The Jungle Camp

Learn / 01 ต.ค. 2019

เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู
ภาพ: Multiple sources

หากใครที่ได้ติดตามข่าวการอพยพ/ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คงจะพอคุ้นหูกับชื่อ Calais camp อยู่บ้าง หรือมักเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือ The Jungle ซึ่งเป็นค่ายรองรับผู้อพยพ/ลี้ภัยที่มาจากประเทศในแถบแอฟริกาตอนเหนือและตะวันออกกลาง (ส่วนใหญ่มาจากเอริเทรีย โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดาน ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน) อันเนื่องมาจาก เหตุการณ์ความไม่สงบ สงครามกลางเมือง และความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ประกอบกับการประสบปัญหาภัยแล้ง/ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านั้น จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องอพยพเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน เสี่ยงชีวิตข้ามน้ำข้ามทะเลไปฝั่งยุโรป มุ่งหน้ามายังค่าย The Jungle ดังกล่าว ด้วยหวังเป็นที่พึ่งพิงชั่วคราว เพื่อพักรอและเตรียมการเดินทางข้ามต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ เช่น อังกฤษและกลุ่มประเทศในสแกนดิเนเวีย

บรรยากาศใน The Jungle Camp

กำเนิด The Jungle
ค่าย Jungle ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของเมืองท่า Calais (อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสและติดกับช่องแคบอังกฤษ) ค่ายแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงต้นปี ค.ศ. 2015 โดยผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกๆ ส่วนทางการฝรั่งเศสนั้นเรียกค่ายนี้ว่า Camp de la Lande (หรือแค่ Lande) ซึ่งตั้งแต่มีการจัดตั้งค่ายนี้ขึ้นมา ก็มักจะมีทั้งข่าวการจับกุมกลุ่มคนที่พยายามข้ามทะเลไปขึ้นชายฝั่งของอังกฤษ และข่าวการเสียชีวิตในการข้ามช่องแคบดังกล่าวปรากฏออกมาในสื่อเป็นระยะๆ ซึ่งจากหลายแหล่งข่าวนั้นได้ประมาณการไว้ว่าตัวเลขของผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้มีมากถึงแปดพันกว่าคน

วิถีชีวิตของผู้คนในค่ายลี้ภัย

แม้จะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าค่าย Jungle แห่งนี้เป็นสถานที่รองรับพักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยที่มีทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มวัยรุ่นและเด็กที่เดินทางโดยลำพัง แต่ทางรัฐบาลฝรั่งเศสกลับมองว่า ค่ายแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาแบบผิดกฎหมายและไม่สนับสนุนให้เกิดค่ายในลักษณะนี้ จนกระทั่งในช่วงต้นปี ค.ศ. 2016 จึงได้ออกประกาศเป็นเขตปลอดการอยู่อาศัยภายในรัศมี 100 เมตรรอบๆ ค่าย และสั่งการให้ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยเริ่มเคลื่อนย้ายออกไปจากค่ายดังกล่าว เพื่อจะได้ทำการรื้อถอน ซึ่งในขณะนั้นเอง ทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้จัดเตรียมศูนย์รับรองและที่พักขึ้นภายในค่าย (ที่ปรับเปลี่ยนจากตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า) และกระจายไปยังหลายแห่งในละแวกใกล้เคียง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นยื่นขอสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยอย่างถูกกฎหมายได้ในภายหลัง แต่ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะข้ามไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานนอกระบบหรือเพื่อขอลี้ภัยที่นั่นแทน ประกอบกับการไม่เชื่อใจในรัฐบาลฝรั่งเศสมากนัก และบางคนหวั่นเกรงว่าอาจจะถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตนที่หนีออกมาด้วยซ้ำ จึงทำให้ไม่อยากย้ายไปยังศูนย์รับรองเหล่านั้น และขอปักหลักอาศัยอยู่ในค่ายให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถนนดินใน The Jungle Camp

ซึ่งก็เกิดเป็นข้อถกเถียงกันในวงกว้างในสหภาพยุโรปต่อประเด็นเรื่องของความถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน  และอาจพูดได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ภายในค่ายนั้นอยู่ในสภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น นอกจากจะมีสาธารณูปโภคพื้นฐานบางประการที่พอช่วยทำให้สามารถดำรงชีวิตในแต่ละวันได้แล้ว ก็ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ช่วยสร้างความความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายแห่งนี้ มารวมตัวกันและทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันได้ เช่น ครัวกลาง ห้องสมุดและห้องเรียนขนาดเล็ก ลาน/สนามเด็กเล่นขนาดย่อม รวมไปถึงศาสนาสถานของทั้งชาวคริสต์และมุสลิม ซึ่งมีทั้งโบสถ์และมัสยิดหลังเล็กๆ ให้ศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาได้เข้าไปใช้ประกอบพิธีกรรม กราบไหว้ บูชาและขอพรจากพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธ์ตามความเชื่องของศาสนานั้นๆ ซึ่งก็ช่วยทำให้บางคนได้คลายความทุกข์ใจเศร้าใจและความสิ้นหวังห่อเหี่ยวลงไปได้บ้าง

