Chouifong Tea Cafe Phase II เมื่อแสงอาทิตย์ถูกสถาปนิกจับลงมาใช้ประโยชน์และสร้างอารมณ์ความรู้สึกในงานออกแบบ

Visit / 25 มี.ค. 2020

เรื่อง : ใจรัก จันทร์สิน ถนอมพงศ์สานต์
ภาพ : DOF Depth of Field

งานออกแบบของคุณจีรเวช หงสกุล และทีมงาน IDIN Architects มักสร้างความรู้สึกเชื้อเชิญและเรียบเท่ได้ในคราวเดียวกัน อันเป็นคุณสมบัติที่ดีของสถาปนิกและการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า Chouifong Tea Cafe ที่จังหวัดเชียงรายนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยการดำเนินธุรกิจที่สร้างสรรค์และแตกต่าง ที่สำคัญคืองานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เชื้อเชิญอยากให้ผู้คนแวะเวียนไป จนกลายเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดที่ใครต่อใครพูดถึง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความตั้งใจในการออกแบบของสถาปนิก

Chouifong Tea Cafe Phase II

Chouifong Tea Cafe ในเฟสแรกถือกำเนิดเมื่อปี 2558 มีลูกค้าเดินทางเข้ามาใช้บริการมากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ล่าสุด Chouifong Tea Cafe เฟสสอง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้วเพื่อเป็นส่วนต่อขยายในการรองรับลูกค้าที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน การออกแบบ Chouifong Tea Cafe เฟสสอง เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การวางผังตัวอาคารที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของไร่ชาฉุยฟงซึ่งถัดมาจาก Chouifong Tea Cafe ในเฟสแรก ค่อนมาทางโรงงาน อันมีลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาสูงขึ้นมา ตัวอาคารเป็นอาคารชั้นเดียวตั้งอยู่เหนือผิวดิน มีการเปิดมุมมองกว้างบริเวณที่นั่งในคาเฟ่เพื่อสอดรับกับทิวทัศน์อันสวยงามของไร่ชา

Chouifong Tea Cafe Phase II

มีการเล่นระดับกับ slope ของตัวเนินเขาเพื่อเปิดมุมมองลดหลั่นไล่ลงไปที่ไร่ชา ช่องเปิดกว้างที่ปลายทางนี้นำมาซึ่งภาพทิวทัศน์อันสวยงาม อากาศบริสุทธิ์ และแสงแดดจากพระอาทิตย์ เป็นการดึงธรรมชาติเข้าสู่ตัวอาคารอย่างเต็มที่

Chouifong Tea Cafe Phase II

ในขณะเดียวกันตามขอบแนวของช่องเปิดอันกว้างขวางนี้สถาปนิกได้วางแนวทางลาดไว้สำหรับการเข้าถึงซึ่งรองรับการใช้งานของทุกคนรวมถึงรถเข็นผู้สูงอายุ และผู้พิการตามหลักการออกแบบของ universal design ให้สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทางตลอดแนว เนื่องจากลูกค้าที่มาเที่ยวที่ไร่ชาฉุยฟงส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นและครอบครัว ทั้งยังเป็นการเว้นระยะเพื่อรองรับฝนที่สาดเข้ามาในฤดูฝน ซึ่งรายละเอียดตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะผู้ออกแบบไม่ได้ปิดกั้นสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ แต่ทำให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ว่าฝนจะตก หรือแดดจะออก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก

Chouifong Tea Cafe Phase II

ในส่วนของ sequence ของแสงและ circulation นั้น เริ่มจากเมื่อเดินเข้ามาที่ทางเข้าของอาคาร ก็จะเริ่มต้นที่ความมืดทึบก่อน แล้วค่อยๆ สว่าง จนถึงสว่างจ้าที่ปลายทางด้านในสุด รวมทั้งการเปิดมุมมองที่เริ่มจากการปิดกั้นเสมือนเดินเข้าปากถ้ำ ทำให้ค่อยๆ เห็นภาพมากขึ้นตามแนว slope ของอาคารที่ลดหลั่นจนเปิดเห็นภาพกว้างสูงสุดที่ปลายทาง เป็นการค่อยๆ สร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์กับสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน

Chouifong Tea Cafe Phase II

นอกจากการจับแสงใส่ในอาคารจากทางช่องเปิดอันกว้างขวางนี้แล้ว เนื่องจากก้อนอาคารมีขนาดค่อนข้างใหญ่ พื้นที่ภายในบริเวณตรงกลางอาคารค่อนข้างมืด จึงมีการจับแสงธรรมชาติจากด้านบนอาคารสาดส่องลงมาสู่พื้นที่ภายในอาคาร อันเป็นพื้นที่ส่วนร้านขายของ พื้นที่ส่วนรับประทานอาหาร และคอร์ทยาร์ด ด้วยช่องเปิด skylight ที่มีการกรุกระจกใสเพื่อให้แสงส่องเข้ามาแต่ไม่รับน้ำฝน skylight นี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ

Chouifong Tea Cafe Phase II
Chouifong Tea Cafe Phase II

ด้วยรูปทรงสูงสอบที่ถูกยกขึ้นไป รูปทรงมีเหลี่ยมมุมหักไปมา เล่นล้อคล้ายภูเขาที่รายล้อมในพื้นที่ โดยยอดของภูเขานี้เป็น skylight ซึ่งฝ้าเพดานรูปร่างเหลี่ยมมุมที่หักไปมาและรูปทรงสูงสอบก่อนที่จะขึ้นไปถึงตัวกระจกนั้นล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของการออกแบบ ช่องเปิดกระจกขนาดเล็กช่วยลดปริมาณการใช้กระจกและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ทรงสูงสอบและรูปร่างที่หักไปมานั้นสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้คล้ายภูเขาอันเป็นบริบทรอบพื้นที่ ทั้งยังช่วยในการหักเหทิศทางของแสง ไม่ให้แสงส่องตรงลงมาจนร้อนระอุ แต่กระจายให้เกิดความส่องสว่างที่นุ่มนวลกับสเปซภายใน ทั้งยังเพิ่มปริมาตรของที่ว่างและพื้นที่สำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ในคอร์ทยาร์ทอีกด้วย

Chouifong Tea Cafe Phase II
Chouifong Tea Cafe Phase II

ในส่วนของผังอาคารมีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ประกอบด้วยไปด้วย คาเฟ่ที่สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 250 ที่ พื้นที่ของร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก พื้นที่ของส่วนจัดแสดงนิทรรศการเล่าประวัติของไร่ชาฉุยฟง และสาธิตวิธีการชงชา เป็นต้น ส่วนการใช้วัสดุในโครงการเน้นการแสดงออกถึงสัจจะวัสดุต่างๆ เช่น ก้อนหินภูเขาจริงที่นำมาก่อเป็นกำแพงตรงหน้าทางเข้า ไม้สนผิวสวยที่ใช้ทำพื้นและกรุฝ้าเพดาน รวมถึงงานเหล็ก และกระจก เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ล้วนคำนึงถึงผิวสัมผัส อารมณ์ความรู้สึกอันเกิดขึ้นจากเนื้อแท้ของวัสดุนั้นอย่างแท้จริงและสมบูรณ์

via GIPHY

Project Info.
Architect : IDIN Architects (Jeravej Hongsakul, Eakgaluk Sirijariyawat, Sakorn Thongdoang, Sittipong Wiriyapanich)
Interior Architect : IDIN Architects (Jureerat Korvanichakul, Siravich Pienpitak)
Owner : Shanya Wanasphitaksakul
Location : District Maechan, Chiangrai Province, Thailand
Area : 1,330 sq.m.
Year : 2016-2018

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    เนินเขาไข่มุกกับแนวคิด Zero Waste

    เรื่อง : สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล ภาพ :  HAS design and research เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานการออกแบบพาวิลเลียน Pearl Art Museum (PAM) x Life and Art boutique (LAb) ที่จัดแสดงในงาน Shanghai Design Week 2019 จัดขึ้นระหว่า…

    โดย ASACREW
  • Visit

    MARY HELP OF CHRISTIANS CHURCH (CHAWENG)

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: Juti architects จากการเพิ่มจำนวนของคริสต์ศาสนิกชนในพื้นที่เกาะสมุย ทั้งจากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือแม้แต่ชาวไทยในพื้นที่ซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น ทำให้…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Bitwise Headquarter

    เรื่อง: จักรสิน น้อยไร่ภูมิ ภาพ: พุทธิพันธ์ อัศวกุล ย้อนกลับไปในช่วงระหว่าง 30 ปี ถึง 15 ปี ปีก่อนคริสตศักราช มาคัส วิทรูเวียส สถาปนิกและวิศวกรเอกแห่งอาณาจักรโรมัน ได้เขียนตำราสถาปัตยกรรมนามว่า De architectura ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นตำราด้านสถาปัตยกรรมเพี…

    โดย ASACREW