โรงเรียนบ้านคลองบอน: พื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์จากภาพวาดเพื่อสร้างภาพฝัน

Visit / 25 มี.ค. 2020

เรื่อง: กิตติ เชาวนะ
ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง

Baan Klong Bon School

ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบริเวณอ่าวพังงาระหว่างพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต “เกาะยาวใหญ่” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เพิ่มมูลค่าทวีคูณอย่างรวดเร็ว ในเกาะนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนบ้านคลองบอน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะที่ค่อนข้างเข้าถึงลำบาก แต่พบว่ามีเด็กที่มีความโดดเด่นด้านศิลปะค่อนข้างมาก และมีกิจกรรมทางศิลปะทั้งในพื้นที่โรงเรียน และภายนอกสม่ำเสมอ อีกทั้งในชุมชนโดยรอบก็มีงานหัตถกรรมชาวบ้านที่มีคุณค่าและหลากหลาย แต่ยังมีช่องว่างบางอย่าง เช่น การขาดโอกาสในการนำเสนอ หรือขาดพื้นที่กิจกรรมจากข้อจำกัดของโรงเรียนขนาดเล็ก

Baan Klong Bon School

มูลนิธิเดอะบิ้ลด์ (The Build Foundation) ร่วมกับทีมผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects (VVA) รวมถึงภาคธุรกิจในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ จึงได้ร่วมกันหารือและเห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนการสร้างสรรค์ “พื้นที่ ห้องเรียน+ศิลปะ” โดยสามารถให้นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ของหมู่บ้านและชุมชนต่อไป บนฐานคิดที่เชื่อว่าความคิดดีๆ จะดึงดูดให้คนที่ตั้งใจดีมาร่วมแรงกันได้

Baan Klong Bon School
Baan Klong Bon School
Baan Klong Bon School

ในกระบวนการทำงานออกแบบ โดยทั่วไปนักออกแบบมักพยายามสร้างงานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ สวยงาม และโดดเด่นน่าสนใจมากที่สุด แต่งานนี้มีสิ่งที่ท้าทายมากกว่านั้น อีกทั้งยังมีปัญหาและข้อจำกัดของโครงการทั้งเรื่องงบประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการที่จำกัด รวมทั้งการขนส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างบนเกาะ ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่ผู้ออกแบบและทีมงานได้ศึกษาทำความเข้าบริบทพื้นที่และผู้คน ทั้งเด็กนักเรียน ครู โรงเรียน และหมู่บ้าน ชุมชนโดยรอบ เพื่อร่วมสร้างโจทย์ที่เหมาะสมร่วมกัน

Baan Klong Bon School
Baan Klong Bon School

พื้นที่ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องศิลปะ ถูกจัดเรียงตัวอย่างเรียบง่ายเพื่อตอบโจทย์และข้อจำกัด ผู้ออกแบบได้ “ปรับ-ลด-เลื่อน พื้นที่ใช้งาน เพิ่มที่ว่าง” เพื่อสร้าง “ความเชื่อมโยง-สัมพันธ์” ระหว่างพื้นที่ส่วนต่างๆ ในอาคารสองชั้น และความต่อเนื่องกับพื้นที่ภายนอก สร้างสรรค์เป็นอาคารเรียนที่ดูเรียบง่ายแต่มีรายละเอียดของโครงสร้าง วัสดุ และการใช้พื้นที่ที่ยืดหยุ่นได้อย่างน่าสนใจ สถาปนิกเลือกที่จะสร้างบทสนทนาระหว่างอาคารใหม่หลังนี้กับสนามฟุตบอลด้านหน้าอาคาร ด้วยโถงบันไดหลักกลางอาคารที่เชื่อมโยงการใช้งานด้วยพื้นที่นั่งต่างระดับ คล้ายที่นั่งขั้นบันไดรอบสนามฟุตบอลด้านหน้าอาคาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างกำแพงกันดินในพื้นที่ลาดเอียงอีกด้วย โดยสร้างเป็นพื้นที่อเนกประสงค์รองรับการเรียนรู้และศิลปะประเภทอื่นนอกเหนือไปจากภาพวาด เช่น ผ่านการฉายภาพยนต์ บนผนังอาคาร หรือการแสดงอื่นๆ

Baan Klong Bon School

งานออกแบบในภาพรวมเป็นการสร้าง “ที่ว่างที่เหมาะสม” เหมือนเฟรมและผืนผ้าใบ รองรับการสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และศิลปะที่หลากหลายตามอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่น การสร้างหรือการเว้น “พื้นที่ว่าง” เพื่อให้เด็ก นักเรียน ครู โรงเรียน ชุมชน สังคมช่วยกันสร้างสรรค์ เติมเต็ม ต่อยอด สร้างการเติบโต และงอกงาม ได้อย่างหลากหลาย ให้ทุกคนได้ใช้งานอย่างมีความสุขและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

Baan Klong Bon School
Baan Klong Bon School

นอกจากที่โครงการนี้จะเป็นภาพสะท้อนของความทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนเพื่อสร้างภาพฝันให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เป็นผลสำเร็จที่น่าชื่นชม ได้สร้าง “ที่บ่มเพาะ” ต่อยอด พัฒนาความรู้ ความคิด ทัศนคติที่ดี ทั้งในนักเรียนและชุมชนรอบข้างแล้ว ในการดำเนินการของโครงการยังได้สร้างทัศนคติที่ดีในการทำงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมกับทีมงานออกแบบ ได้สร้างสมดุลในตัวเองในการทำงานเพื่อสังคมร่วมกับการทำงานวิชาชีพ ส่งผลให้มุมมองต่อการออกแบบเปลี่ยนไป มองสิ่งรอบตัวในมุมบวกมากขึ้น สร้างความสุขที่ได้ร่วมทำและสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างงานดีๆ ในวิชาชีพสถาปัตยกรรมต่อไป

Baan Klong Bon School

“เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะต้องสมบูรณ์ เหมือนงานทั่วไปในสำนักงานสถาปนิก แต่การที่เห็นทุกคนมาช่วยกันทำงานร่วมกัน มันดีที่สุดแล้ว” หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects กล่าวทิ้งท้าย

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    @ Saima Park & Market

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: Courtesy of Office AT At Saima Market เป็นโครงการอาคารเพื่อการพาณิชยกรรมที่ตั้งอยู่ย่านไทรม้า จังหวัดนนทบุรี โดยเป็นผลงานการออกแบบจากบริษัทสถาปนิก Office AT ที่มีความพิเศษกว่าอาคารพาณิชย์ทั่วไปคือการแบ่งพื้นที่โครงการส่วนหนึ่…

    โดย ASACREW
  • Visit

    dotLIMITED อยู่อย่างรัก(ษ์)โลก และรักษ์สถาปัตยกรรม

    เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล ภาพ: Sofography by เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู ไม่มีอะไรที่เล็กเกินไปถ้าเทียบกับความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างจิตสำนึกให้กับการดูแลสภาพแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต อันเนื่องจากการมีอยู่อย่างจำกั…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Stadtmuseum Rapperswil-Jona

    Story and Photos : Asst.Prof. Kamon Jirapong, Ph.D. Content: Brochure – 800 Years of Town History and Culture, Stadtmuseum Rapperswil-Jona Computer 3D Models & Hand Sketchs: Brochure – JANUS ASA CREW x Switzerland Tourism Switzerland …

    โดย ASACREW