Minoburi

Visit / 12 ก.พ. 2020

เรื่อง: ดร.จักรสิน น้อยไร่ภูมิ
ภาพ: -.-

หากจะจำลองกระบวนการเกิดขึ้นของ มิโนะบุรี (Minoburi) ให้อยู่ในรูปของสมการอย่างง่าย ด้านซ้ายของสมการจะตั้งต้นด้วย ‘กลุ่มผู้ใช้งาน ได้แก่ เด็กและครอบครัว’ บวกกับ ‘พื้นที่สำหรับพบปะกัน’ บวกด้วย ‘ร้านค้าขนาดเล็ก’ บวกด้วย ‘พื้นที่กิจกรรมต่างๆ’ และบวกด้วย ‘พื้นที่บริการ’ อันนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่อยู่ปลายทางด้านขวาของสมการ นั่นคือ มิโนะบุรี คอมมูนิตี้สเปซ ขนาดย่อม ที่ตั้งอยู่ในแถบชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ย่านมีนบุรี

ภาพมุมสูงของ Minoburi และบริเวณใกล้เคียง

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มิโนะบุรี คือพื้นที่กิจกรรมชุมชนและพื้นที่การค้า ที่ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน โดย ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio เจ้าของและผู้ออกแบบโครงการนี้ ได้เล่าถึงที่มาของโครงการมิโนะบุรีว่า เริ่มมาจากที่ครอบครัวของปฐมาได้ย้ายบ้านจากบ้านหลังเก่ามาอยู่ในบริเวณนี้ โดยที่ในพื้นที่บ้านหลังเดิมนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นบ้าน และออฟฟิศตั้งอยู่รวมกัน ส่วนของบ้านเก่าที่ซึ่งเป็นบ้านไม้ ได้แก่ เรือนไม้เก่า หน้าต่างประตู และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้รื้อมาใช้ประกอบในบ้านหลังใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับโครงการ ในส่วนของออฟฟิศเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างเหล็ก เมื่อรื้อมาแล้วทำให้ได้เหล็กเป็นจำนวนมาก ปฐมาและครอบครัวจึงมีแนวคิดที่จะนำเหล็กที่เหลือใช้เหล่านี้ มาทำให้เกิดประโยชน์

การตกแต่งภายในโถงอเนกประสงค์

“…เบื้องแรกเลยคิดว่า เราทำพื้นที่ให้สำหรับเด็ก หลายๆ ช่วงอายุได้มาใช้บริการ ได้ทั้งเรียนทั้งเล่น แต่พอเราเริ่มทำก็มีเพื่อน พี่ น้อง ให้ความสนใจ ก็ถามว่าจะขอมาเช่าด้วยได้ไหม ก็เริ่มจากร้านละมุนลิ้น มาเป็นร้านแรก แล้วก็ตามมาด้วยร้านสเต๊ก Steakshift & Jib Bar แล้วก็ร้านกาแฟ Nitro DP ทีนี้พอเริ่มทำไปแล้วนี่ เราก็คิดว่า เด็กที่เข้ามาใช้งานที่นี่ น่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก ก็คือ อนุบาลถึงประถม เราเลยทำอาคารหนึ่งอาคารไว้สำหรับเด็กโดยเฉพาะเลย ก็ทำออกมาเป็น Mini Mino หลังจากนั้นก็มาคิดว่า เด็กเล็กเหล่านี้ จะต้องมากับผู้ปกครอง เลยอยากให้มีพื้นที่สำหรับคนทุกวัยด้วย ก็เลยจัดให้มีพื้นที่เอนกประสงค์ สำหรับจัดงาน ตามเทศกาล จัดเวิร์คช็อปต่างๆ แล้วพอทำมาแล้ว เราคิดว่า มันไม่น่าจะมีแค่นี้ ก็เลยคุยกับเจ้าของที่แปลงติดกันนี้ที่เป็นญาติกันที่เค้าไม่ได้ใช้ทำอะไร ขอพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบาสฯ กับแปลงผักให้เช่า…” ปฐมา เล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่แต่ละส่วนของโครงการ

Minoburi Section & Elevation
สระน้ำใกล้กับ Minoburi

จากความต้องการของเจ้าของโครงการ ที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กและคนทุกช่วงวัยได้มาพบปะกัน นำมาซึ่งแนวคิดในการวางผังและออกแบบสถาปัตยกรรม โดยผังของโครงการมีลักษณะคล้ายกลุ่มบ้านขนาดเล็ก ที่ประกอบขึ้นจากบ้านหลายๆ หลัง วางล้อมลานกลางหมู่บ้าน ตั้งอยู่บนที่ดินรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แคบและยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ โดยบ้านแต่ละหลัง จะมีทั้งที่เป็นร้านอาหาร ห้องเอนกประสงค์ พื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็ก (Mini Mino) และพื้นที่บริการ เช่น ห้องน้ำ พื้นที่โล่งตรงกลางเป็นสนามหญ้า สำหรับให้เด็กได้วิ่งเล่น และทำกิจกรรมต่างๆ บริเวณสุดเขตที่ดินด้านทิศเหนือ เป็นที่ตั้งของบ่อน้ำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นบ่อสำหรับบำบัดน้ำเสียภายในโครงการ ด้วยวิธีธรรมชาติ ก่อนปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ พื้นที่บริเวณด้านหลังของโครงการ เป็นพื้นที่กิจกรรม ประกอบด้วยสนามบาสเก็ตบอลขนาดมาตรฐาน 1 สนาม แปลงผักสำหรับให้คนมาเช่าปลูก และพื้นที่เที่ยวชมทุ่งดอกโสน