แรกเริ่มสร้างโบสถ์คริสต์ St. Michaels

 

พื้นที่ทางจิตวิญญาณภายใน The Jungle
ในส่วนนี้ อยากจะขอหยิบยกโบสถ์คริสต์ St. Michaels มาขยายความให้ฟังทั้งในมิติทางสถาปัตยกรรมและพื้นที่ทางสังคม (โบสถ์เซนต์ไมเคิลส์ – นิกาย Orthodox หรือเป็นที่รู้จักในนามโบสถ์ Eritrean หรือ Ethiopian) โบสถ์หลังนี้ถือเป็นสิ่งก่อสร้างพื้นฐานที่ถูกจดจำได้มาก และมีความสำคัญที่สุดหลังหนึ่งของค่าย ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเป็นหลักแรกๆ ในช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 2015 และถือเป็นพื้นที่ส่วนรวม/พื้นที่ทางสังคมแห่งแรกๆ ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายมาชุมนุม มาพบปะพูดคุยกัน และยังเอื้อให้ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้

โบสถ์คริสต์ St. Michaels
โบสถ์คริสต์ St. Michaels

ในแง่การออกแบบและการก่อสร้างนั้น อาจมองว่าตัวโบสถ์ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัย – กลุ่มคนที่ไม่ใช่สถาปนิก/นักออกแบบโดยตรง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการออกแบบตามสัญชาติญาณ ประสบการณ์ชีวิต และความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่ตอบสนองการใช้งานอย่างตรงไปตรงมา ภายในตัวโบสถ์นั้นมีการจัดเตรียมพื้นที่หลักที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนา และมีการใส่องค์ประกอบพื้นฐานของศาสนสถานเข้ามา เช่น พื้นที่สำหรับการเทศน์ ไม้กางเขน รูปภาพของพระเยซูเจ้าและนักบุญคนสำคัญๆ ติดบนผนังห้องไว้ให้คริสต์ศาสนิกชนได้ระลึกถึง และด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ตัวโบสถ์นี้จึงถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยตามวัสดุ/สิ่งของที่หามาได้ทั้งภายในและบริเวณรอบๆ ค่าย รวมถึงผ่านการบริจาคขององค์กรอาสาสมัครต่างๆ โดยตัวโครงสร้างหลักคือเสาไม้จริงและเสริมความแข็งแรงด้วยโครงไม้อีกที ซึ่งมีผนังแผ่นไม้อัดและแผ่นพลาสติก/วัสดุสังเคราะห์ห่อหุ้มทั้งข้างนอกและข้างในตัวโบสถ์ เพื่อป้องกันอากาศที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ถือเป็นการก่อสร้างและการตกแต่งที่เรียบง่ายมาก ไม่ได้มีความใหญ่โต อลังการ หรือวิจิตรพิสดารประการใด แต่ก็ด้วยการก่อสร้างและการใช้งานที่เรียบง่ายนี้เอง ที่ทำให้ตัวโบสถ์มีความหมาย มีคุณค่าทางจิตใจแก่ผู้สร้างและผู้ใช้ และถูกจดจำได้จนกลายเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของค่ายนี้

ภายในโบสถ์คริสต์ St. Michaels

มีนักวิชาการด้านศาสนวิทยาบางคนมองว่าศาสนามีหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจหรือในเชิงจิตวิทยาแบบหนึ่ง เพราะศาสนาสามารถช่วยทำให้ความทุกข์ใจของผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยบางคนคลายลงไปได้บ้าง และมีความเห็นอีกว่าผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยบางคนนั้นก็อาจเพิ่งมารับหรือเริ่มนับถือศาสนาเมื่อตอนที่อพยพมาในค่ายก็มี เพราะเป็นทั้งการช่วยให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างในระหว่างการเดินทาง/การอพยพและเป็นการสนองตอบทางด้านจิตใจไปพร้อมกันด้วย และในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้พวกเขาได้มีกิจกรรมอะไรทำในระหว่างที่รอคอยจังหวะ/โอกาสต่างๆ ในค่าย นอกจากนี้ ยังมีอีกมุมมองที่ว่าการนับถือศาสนานั้นเป็นอัตลักษณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง กล่าวคือ คนในศาสนาเดียวกัน มักจะมีแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดความสนิทใจ/ เชื่อใจกันได้เร็วขึ้น และก็น่าจะช่วยเหลือกันได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันในค่ายและในการเดินทาง/การอพยพของพวกเขา กิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านั้นอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามปรับตัวและการมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้อย่างมีความหวัง

