Roundtable Talk: Between the Preservation and Digitization

Talk / 02 เม.ย. 2020

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

ผศ.ดร.​ชาวี​  บุษยรัตน์ และคุณมติ เสมา ตัวแทนจากบานาน่า สตูดิโอ

จากกระแสการรีโนเวตอาคารเก่าสู่พื้นที่การใช้งานแบบใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สู่การตั้งคำถามว่าอะไรควรเก็บรักษาไว้ให้เป็นความจริงแท้ดั้งเดิม อะไรควรถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ASA CREW จึงชวนคุณมติ เสมา Manager & Senior Architect ตัวแทนจากบานาน่า สตูดิโอ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม การอนุรักษ์ และการจัดทำแหล่งความรู้ผ่านทางหนังสือ และงานค้นคว้าเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม และ ผศ.ดร.​ชาวี​บุษยรัตน์ อาจารย์​ประจำคณะ​สถาปัตยกรรม​ศาสตร์​และการผังเมือง​ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์​ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลโบราณสถานแบบดิจิทัล (digital preservation) เกี่ยวกับมุมมองการอนุรักษ์ในโลกสมัยใหม่ที่ต้องแข่งกับเวลาที่กำลังหมุนไปทุกวินาที

ผศ.ดร.​ชาวี​  บุษยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลโบราณสถานแบบดิจิทัล (digital preservation)

ASA CREW: สถานการณ์การอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

มติ: มรดกทางสถาปัตยกรรม ทั้งหลายในบ้านเรา แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือแบบที่ใช้งานอยู่ กับแบบที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว แบบที่ใช้งานอยู่จะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนามากขึ้น โดยถ้าอาคารเก่านั้นเป็นของเอกชน คนทั่วไป มักจะมีความทรุดโทรม เพราะไม่มีข้อมูลที่จะใช้การอนุรักษ์

ชาวี : ผมจบเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มา ไม่ได้ทำงานอนุรักษ์โดยตรง แต่มีหน้าที่ treat ข้อมูลจากคนที่ศึกษาโบราณสถาน อาคารอนุรักษ์เหล่านี้ไว้ หลักๆ จัดการข้อมูลโบราณสถาน ด้วยคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้เทคโนโลยี 3D Scanner ภาพถ่ายจากโดรน ทำให้ภาพถ่าย 2 มิติ กลายเป็นภาพถ่าย 3 มิติ เชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นข้อความ รูปภาพ ภาพเขียน ภาพวาดเก่าด้วย เป้าหมายในการทำงานของผมมี 2 อย่าง อย่างแรกคือการเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล (digitization) อย่างที่ 2 คือนำการมาเผยแพร่ให้ผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในรูปแบบที่เขานำไปใช้ต่อได้ ซึ่งสิ่งที่ผมทำยังเป็นแนวทางที่ค่อนข้างใหม่ คนที่ทำอยู่ก็มีน้อยมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ในต่างประเทศมีรออยู่แล้ว แต่การที่จะนำเข้ามาคนยังไม่รู้จักว่าเกิดประโยชน์ยังไง คนมีเงินพร้อมจะซื้อ แต่ยังไม่มีความรู้ ส่วนคนที่มีความรู้ยังไม่มีเงิน (หัวเราะ) คงต้องรอเวลาที่เหมาะสมต่อไปอีกสักพัก แต่ถ้าถามว่าสถานการณ์ของโบราณสถานในบ้านเรามันเลวร้ายมากไหม ก็ไม่ได้แย่มากครับ กรมศิลปากรมีระบบการดูแลจัดการอยู่

คุณมติ เสมา และผศ.ดร.​ชาวี​  บุษยรัตน์ พูดคุยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์พื้นที่โบราณสถาน

ASA CREW: เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้างในการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม

มติ: ที่สำคัญมากๆ คือเทคโนโลยีพวกนี้ ช่วยย่นระยะเวลาในการเก็บข้อมูลได้มากเลย จากที่ต้องพานักเรียนไปวัดพื้นที่ เก็บข้อมูล 2 สัปดาห์ เขียนแบบอีก 1 เดือน แต่ปัจจุบันเอา 3D Scanner ไปสแกนตัวอาคาร ได้ Point Cloud มา อัปโหลดเข้าโปรแกรมเขียนแบบต่อใน AutoCAD ได้เลย 

