Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี 

Talk / 30 ก.ย. 2019

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: Faiz Phongprasert, Charif Phorhet, Overlay และ Bossakorn Buena

บรรยากาศงาน Pattani Decoded 2019

จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน มลายูลิฟวิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง’ โดยมีพันธกิจสำคัญในการทำให้บุคคลทั่วไปมองเห็นศัพยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ของสถาปนิก นำมาสู่การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ผ่านกิจกรรมเดินสำรวจย่านถนนอา-รมย์-ดี (อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤาดี) ในเมืองปัตตานี

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พวกเขาและองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน “Pattani Decoded เทศกาลถอดรหัสปัตตานี” นิทรรศการงานออกแบบและศิลปะ นำเสนอความพยายามในการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน แม้งานจะจัดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2562  แต่เราขอส่งท้ายด้วยการพูดคุยกับ ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม มลายูลิฟวิ่ง ถึงความประทับใจที่ผ่านมา และก้าวต่อไปที่พวกต้องเริ่มเตรียมการตั้งแต่วันนี้

บรรยากาศงาน Pattani Decoded 2019

“Pattani Decoded เริ่มต้นจากปีที่แล้ว ชวนพี่หมู นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ผู้ก่อตั้ง DUCTSTORE เห็นพลังคนรุ่นใหม่ที่มาฟังบรรยาย ร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน แกคิดว่าปัตตานีควรจัด Design Week ได้แล้ว แต่ถ้าบอกว่าเป็นเทศกาลออกแบบอาจจะเข้าไม่ถึง ก็เลยเอาหลักของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 12 หมวดมาใช้เป็นจุดเริ่มต้น เราก็พยายามหาข้อมูล ทำการบ้าน เกี่ยวกับนักออกแบบ ศิลปินไทย พยายามทำให้คนเห็นความสำคัญของวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกด้วย ทั้งศิลปิน ช่างภาพ ช่างที่ไม่ควรจะถูกลืม เชิดชูบุคคลพวกนี้ให้คนข้างนอกได้เห็น ใช้เวลาเตรียมงานกันมาประมาณครึ่งปีได้

หน้าตาของคนรุ่นใหม่ของปัตตานี ในงาน Pattani Decoded 2019

“ตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนงานก็กดดัน เราไม่รู้ว่าผลตอบรับจะเป็นยังไง จะทำออกมาได้ดีแค่ไหน เราต้องของบประมาณกันเองด้วย ซึ่งก็มีจำกัดมาก ยิ่งใกล้วันงานยิ่งมีเรื่องฉุกละหุกเยอะ พลังของคนรุ่นใหม่เขาต้องการพื้นที่ตรงนี้ เป็นส่ิงที่เราประทับใจที่สุด ตอนที่เปิดรับอาสาสมัครในพื้นที่ แป๊บเดียวเขาสมัครกันมาเยอะมาก พอถึงเวลางานจริงก็ทำงานได้ดีด้วย อีกอย่างคือ เราต้องไปทาบทามศิลปิน คนทำงานในพื้นที่ เราไม่เจอคำปฏิเสธของใครเลย ขออะไรชาวบ้านเขายินดีหมด มันคืองานของทุกคนครับ มันไม่ใช่งานของเรา บ้านบางหลังเป็นบ้านร้าง โทรมมากๆ พอไปทำความสะอาด เจ้าของบ้านมาเห็นก็รู้สึกว่า บ้านเขามีคุณค่าขนาดนี้เลยเหรอ ถึงวันงานคนในพื้นที่เองยังตกใจว่าบ้านหลังนี้มันเปิดได้ยังไง เหตุผลก็คือ ก่อนหน้าที่เราค่อยๆ ทำเรื่องเดินย่าน อา-ลม-ดี ก็ไปชวนเขาคุยให้เห็นว่าเรามาคุยด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราก็ได้รับความเชื่อใจจากเขาด้วย คนเข้ามาร่วมงานเยอะๆ เขาก็ได้เห็นว่ามันมีความสำคัญจริงๆ ไม่ได้เป็นงานฉาบฉวยหรือหวือหวา 