ภายนอกโบสถ์คริสต์ St. Michaels

ถึงแม้ว่า จะมีองค์กรนานาชาติ กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่ม NGO ทางด้านสิทธิมนุษยชน ได้พยายามคัดค้านและเรียกร้องให้ฝรั่งเศสทบทวนการรื้อ/ทำลายค่าย Jungle นี้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ทำการรื้อถอนค่ายนี้ ไปในที่สุดในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ซึ่งถือเป็นการเริ่มรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ครั้งสำคัญ และได้ทยอยรื้อถอนส่วนอื่นๆ เรื่อยมา จนกระทั่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ได้ทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างทุกหลังในค่ายนี้หมดสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ และคาดการณ์ว่ามีผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยมากกว่าหกพันคนได้ถูกส่งตัวเคลื่อนย้ายด้วยรถบัสไปยังศูนย์รับรองในสถานที่ต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส

ภายในโบสถ์คริสต์ St. Michaels

มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในปฏิบัติการของการรื้อ/ทำลายค่ายครั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสได้ทยอยทำการรื้อถอนที่พักและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไปแล้วนั้น แต่ยังคงเก็บโบสถ์เซนต์ไมเคิลส์เอาไว้เป็นอาคารหลังสุดท้าย ตั้งตระหง่านกลางซากปะรักหักพังของสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตอกย้ำความเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญของค่าย ประกอบกับที่ก่อนหน้านี้ทางตัวแทน NGO และกลุ่มผู้นำทางศาสนาได้ทำการเจรจาต่อรองขอให้เก็บรักษาโบสถ์หลังนี้เอาไว้ ซึ่งในทีแรกนั้นดูเหมือนว่าทางการฝรั่งเศสมีแนวโน้มว่าจะเก็บไว้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน โบสถ์หลังนี้ก็ถูกรื้อถอนและทำลายลงไปในที่สุด

วันท้ายๆ ของโบสถ์คริสต์ St. Michaels

The Jungle ยังคงอยู่…
ถึงแม้ว่า ค่าย Jungle และโบสถ์เซนต์ไมเคิลส์จะถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่เรื่องราวต่างๆ ในค่ายแห่งนี้ก็ยังได้รับความสนใจเรื่อยมาทั้งจากองค์กรสื่อ นักเคลื่อนไหว รวมถึงสถาบันทางศิลปวัฒนธรรมและสถาบันการศึกษา มีการจัดนิทรรศการ เสวนาวิชาการ และกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องอยู่เป็นระยะๆ เช่น 2 นิทรรศการที่จะขอยกมาเป็นตัวอย่างให้พอได้เห็นภาพในช่วงท้ายนี้

ภาพการรื้อถอนโบสถ์คริสต์ St. Michaels

นิทรรศการแรกคือ Calais – From Jungle to City เป็นนิทรรศการภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวดัตช์ชื่อ Henk Wildschut ได้จัดแสดงขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Foam ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 8 เมษายน ถึง 5 มิถุนายน ค.ศ. 2016 เป็นการสื่อและเล่าถึงเรื่องราวและวิถีชีวิตของผู้คนในค่าย ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของค่ายและภาพรวมของพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านภาพถ่าย

ไม้กางเขนสีฟ้าเข้ม ที่เคยติดตั้งไว้บนหลังคาทางเข้าของโบสถ์เซนต์ไมเคิลส์

อีกนิทรรศการหนึ่งนั้นมีชื่อว่า Lande: The Calais “Jungle” and Beyonds ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ Pitt Rivers ที่เมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งยังเปิดให้เข้าชมได้ไปจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 นี้ โดยในงานดังกล่าว มีการนำเอาผลงานสร้างสรรค์บางชิ้นที่ผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัยได้ทำขึ้นเมื่อครั้งที่เคยอาศัยอยู่ในค่ายมาจัดแสดง รวมถึงไฮไลท์ที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ไม้กางเขนสีฟ้าเข้ม ที่เคยติดตั้งไว้บนหลังคาทางเข้าของโบสถ์เซนต์ไมเคิลส์ ก็ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้าวของ/สิ่งของอื่นๆ ที่ชี้ชวนให้หวนนึกว่า ครั้งหนึ่งในค่าย Jungle แห่งนี้ มีเรื่องราวและบทบันทึกแห่งชีวิตของผู้อพยพ/ผู้ลี้ภัย

