานวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน

SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES
SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES
SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES
SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Learn

    Design, When Everybody Designs: An Introduction to Design for Social Innovation

    เรื่อง: ดลลดา ชื่นจันทร์ ภาพ: Courtesy of Design, When Everybody Designs: An Introduction to Design for Social Innovation เริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ให้ภาพความเป็นไปได้ในอนาคตที่น่าเหลือเชื่อและเกือบเรียกว่าเพ้อฝันหากมองจากสภาพแวดล้อมที่ยุ่งเหยิงในสังคมปั…

    โดย ASACREW
  • Learn

    ASA TAKSIN: การเดินทางสู่โลกนิรันดร์ “กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน”

    เรื่อง: กิตติ เชาวนะ ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง การเดินทางของเราเพื่อเรียนรู้วิถีความเชื่อและศรัทธาของกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ที่สร้างการขับเคลื่อนที่น่าจับตามอง เริ่มต้นขึ้นที่สำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก ในชุมชนมุสลิมชานเมืองที่เงียบสงบของจังหวัดสตู…

    โดย ASACREW
  • Learn

    สถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเกลืออีสาน : อุทยานธรณีที่ซ่อนกายและความหมายทางมรดกวัฒนธรรม

    เรื่อง: ผศ.ดร.อมฤต หมวดทอง ภาพ: -.- ทำไม “เกลือ” จึงมาเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม ก่อนจะนำเข้าสู่ประเด็น “เกลือ” ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาปัตยกรรมอย่างไร ขอย้อนกลับไปยังแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมที่ผ่านมาจากที่เคยมุ่งศึกษาตัวสถาปัตยกรรมเป็นหลัก แต่ในภาย…

    โดย ASACREW