อ.ชาวี: หรือเป็นหลักวันก็สแกนเสร็จแล้วนะครับ ทำ Post-Production อีกสัปดาห์หนึ่ง แล้วมันยิ่งเร็วขึ้น พัฒนาขึ้นตลอดด้วย แต่ก่อนผมต้องนำแต่ละรูปมาวางแล้วจิ้มว่ารูปแรกจุดนี้ รูปที่สองจุดนี้ คือจุดเดียวกัน นั่งทำทีละรูป แต่ตอนนี้มี Photogrammetry เราโยนภาพเข้าไป โปรแกรมก็จัดการให้หมดเลย ผมขอยกตัวอย่าง “บ้านห้างร.5” ที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็น เรือนไม้ทั้งหลัง ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาที่นี่ เจ้าของเป็นคุณป้าคนหนึ่งที่ได้รับมรดกตกทอดมา แต่เขาไม่ได้อยากเก็บบ้านเอาไว้ ยกให้กรมศิลปากรก็ไม่ได้ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีนโยบาย จะซ่อมเองก็ไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ ก็เลยต้องปล่อยให้ทรุดโทรมไปเรื่อยๆ เราเห็นว่าถ้าหากบ้านที่โย้เอียงขนาดนี้ แล้วไปนั่งวัดกัน ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะเสร็จ แต่พอเราเอา 3D Scanner ไปสแกนก็จบได้ในวันเดียว

คุณมติ เสมา

 มติ: นอกจากนี้ยังช่วยสันนิษฐานโบราณสถานเก่าแก่ที่เหลือเพียงแค่ฐานได้ สแกนขนาด ใส่ข้อมูลเข้าไป ขึ้นเป็นสามมิติ แล้วให้นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์มาต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

ชาวี: นอกจากนี้ยังใช้ในการตรวจสอบการพังทลายได้ด้วย ปีนี้สแกนครั้งหนึ่ง ปีหน้าสแกนซ้ำ เพื่อตรวจสอบว่ามีการพังทลายไปมากแค่ไหน วิกฤติแล้วหรือยัง ต้องเสริมความแข็งแรงไหม หรือเมื่อมีการค้นพบโบราณสถานแห่งใหม่ แต่ยังไม่มีงบประมาณมาจัดการ ก็เปิดหน้าดินขึ้นมา สแกนข้อมูลเก็บไว้ แล้วกลบกลับไปเหมือนเดิม เพื่อป้องกันความเสียหาย ระหว่างรอเวลาปรับปรุง

ผศ.ดร.​ชาวี  ​บุษยรัตน์

ASA CREW: เทรนด์เกี่ยวกับการรีโนเวตอาคารเก่ากลับมาใช้ใหม่ หรือกระแสความนิยมของเก่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะส่งผลต่อการอนุรักษ์ไหม

มติ: วิธีการแบบ Adaptive Reuse ใช้กันในต่างประเทศมานาน 20-30 ปีแล้ว ตึกในยุโรปที่มีมาเป็นร้อยปี ก็นำมาปรับใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่เป็นไปในแนวการถ่ายรูป เช็กอินผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนหันกลับมามองว่าเราจะทำอะไรกับสิ่งที่มีอยู่ได้บ้าง แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ก็ยังมีอยู่น้อยมาก ช่างฝีมือก็ต้องชำนาญกว่าปกติ ปูนก็มีไม่กี่แบบ ไม่กี่สี การจัดการความชื้น การผุกร่อน ความรู้เรื่องงานไม้ในบ้านเราน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะเราใช้ไม้น้อยลงมาก ช่างฟันช่อฟ้าที่ทำจากไม้ ทั้งประเทศน่าจะมีอยู่ไม่ถึง 5 คน จะซ่อมวัดทีต้องรอหลายปี เจ้าอาวาสไม่อยากรอแล้ว เปลี่ยนใหม่หมดเลยดีกว่า อะไรที่เขาซ่อมไม่ไหวก็จะหายไป เป็นอีกข้อจำกัดที่ต้องปล่อยให้มันพังไป

Roundtable 21

ASA CREW: เราสามารถพูดได้เต็มปากเลยไหมว่าความท้าทายในการฟื้นฟูมรดกทางสถาปัตยกรรมคือ เวลา

อ.ชาวี: มันไม่ทันจริงๆ นะครับ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยย่นระยะเวลาการเก็บข้อมูลก็จริง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงมือทำเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

