เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: Courtesy of I LIKE DESIGN STUDIO
ตั้งอยู่บนส่วนต่อขยายของตัวเมืองกรุงเทพมหานคร อย่างถนนราชพฤกษ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นตลาดที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว สังเกตได้จากจำนวนผู้ใช้งานที่ยังคงแวะเวียนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโครงการจะเปิดตัวมากว่า 4 ปีแล้วก็ตาม โดยเราได้รับเกียรติพูดคุยกับคุณเบนซ์ ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จากบริษัท I LIKE DESIGN STUDIO ผู้ออกแบบโครงการ

ภาพแรกที่เจ้าของโครงการต้องการคืออะไร
ตอนแรกที่เจ้าของโครงการติดต่อเข้ามาเขาคาดหวังว่าโครงการเขาจะเป็นเหมือนตลาดอ.ต.ก. หรือตลาดบองมาเชร์ (Bon Marche) ซึ่งในฐานะของสถาปนิก เรามองว่าเราสามารถออกแบบให้แตกต่างออกไปได้ ในช่วงที่หารือกัน เราก็เสนอแนวทางไป แต่เจ้าของโครงการคิดว่าเราต้องการจะให้เป็น community mall หรือเปล่า ซึ่งในช่วงเวลานั้นมันค่อนข้างจะล้นตลาดแล้ว และมีหลายแห่งที่ทำออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อีกอย่างหนึ่งข้างโครงการ Food Villa ก็มี community mall อยู่แล้ว เราก็เลยพยายามอธิบายให้เจ้าของโครงการฟังว่าเรากำลังจะออกแบบตลาดสดให้เขานั่นแหละ แต่เป็นตลาดสดแบบที่ในไทยยังไม่มี เราก็หาตัวอย่างให้เจ้าของโครงการดูว่า ตลาดแบบตลาดสดในต่างประเทศมันมีการออกแบบนะ มันสามารถที่จะมีความน่าสนใจมากกว่าแค่ทำตลาดสดซ้ำๆ แบบกันไปเรื่อยๆ

ตลาดสดแบบไหนถึงเรียกว่าดีกว่าเก่า
เริ่มแรกเลยคือเรานั่งคิดกันว่าตลาดสดแบบเดิมๆ ในประเทศไทยมันดีอย่างไรและมันไม่ดีอย่างไร ที่ไม่ดีก็คือตลาดสดมักจะมืด ชื้นแฉะ ส่วนที่ขายอาหารทะเล ขายผัก ก็ปล่อยน้ำลงที่พื้น ดูสกปรก เพราะฉะนั้นเราอยากจะทำตลาดที่ดีขึ้น เราต้องคิดวิธีการให้มันสะอาด อย่างแรกเราหาวิธีจัดการกับความชื้นแฉะ โดยการเพิ่มรางระบายน้ำรอบๆ ทุกแผง อย่างที่สองแสงสว่างต้องเพียงพอและไม่ร้อน เราต้องการตลาดที่ระบายอากาศได้ดี ลูกค้าเดินได้สะดวกสบาย ส่วนแผงค้าอะไรต่างๆ เราก็คงไว้เหมือนเดิม

ส่วนประกอบต่างๆ ในโครงการมีที่มาอย่างไร
เริ่มแรกเจ้าของโครงการอยากให้โครงการตลาดขายอาหารทั้งหมด เราก็อธิบายเป็นเรื่องราวเชิงเปรียบเทียบให้เขาฟัง ว่าเดิมชาวบ้านทำการเกษตรปลูกข้าว เมื่อผลผลิตมากขึ้นจึงมีการนำมาแลกเปลี่ยนกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของการเกิดตลาด เราเปรียบเทียบฟอร์มของอาคารส่วนตลาดที่มันเหมือนเป็นก้อนจั่วมาต่อกัน ว่ามันคือแต่ละก้อนของฟาร์มที่ผลิตสินค้า ส่วนด้านหลังที่เป็น community mall เล็กๆ เป็นเหมือนบ้านเกษตรกร มีส่วนประกอบเป็นสวนและบ่อปลา

ทั้งหมดรวมกันเหมือนเราสร้างธีมขึ้นมาให้กับโครงการ ซึ่งในรายละเอียดของแต่ละส่วนเราก็ออกแบบฟอร์มที่สัมพันธ์กับทิศทางลม-แดด อย่างส่วนของตลาดที่มันเกิดหลังคาจั่วประกอบต่อๆ กัน เราก็ซ้อนทุกยอดจั่วที่ชนกันเพื่อเป็นช่องระบายความร้อน ในส่วนของการวางตัวอาคาร เราได้ซอยก้อนของตลาดเป็น 4 ส่วนเพื่อให้มันสั้นลงและระบายลมร้อนได้ดีขึ้น มีการใช้พัดลมขนาดกว้าง 7 เมตรในช่วงที่ไม่มีลมธรรมชาติ เพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี หรือการที่เราใช้วัสดุโปร่งแสงในด้านทิศเหนือเพื่อที่จะดึงเอาแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในตลาดเพื่อตอบสนองโจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนแรกว่ามันต้องสว่าง สะอาด ระบายอากาศได้ดี

USERS’ OPINIONS

“ชอบที่ product ในนี้มีความหลากหลายมากๆ ค่ะ มีโซนตลาดสำหรับแม่บ้านซื้อของสดเข้าบ้าน มีโซน food court ขายอาหารซึ่งมีหลากหลายแบบมากด้วย พอถัดเข้ามาด้านหลังก็เป็นเหมือน community mall มากขึ้น มีสนามหญ้าให้เด็กและสุนัขเล่น มีน้ำพุทำให้รู้สึกผ่อนคลาย แล้วด้านข้างก็มีร้านกาแฟ ส่วนตัวรู้สึกว่ามันครบวงจรมาก ตอบโจทย์ lifestyle ของกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางถึงบนได้ดี เทียบจากราคาสินค้าในนั้นที่ค่อนข้างต่างจากตลาดสดอื่นๆ ทั่วไป” – อัญวีณ์ อัครชมสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท

“ส่วนตลาดไม่ได้ติดแอร์แต่ก็ไม่ได้รู้สึกร้อนเลย แสงสว่างก็กำลังดี สินค้าหลากหลายตอบสนองความต้องการได้ดี อาหารเยอะมากทั้งของสดแล้วก็อาหารปรุงสำเร็จ พาสุนัขมาได้ ทำให้พื้นที่ดูมีสีสัน มีชีวิตชีวาดี ที่จอดรถก็เยอะหาที่จอดง่ายมาก”– เมธัส สมศักดิ์ ธุรกิจส่วนตัว

“มีสินค้าให้เลือกเยอะมากค่ะ ทั้งร้านอาหารและของสด ชอบมากที่สุดคือส่วนตลาด เพราะโปร่ง ไม่ร้อน ไม่อับ แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือสะอาดมาก เมื่อเทียบกับตลาดสดอื่นๆ เหมาะกับคนมีรถส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะค่ะ หรืออย่างเวลามีคนมาด้วยแล้วเขาไม่อยากเดินตลาดด้วย ก็มีพื้นที่ให้นั่งคอยเยอะมาก ทั้งส่วนที่ขายอาหารที่มีโต๊ะให้นั่งเยอะมาก ทั้งร้านกาแฟข้างๆ คิดว่าเหมาะสำหรับทุกคนดีค่ะ” – ประภัสสร พื้นพรหม เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์