อาจกล่าวได้ว่า ค่าย Jungle น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งของมนุษย์ได้ในคราวเดียวกัน ทั้งในด้านบวกและด้านลบ และถึงแม้ว่า ค่าย Jungle นี้จะไม่มีอยู่แล้ว แต่เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ของผู้คนที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายแห่งนี้ ก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเขาไปพักใหญ่ มันคงไม่อาจถูกลบเลือนลงไปได้อย่างง่ายดาย หรือสำหรับบางคนนั้นมันอาจจะคงอยู่ตลอดไป และไม่ว่าอดีตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าความทรงจำเหล่านั้นมันจะเลวร้ายหรือดีแค่ไหนก็ตาม บันทึกแห่งชีวิตบทใหม่ๆ ก็ยังคงรอคอยให้พวกเขาได้ขีดเขียนมันขึ้นมาเสมอ เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป

ป้ายหน้าค่าย The Jungle

แหล่งข้อมูลภาพอ้างอิง
– http://english.ahram.org.eg/UI/Front/MultimediaInner.aspx?NewsContentID=190972&newsportalname=Multimedia
– https://www.foam.org/museum/programme/henk-wildschuthttps://www.artsy.net/show/foam-fotografiemuseum-amsterdam-henk-wildschut-calais-from-jungle-to-city
– https://www.bbc.com/news/world-europe-35462715
– https://metro.co.uk/2016/10/30/prayers-for-the-last-time-at-the-calais-jungles-makeshift-church-6224334/?ito=cbshare%20Twitter:%20
– https://twitter.com/MetroUK%20|%20Facebook:%20
-https://www.facebook.com/MetroUK/
– https://www.woolf.cam.ac.uk/blog/religion-in-the-calais-jungle
– https://www.amnesty.org/en/latest/news/2019/06/the-jungle-may-be-gone-but-solidarity-lives-on-in-calais/
– https://www.reuters.com/article/us-europe-migrants-calais-church-idUSKBN12U0X0
– https://www.express.co.uk/news/world/646746/Calais-Jungle-Migrant-camp-Migrants-Refugees-France-Eviction-Refugees-French-police
– https://www.theguardian.com/commentisfree/2015/dec/10/calais-jungle-refugee-camp-volunteer-conditions
– https://www.independent.co.uk/voices/visiting-the-calais-camps-made-us-ashamed-to-be-british-a6744331.html
– https://www.independent.co.uk/news/world/europe/refugee-crisis-what-life-is-really-like-inside-the-jungle-in-calais-a6674256.html
– https://www.dezeen.com/2016/03/09/interview-sophie-flinder-refugee-camp-calais-france-jungle-architects-planners/
– https://www.greenleft.org.au/content/jungle%E2%80%99s-torn-down-more-refugees-die-due-western-hypocrisy
– http://www.oapen.org/viewer/web/viewer.html?file=
-http://www.oapen.org/document/1004862
– https://www.prm.ox.ac.uk/event/lande

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Learn

    IDIN x ideaPod

    เรื่อง : สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล ภาพ : HAS design and research , ideaPod งานออกแบบไทยในมุมมองชาวจีน ตัวผมเองได้มีโอกาสทำงานและใช้ชีวิตพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆในขณะอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันของงานออกแบบและสถาปัตยกรรมที่ไ…

    โดย ASACREW
  • Learn

    สถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเกลืออีสาน : อุทยานธรณีที่ซ่อนกายและความหมายทางมรดกวัฒนธรรม

    เรื่อง: ผศ.ดร.อมฤต หมวดทอง ภาพ: -.- ทำไม “เกลือ” จึงมาเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม ก่อนจะนำเข้าสู่ประเด็น “เกลือ” ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถาปัตยกรรมอย่างไร ขอย้อนกลับไปยังแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมที่ผ่านมาจากที่เคยมุ่งศึกษาตัวสถาปัตยกรรมเป็นหลัก แต่ในภาย…

    โดย ASACREW
  • Learn

    Walk & Talk with an Architect @ Tiny Museum

    บรรยากาศกิจกรรม Walk & Talk with an Architect ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 15 ท่านได้แลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์จิ๋ว (Tin…

    โดย ASACREW