มติ: ผู้รับเหมาทั้งประเทศไทย มีไม่เกิน 10 เจ้าที่ทำงานบูรณะได้ เพราะมันเป็นงานละเอียด ใช้เวลามาก ที่ทราบมาผู้รับเหมาเหล่านี้เขาโตมาจากการเป็นช่าง เรียนรู้จากกรมศิลปากรนั่นแหละ เติบโตขึ้นก็ออกมาตั้งบริษัทเอง เท่าที่ผมเข้าใจงานที่เป็นงานปูนเรียนรู้กันมาจากช่างจีนที่พัฒนาความรู้ด้านการก่อสร้างมาก่อนเรา ช่างปูนจากปีนังและภูเก็ต พัฒนาความรู้ ปรับวัสดุมาเรื่อยๆ สืบต่อกันมาเป็นทอดๆ ว่าปูนหมัก ปูนตำต้องใช้เวลากี่วัน แต่ไม่มีการเรียนการสอนจริงจัง

คุณมติ เสมา

ASA CREW: ความท้าทายด้านอื่นๆ ในการฟื้นฟูมรดกทางสถาปัตยกรรมมีอะไรอีกบ้าง

ชาวี: เรื่องภัยธรรมชาติเป็นประเด็นหลักเลย ไฟไหม้ แผ่นดินไหว นอกเหนือจากพวกนี้ก็มีกรณีอื่นๆ อย่างสงคราม ความรู้เท่าไม่ถึงการของมนุษย์ ความคะนองของคน เราอาจจะคิดว่าเราอยู่ในยุคใหม่ ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมพวกนี้แล้ว แต่ของพวกนี้มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกวัน 

มติ: เรื่องไฟไหม้นี่สำคัญนะ สายไฟในตึกแถวเก่าอันตรายมาก ผมมองว่าความเสื่อมของอาคารเกิดขึ้นทุกวัน จากลม ฝน ความชื้น สมัยก่อนที่ยังไม่มี 3D Scanner เปิดหน้าดินออกมาแล้วฝนตก อิฐต่างๆ ก็เสื่อมไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งบ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้นแป๊บเดียวก็ตะไคร่ขึ้น ในยุโรปหรือเขตทะเลทรายอยู่ได้เป็น 100 ปี 1,000 ปี

Roundtable 21

ASA CREW: กระบวนการดูแล การฟื้นฟูมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ดีต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง

มติ: ข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญมาก ข้อมูลที่ชัดเจนจะนำไปสู่เงื่อนไขต่างๆ ว่าทำอะไรได้แค่ไหน ทำเมื่อไหร่ อย่างไร แล้วจากนั้นก็ต้องมาประเมินความต้องการในการใช้งานกันต่อไป ต้องดูให้รอบด้าน เพื่อวางแผนให้เหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆ ของอาคาร โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ เอกชน โรงเรียน แต่ละอย่างต้องการการจัดการต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่นี่เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งนะ หลังจากตัดสินใจว่าจะปรับปรุงอาคารพวกนี้แล้ว ก็จะมีเรื่องอีกเยอะแยะมากมายตามมาเต็มไปหมด (หัวเราะ)

คุณมติ เสมา

ชาวี: ข้อมูลสำคัญแน่นอน เมื่อได้ข้อมูลแล้วเราจัดการข้อมูลนั้นยังไง จะ raise awareness ให้คนเห็นคุณค่ามันอย่างไร นโยบายรัฐเป็นอย่างไร ภาครัฐเป็นอย่างไร แล้วต้องดูเรื่องทัศนคติและรสนิยมของคนที่ใช้งานด้วย ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่ที่พัฒนาอาคารเป็น instagram worthy มันก็มีส่วนช่วยมากอยู่นะครับ เดินถ่ายรูปข้างหลังเป็นโบราณสถานสวยๆ มันเป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้ามา อย่างน้อยดีกว่าไม่ถูกเหลียวแลเลย หรือการได้เห็นว่ามีการต่อยอดเป็นธุรกิจที่หาเงินได้จริงๆ ก็สร้างแรงบันดาลใจต่อไปเหมือนกัน

ผศ.ดร.​ชาวี​ บุษยรัตน์

ASA CREW: สถาปนิกที่ต้องมาทำงานเกี่ยวกับมรดกทางสถาปัตยกรรม จำเป็นต้องมีทักษะหรือทัศนคติแบบใดเป็นพิเศษหรือไม่

ชาวี: ผมว่าทักษะเรียนรู้กันได้ แต่ทัศนคติสำคัญมาก คุณชอบมันไหม อินหรือเปล่า คิดว่ามันมีคุณค่าจริงๆ หรือเปล่า

