MARY HELP OF CHRISTIANS CHURCH (CHAWENG)

Visit / 27 ส.ค. 2019

เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: Juti architects


จากการเพิ่มจำนวนของคริสต์ศาสนิกชนในพื้นที่เกาะสมุย ทั้งจากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือแม้แต่ชาวไทยในพื้นที่ซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น ทำให้อาคารโบสถ์เดิมไม่สามารถที่จะรองรับศาสนิกชนในพื้นที่ได้ เป็นที่มาของการสร้างโบสถ์ใหม่ในพื้นที่เฉวงน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับประทานชื่อจากพระสังฆราช โยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล ว่า ‘วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ เฉวง’


คุณจุติ กลีบบัวสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการให้ข้อมูลเอาไว้ว่าอาคารคอนกรีตสีขาวปลอดขนาด 722 ตารางเมตรนี้ ถูกออกแบบตามการตีความเนื้อหาส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ ซึ่งกล่าวถึงการรับหน้าที่โอบอุ้มพระจิตอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ในครรภ์ของพระนางมารีย์ ทำให้การออกแบบอาคารนี้มีแนวคิดการก่อร่างสถาปัตยกรรมจากการเปรียบเทียบทั้งภายในและภายนอก เห็นได้จากการที่ลักษณะของตัวอาคารมีรูปร่างคล้ายกับมือที่กำลังสวดภาวนาหรือปีกของเทวทูต ร่วมกับรัศมีของพระจิต ในขณะที่พื้นที่ภายในอาคารถูกตีความให้มีลักษณะเหมือนกับอยู่ในครรภ์ของพระแม่มารีย์ผู้ศักดิ์สิทธ์


รูปแบบภายนอกของอาคารมีรูปร่างที่สะดุดตาจากทั้งผนังอาคารและผนังทางเดินที่มีลักษณะโค้งเข้าหากึ่งกลาง สร้างรูปทรงที่เหมือนมือของผู้ภาวนาตามที่กล่าวถึงข้างต้น ความเรียบง่ายไร้ซึ่งการตกแต่งประดับประดายังสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะให้ผู้ใช้งานเพ่งความสนใจกับตนเองและพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าตัวอาคารที่เป็นเพียงศาสนสถาน ผังของอาคารมีลักษณะเป็นรูปกางเขนแบบโบสถ์คริสต์ในช่วงยุคโกธิค ร่วมกับผังที่คล้ายอุโบสถแบบไทยที่มีระเบียงภายนอกสองข้างและโถงในร่มก่อนเข้าห้องที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ผนังทางเดินทั้งสองฝั่งที่กล่าวถึงมีลักษณะเหมือนปีก ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันแสงแดดทางตรง (direct sunlight) ที่จะส่องเข้าสู่อาคาร ทำให้พื้นที่ภายในโบสถ์มีความสว่างจากแสงธรรมชาติที่มีปริมาณความสว่างกำลังดี และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระการใช้พลังงานจากการใช้แสงประดิษฐ์อีกด้วย


จากความพยายามที่จะใช้แสงและเงาตามธรรมชาติในสภาวะอากาศร้อนชื้นของเกาะสมุย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างช่องแสงที่แคบยาวและมีฉากรับเงาที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงปีกที่ยื่นขึ้นทะลุช่องแสง เพื่อสร้างขอบของเงาจากแสงแดดที่ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาจากธรรมชาติภายนอก โดยคงภาวะสบายในอาคารเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ร่วมกับการใช้ผนังกรุฉนวนโฟมกันความร้อนน้ำหนักเบาชนิดไม่ลามไฟฉาบทับด้วยคอนกรีตขาว เพื่อลดปริมาณความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่อาคาร และเป็นการลดน้ำหนักโครงสร้างอีกด้วย ขณะเดียวกันในแง่ของการบำรุงรักษานั้นมีการเคลือบผิวคอนกรีตด้วยน้ำยา self-cleaning เพื่อลดการเกิดราและคราบน้ำฝนแก่ตัวผิวคอนกรีตสีขาว


นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความเรียบง่ายและโดดเด่นในเวลาเดียวกัน ภายในห้องโถงที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนายังมีรายละเอียดในเชิงสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามา ทำให้ห้องโถงภายในอาคารดูโปร่งโล่ง


ภายในโบสถ์แห่งนี้แทบจะไร้ซึ่งการประดับประดาดังเช่นโบสถ์คริสต์อื่นๆ มีเพียงพื้นหินขัด ผนังสีขาวที่ไร้ลวดลายปูนปั้น หน้าต่างบานกระจกทั้งสองฝั่ง และช่องแสงตามตั้งที่บริเวณพระแท่นสำหรับประกอบพิธีนำแสง ซึ่งเป็นตัวกลางเปรียบเทียบแทนพระผู้เป็นผู้เจ้า ผนังซึ่งโค้งเข้าหากันทั้งสองข้างและเพดานที่มีความโค้งเล็กน้อยนั้น นอกจากจะทำให้ผู้ใช้งานอาคารมีความรู้สึกสงบและปลอดภัยเหมือนได้รับการปกป้องดั่งอยู่ในครรภ์ของมารดาอย่างที่สถาปนิกตั้งใจเอาไว้แล้ว ยังเป็นส่วนที่สร้างกรอบสายตาให้ผู้ประกอบพิธีมองตรงไปยังแท่นพิธี ช่องแสงที่แคบสูง และรูปปั้นแทนองค์พระเยซูเจ้าอีกด้วย เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในโถงพิธีกรรมก็เลือกใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ไวท์โอ๊กสีธรรมชาติที่มีความเรียบง่ายร่วมกับหินอ่อนสีขาวเทาที่กลมกลืนไปกับส่วนโครงสร้างของอาคารตามแนวคิดของสถาปนิกที่ว่า “ไร้ซึ่งการตกแต่ง คือการตกแต่งที่ดีที่สุด” องค์ประกอบทั้งหมดทำให้ห้องโถงพิธีกรรมนี้เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้ผู้ใช้งานได้มีสมาธิอยู่กับความสงบของตนเอง ศาสนพิธี และธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าได้ดีที่สุด


โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    Studio Visit: ASWA

    เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ ภาพ: อนันตา ฐิตานัตต์ Architectural Studio of Work – Aholic (ASWA) สตูดิโอออกแบบขนาดเล็กที่พลางตัวกลืนไปกับธรรมชาติรอบๆ จนผู้ที่ผ่านไปมาย่าน ถนนพหลโยธิน ซอย 2 อาจไม่ทันสังเกตเห็น ภายในมีบรรยากาศการทำงานที่เต็มไปด้วยความอบอ…

    โดย ASACREW
  • Visit

    สามย่านมิตรทาวน์ มิตรสัมพันธ์ของการเปลี่ยนผ่านย่านจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต

    “สามย่าน” ย่านเก่าแก่ของชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่อาศัยทำมาหากินกันมาช้านาน อาคารพาณิชย์ที่เรียงรายตลอดแนว ซุกซ่อนร้านอาหารลับรสเลิศอยู่หลายร้าน ซึ่งนับได้ว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปากท้องหลัก ทั้งมื้อเช้า กลางวันและค่ำ ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากรุ่น…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Chouifong Tea Cafe Phase II เมื่อแสงอาทิตย์ถูกสถาปนิกจับลงมาใช้ประโยชน์และสร้างอารมณ์ความรู้สึกในงานออกแบบ

    เรื่อง : ใจรัก จันทร์สิน ถนอมพงศ์สานต์ ภาพ : DOF Depth of Field งานออกแบบของคุณจีรเวช หงสกุล และทีมงาน IDIN Architects มักสร้างความรู้สึกเชื้อเชิญและเรียบเท่ได้ในคราวเดียวกัน อันเป็นคุณสมบัติที่ดีของสถาปนิกและการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ เป็นที่ทราบกัน…

    โดย ASACREW