BOUNDLESS DESIGN COMPETITION
BOUNDLESS DESIGN COMPETITION

“อย่างกิจกรรม BOUNDLESS DESIGN COMPETTITION เกิดขึ้นจากการที่ โอ๋-ชนะ สัมพลัง จาก A49HD ซึ่งทำกิจกรรมด้วยกันมาตลอด ครั้งนี้เขาได้เป็นผู้เสนอเรื่องของการประกวดแบบสถาปัตยกรรม โดยเรากำหนดว่าพื้นที่ต้องอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยที่เนื้องานนั้นไร้ขอบเขต ไม่จำเป็นต้องเป็นงานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นประติมากรรมก็ได้ ทีมงานไม่นึกว่าคนจะส่งมาเยอะมาก ราว 150 ทีมได้ รอบแรกคัดเหลือ 10 ทีม เราก็เชิญ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา คุณชนะ สัมพลัง รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนทั้งฝั่งคนจีนและมุสลิมก็มาช่วยกันตัดสินด้วย เราชวน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต คุณศรัณย์ เย็นปัญญา มาจากกรุงเทพฯ เพื่อที่จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า งานออกแบบมันเป็นของใกล้ตัว ทุกคนมีส่วนร่วมกับคำว่าออกแบบได้

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ในงาน Pattani Decoded
ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ในวันงานกิจกรรม  BOUNDLESS DESIGN COMPETITION

“เราตั้งใจว่าอยากให้มีคำถามต่อหลังจากงานจบอยู่แล้ว เรายังพูดไม่หมดในการทำเทศกาลนี้ครั้งเดียวหรอก คนที่มาเที่ยวงานก็จะรู้สึกว่างานมันเข้าถึงง่าย แน่นอนมันมีเชิงวิชาการที่หนัก แต่เราก็พยายามจะย่อยให้มันเข้าใจง่ายขึ้น ตอนนี้เราเห็นภาพแล้วว่ามันเดินต่อได้ หน่วยงานต่างๆ เริ่มหันมาสนใจ เพราะครั้งแรกที่ไปคุยเขายังนึกไม่ออก แต่ตอนนี้เขาเห็นภาพแล้ว เราก็จะพยายามต่อไปที่จะทำให้คนข้างนอกรับรู้ว่าคนข้างในเขาอยู่กันอย่างปกติ ส่วนคนข้างในก็ได้รู้ว่าเขามีของดีใกล้ตัว”

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    ศิลปะสร้างสุข ในแบบ ชลิต นาคพะวัน

    ชลิต นาคพะวัน ผู้อำนวยการ Chalit Art Project & Gallery และศิลปินแนวนามธรรมชื่อดัง อารมรณ์ดีที่มีลายเส้นการสร้างสรรค์ผลงานด้วยการใช้เทคนิคแป้งทัลคัมและยางพาราใน      โทนสีสดใสจนได้ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากแต่ในการสอนศิลปะชลิตกลับไม่ได้ให้ผ…

    โดย asa
  • Talk

    Roundtable: Animals and Me การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้สัตว์

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม การออกแบบสวนสัตว์ที่มีผู้ใช้สอยอาคารเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนุกที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันสักเท่าไร ASA CREW มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ได้แก่ คุณยงชัย อุตระ สัตวแพทย์ แ…

    โดย ASACREW
  • Talk

    ROUNDTABLE TALK: Let’s Talk about Spiritual Space

    เรื่อง : ASA CREW Team ภาพ : ชนิภา เต็มพร้อม การออกแบบหรือก่อสร้างอาคารทางศาสนาอาจจะเป็นความฝันหรือปณิธานของศาสนิกในแต่ละศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ASA CREW มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์…

    โดย ASACREW