เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: Courtesy of Landprocess Landscape Architect

ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอดีตอธิการบดี และเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากกระแสมหาวิทยาลัยสีเขียวและแนวคิดเรื่องความยั่งยืน โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ CIDAR ซึ่งมีบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์เป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร และ Landprocess Landscape Architect เป็นผู้ออกแบบพื้นที่โดยรอบและหลังคาเขียวของอาคาร


จากที่ตั้งของอาคารที่อยู่บนเส้นแนวกลางของผังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และผังแม่บทจากทีม CIDAR ที่วางเอาไว้ว่าพื้นที่ส่วนนี้จะต้องเป็นพื้นที่สีเขียว ทีมสถาปนิกเห็นว่าตัวอาคารควรจะทำตัวเป็นเครื่องเปลี่ยนผ่านของพื้นที่สีเขียวที่ไม่ทำลายความต่อเนื่องที่มีอยู่ โดยต้องแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่มีความสำคัญกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย เป็นที่มาของรูปลักษณ์ของอาคารที่เป็นตัว H โค้งและรูปด้านที่มีลักษณะเหมือนเนินซึ่งมาจากการใช้ชื่อของอาจารย์ป๋วย ซึ่งแปลว่าเนินดินมาเป็นต้นแบบ

ในส่วนของการจัดภูมิสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปนิกจาก Landprocess ได้เสนอแนวการนำนาขั้นบันไดเข้ามาใช้เป็นต้นแบบเพื่อตอบโจทย์หลายอย่างของการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเสนอความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของทุ่งรังสิตเดิมตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง สถานศึกษา และนิคมอุตสาหกรรม หรือการออกแบบเพื่อรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน (climate resilient design) ที่เป็นประเด็นสนใจหลักของโลกด้วยวิธีทางธรรมชาติ (natural based solution) ทั้งการลดเกาะความร้อน (urban heat island) ด้วยหลังคาเขียว การจัดการกับฝุ่นมลพิษ และการจัดการกับน้ำฝน ซึ่งการใช้ขั้นบันไดที่เป็นสวนนี้สามารถชะลอการไหลของน้ำฝนได้ถึง 20 เท่าตัวเมื่อเทียบกับหลังคาคอนกรีตเรียบ

นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องของสภาพอากาศได้อย่างรอบด้านแล้วการใช้หลังคาขั้นบันไดยังตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและการประหยัดพลังงานด้วย เพราะนอกจากตัวโครงสร้างจะช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้าตัวอาคารแล้ว บนหลังคายังมีการติดตั้งแผงสุริยะที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่าครึ่งเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง


ส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมของโครงการอุทยานป๋วย 100 ปี ออกมามีความน่าสนใจทั้งในแง่อัตลักษณ์ของโครงการและความสามารถของอาคารในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน เกิดจากการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นของสถาปนิกและภูมิสถาปนิก และคงเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในการอธิบายให้คนทั่วไปมีความเข้าใจที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับภูมิสถาปัตยกรรม ว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดการกับพื้นที่เหลือของโครงการ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภาพรวมที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

Project Information
ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม Landprocess Landscape Architect
ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์
เจ้าของโครงการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คลองหลวง ปทุมธานี
สถานะ แล้วเสร็จ
พื้นที่โครงการ 20 ไร่