วิวของบาร์และโถงอเนกประสงค์จากมุมมองริมสระน้ำ

รูปร่างและรูปทรงของสถาปัตยกรรมภายในโครงการมีที่มาอันเรียบง่าย โดยเน้นการใช้รูปทรงพื้นฐาน ที่สามารถรับรู้ได้ง่ายว่าเป็นรูปทรงของบ้าน ตัวอาคารมีขนาดเหมาะสมกับสัดส่วนมนุษย์ทุกช่วงวัย ไม่เล็กไปสำหรับผู้ใหญ่ และไม่ใหญ่ไปสำหรับเด็ก โดยวางไว้ใกล้ชิดกันทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองคล้ายกับบ้าน ในส่วนของอาคาร Mini Mino ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับเด็ก จะมีการออกแบบให้เหมาะกับสัดส่วนของเด็กเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะไว้คอยให้บริการ

ห้องสุขาสำหรับเด็ก
การตกแต่งภายในคาเฟ่

โครงสร้างหลักของอาคารแต่ละหลังจะทำจากเหล็ก วัสดุมุงและผนังภายนอกเลือกใช้แผ่นเมทัลชีท เนื่องจากความสะดวก รวดเร็ว ในการก่อสร้าง และง่ายต่อการดูแลรักษา ที่สำคัญยังตอบโจทย์กับวัสดุเก่าที่มีคือเหล็ก โดยแผ่นเมทัลชีทที่เลือกใช้จะเป็นแผ่นที่มีการบุฉนวนไว้ในตัว ทำให้สามารถกันความร้อนเข้ามาสู่ภายในอาคารได้ โดยได้เลือกแผ่นเมทัลชีทที่มีสีสันต่างๆ เช่น สีครีม สีดำ สีแดง และสีน้ำเงิน ทำให้เกิดความความรู้สึกสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ

ทางเดินที่เชื่อมเข้าไปยัง Minoburi

โครงการมิโนะบุรี คือการผสมผสานที่ลงตัวระหว่าง การเป็นพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่การค้า ที่พื้นที่ใช้งานทั้งสองชนิดต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พื้นที่ทางสังคมทำหน้าที่เป็นแหล่งกิจกรรมสนองความต้องการใช้งานของคน ในขณะที่พื้นที่การค้าทำหน้าที่หารายได้มาเพื่อใช้จ่ายภายในโครงการ ให้โครงการสามารถดำเนินต่อไปได้ ทำให้ในปัจจุบัน โครงการนี้ได้เป็นมากกว่าโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ธรรมดา หากแต่เป็นพื้นที่ทางสังคม ที่เป็นศูนย์รวมกิจกรรมของผู้คนทุกเพศทุกวัยในละแวกนี้ สมกับที่ที่เจ้าของโครงการได้ตั้งใจเอาไว้

การตกแต่งภายในพื้นที่บาร์

“คือโครงการนี้ต้องบอกเลยว่า ไม่ได้มีแผนธุรกิจที่แบบว่า ลงทุนเท่านี้ คุ้มทุนเมื่อไหร่ ได้เงินกลับมาเท่าไหร่ แต่ว่ามันเป็นโครงการที่เราคิดว่า ลงเงินไปแล้ว ขอให้มันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง หมายถึงว่า ค่าเช่า ค่าบริการทั้งหลายที่เราได้จากโครงการนี้ สามารถนำมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงานของโครงการได้ เราก็พอใจแล้ว แล้วก็กับการที่ใกล้ๆ บ้านเรามีพื้นที่ให้เด็กๆ ให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ได้มาใช้งานด้วยกัน เท่านี้เราก็โอเคแล้ว” ปฐมา กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่พบปะและทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับทุกกลุ่ม ทุกวัย ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคอมมูนิตี้สเปซในย่านมีนบุรี

ภาพมุมสูงของ Minburi
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    Studio Visit: ทิศทาง สตูดิโอ

    เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ ภาพ: อนันตา ฐิตานัตต์ ทิศทาง สตูดิโอ (Tidtang Studio) เป็นสตูดิโอสถาปนิกชื่อไทยๆ ที่เน้นความเป็นไทยเข้าไปอยู่ในทุกงานที่ทำ โครงการ Busaba Ayutthaya Hostel ถือเป็นผลงานที่อธิบายทิศทางของงานสถาปัตยกรรมในแบบของทิศทาง สตูดิโอไ…

    โดย ASACREW
  • Visit

    พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี อาคาร Neo Classic บอกเล่าอดีต เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน

    อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีแต่เดิมนั้นเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้เป็นโรงเรียน…

    โดย asa
  • Visit

    Sher Maker การออกแบบร่วมกัน ไม่ใช่แค่รูปแบบ แต่เป็นกระบวนการ

    Text: อ.ดร.จิรันธนิน กิติกา Photo: Sher Maker เฌอ เมคเกอร์ (Sher Maker) เป็นกลุ่มสถาปนิกที่ทำงานออกแบบบนพื้นฐานของการปฏิบัติงานจริง คุณโอ๊ต ธงชัย จันทร์สมัคร และคุณตุ๋ย พัชรดา อินแปลง สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง เฌอเมคเกอร์ จากประสบการณ์ทำงานก่อสร้างด้วยวัส…

    โดย ASACREW