มติ: สถาปนิกจะเป็นตัวกลางที่มองเห็นภาพรวม รู้ว่าควรต้องใช้อะไร ขมวดรวมคนมาช่วยกันได้ อย่างที่อ.ชาวีบอกว่าทัศนคติในการมองอาคารเก่า ความเข้าใจของเขาเป็นอย่างไร ต้องมาประสานงานทั้งหมด ถ้าทัศนคติดี ก็มีความเป็นไปได้หลายแบบ

คุณมติ เสมา

ASA CREW: ในต่างประเทศมีกระบวนการดูแลมรดกทางสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้าง

ชาวี: ผมเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ในแต่ละเมืองจะมีกฎหมายการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันไป คุณทำบ้านใหม่หมดเลยก็ได้นะ แต่ถ้าทำเหมือนเก่า เจ้าของบ้านหรือกิจการที่เก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้จะได้รับการลดหย่อนภาษี และมีหน่วยงานที่ดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ สิ่งที่แตกต่างจากในประเทศไทยคือเขาเริ่มมีการอนุรักษ์อาคารสมัยใหม่ อาคารยุคโมเดิร์นกันแล้ว

ผศ.ดร.​ชาวี​ บุษยรัตน์

มติ: นโยบายของประเทศทางยุโรปจะมีความชัดเจนในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผู้คนเขาเห็นความสำคัญตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายระดับบนสุด ส่งต่อมายังองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกฎหมายเทศบัญญัติแบบเฉพาะตัว เพราะแต่ละพื้นที่ให้ความสำคัญแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน มีข้อพิจารณาคุณค่าของเขาเอง มีบรรทัดฐานชัดเจนว่าอะไรมีคุณค่า การวางกรอบปฏิบัติของบ้านเราอาจจะเบลอๆ หน่อย พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็ยังไม่ชัด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่

ผศ.ดร.​ชาวี​ บุษยรัตน์

ASA CREW: มรดกทางสถาปัตยกรรมที่ได้รับการดูแลอย่างดีในประเทศไทย มีคุณสมบัติอย่างไร

มติ: งานที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ส่วนใหญ่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า มีขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างมีองค์ความรู้ ผมเองอยากให้คนทั่วไปได้เห็นการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี แม้วัสดุต่างๆ ที่ซ่อมแซมจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่เรื่องราวที่รายล้อมสถานที่เหล่านั้นไว้ทำให้มีเสน่ห์ มีชีวิตชีวา สื่อความหมายให้คนรุ่นต่อไปมาใช้งานได้ต่อไป

ชาวี: ผมเห็นด้วยว่าเรื่องเล่าเป็น intangible heritage อย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับอาคาร ไม่อยากให้แค่เก็บไว้ในเล่มวิจัย รู้กันอยู่แค่ไม่กี่คน ถ้าเราหยิบมันมาใช้ก็อาจจะเป็นจุดดึงดูดให้เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ได้มากขึ้น

ผศ.ดร.​ชาวี​ บุษยรัตน์ และคุณมติ เสมา
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    Façade and Trends ในความคิดเห็นของมฆไกร สุธาดารัตน์

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: Courtesy of FOS : Foundry of Space หากจะพูดถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารพาณิชย์หรือสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าขาย คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหน้าตาหรือการเลือกใช้เปลือกของอาคารนั้นส่งผลกับการตัดสินใจของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่…

    โดย ASACREW
  • Talk

    One Day with an Architect: พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: PLOT BAND “การที่เราไปเล่นดนตรีหรือว่าไปทำอย่างอื่นทำให้เราได้เอาตัวเองออกจากความหมกมุ่นของงานสถาปนิกชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งพอเรากลับมามองงานที่ทำอยู่อีกรอบ เราจะได้มุมมองที่ดีขึ้นและเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองชัดเจนขึ้น” วิทย์-พลวิทย์…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Baan Cats 2018 หลากหลายมุมเหม่อกลางอากาศ กับการกลับมารักกันใหม่ของหมู่แมว

    เรื่อง: สิริพร ด่านสกุล ภาพ: ณัฐวุฒิ มัชฌิมา Mutchima Studio สถาปนิก: ณัฐวุฒิ มัชฌิมา Mutchima Studio การเลี้ยงแมวในบ้านกำลังเป็นที่นิยม เพราะไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ลดการเกิดอุบัติเหตุ และป้องกันการติดโรค แต่บางครั้งก็ทำให้แมวเครียด วิธีจัดการไม่ให้แมวมี…

    โดย ASACREW