Cat Cafe’ Home รีฟอร์มวิถีชีวิต ด้วยสัดส่วนของเพื่อนร่วมชีวิตและจังหวะในการเข้าหากัน

Talk / 18 ก.ค. 2019

เรื่อง : สิริพร ด่านสกุล
สถาปนิก: พร เลาหสุขเกษม Ponna Studio
ภาพถ่าย: พร เลาหสุขเกษม Ponna Studio


MVRDV เคยกล่าวว่า “ในโลกปัจจุบันสัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ร่มมากขึ้น มีการแบ่งปันพื้นที่กับผู้เลี้ยง มีวิถีชีวิตสอดคล้องกับมนุษย์ในชายคาเดียวกัน แต่สัตว์เลี้ยงหลายตัวต้องอยู่ในสถาปัตยกรรมที่มนุษย์เลือกเพื่อมนุษย์” หากการรีฟอร์มบ้านคือการรีฟอร์มวิถีชีวิต บ้าน Cat Cafe’ Home โดยคุณพร เลาหสุข ก็เป็นการรีฟอร์มที่เปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยปรับตามสถาปัตยกรรม…สู่วิถีชีวิตที่ปรับตามแนวคิดของการอยู่ร่วมกันของคนและแมว

Cat Cafe’ Home เป็นบ้านของคุณหมอสามีภรรยาและแมว 3 ตัว เจ้าของบ้านได้ไปสัมผัสคาเฟ่แมวแล้วใฝ่ฝันอยากได้บ้านแบบนั้น การรีฟอร์มจึงเกิดขึ้นในส่วนห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และพื้นที่หลังบ้าน โดยมีพื้นที่ของคนและแมวสอดคล้องกันไปแบบมีสัดส่วนเฉพาะแบบ

“วิธีคิดเริ่มจาก พฤติกรรมของคนและแมวที่ซ้อนทับกันเป็นสองเลเยอร์” สถาปนิกกล่าว เนื่องจากแมวเองก็มีงานประจำวันของเขา หนึ่งในนั้นคือการเดินสำรวจอาณาบริเวณ (territory) หากอาณาจักรของเขามีสิ่งกีดขวาง แมวจะเกิดความเครียด การออกแบบทางเดินเป็นอาณาจักรแมวที่เคลื่อนไหวได้สามมิติ ในพิกัดและวัสดุที่ลดอุบัติเหตุ จึงเป็นการบรรเทาความเครียดให้แมวไปโดยปริยาย

“เราเริ่มจากห้องนั่งเล่น แบ่งพื้นที่ส่วนที่ใช้ร่วมกันกับส่วนที่แยกกันใช้ วางพิกัดกิจกรรมของคนและแมว แล้วสร้างเส้นทางของแมวเป็นวงจร แต่วงจรในครัวควรถูกกำกับ วงจรของแมวจึงไม่สมบูรณ์ตลอดเวลา” สถาปนิกกำหนดกิจกรรมคนและแมวให้สอดคล้องกันไป ที่ทานอาหารของคนก็จะมีที่รับประทานอาหารของแมว ทางเดินของคนวางคู่ทางเดินของแมว กิจกรรมจะอยู่คู่กันไปในโซนเดียวกัน มีการแยกพื้นที่ตามสัดส่วน และส่วนที่ไม่แยก แม้ไม่ทำกิจกรรมพร้อมกัน แต่ความหมายของพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับการกำหนดความสูงของเส้นทางแมว สถาปนิกอ้างอิงจากจังหวะที่แมวเข้าหาคนเป็นหลัก “พื้นที่นี้เป็นการอยู่ร่วมกัน ทุกฝ่ายควรได้ผ่อนคลาย การเข้าถึงคนแบบกระโจนจากข้างหลังหรือข้างบนจะทำให้คนตกใจหรือต้องคอยระวัง ซึ่งมันเครียด เราจึงคำนึงการเข้าถึงกันและกันเป็นอย่างมาก” สถาปนิกกำหนดเส้นทางของแมวให้ต่ำกว่าศีรษะคนในแต่ละท่วงท่า ในที่ทานอาหาร ที่นั่งเล่น และจังหวะลงบันได และยกทางเดินแมวให้สูงกว่าศีรษะคนบริเวณทางสัญจรของคน หลักการนี้เป็นการออกแบบพื้นที่แยกกันอยู่ ที่เปิดโอกาสให้ย้ายตำแหน่งมาอยู่รวมกันได้ตลอดเวลาด้วยการเข้าถึงกันที่อีกฝ่ายก็อุ่นใจ

 

อีกสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญ คือ สัดส่วนของพื้นที่แมว ทั้งจังหวะกระโดดของบันได ความกว้างที่อยู่สบาย ขนาดของช่องที่อยากซุก ขนาดของรูที่อยากลอด แน่นอนว่าการคำนวนสัดส่วนนั้นเป็นหลักการของมนุษย์ แต่สถาปนิกก็หาวิธีทดสอบสมมติฐานด้วยการ…ให้แมวเป็นผู้ตรวจงาน “เราให้แมวมาตรวจงานระหว่างก่อสร้างหลายครั้ง เราออกแบบโดยคำนวณจากขนาดแมวไว้แล้ว ระหว่างตรวจงาน แมวก็ขึ้นไปเล่นให้เราดู ผลคือ สัดส่วนเป็นที่พอใจของแมว แต่ยังมีบางรูที่แมวไม่ลอด ทีมออกแบบจึงปรับสัดส่วน ให้พอดีตามการมาตรวจงานของแมว”

บ้านหลังนี้ ประยุกต์ แคทวอล์ค แคททรู และ แคทสเต็ป ให้เป็นทางเดินแมวที่หลากหลาย โดยคำนวนสัดส่วนจากขนาดของแมวจนทำให้แมวสามารถยืนแล้วยืดหางจนสุดได้ การกำกับความสูงทำให้เกิดปฎิสัมพันธ์ทางตาโดยปริยาย และเมื่อจังหวะในการเข้าถึงกันถูกออกแบบอย่างอ่อนโยน แมวก็จะลงมาทำกิจกรรมร่วมกับคนอย่างธรรมชาติ

นอกจากการออกแบบที่คำนึงถึงสัดส่วนและการเข้าถึงกันและกันแล้วนั้น ห้องหลังบ้าน ยังเป็นพื้นที่อาบแดดอ่อนๆของแมวอีกด้วย ”แมวไม่เคยมีปัญหาเรื่องอากาศในบ้าน แต่แสงและบรรยากาศของภายนอกจะมีผลต่อธรรมชาติแมว แมวบ้านนี้เป็นแมวไทยจึงจำเป็นต้องสัมผัสกับความร้อนและความเย็น เพราะสีขนจะเป็นสีหนึ่งในอุณหภูมิที่เย็น แล้วจะเปลี่ยนเป็นอีกสีหนึ่งเมื่ออุณหภูมิร้อน” สถาปนิกเล่าถึงห้องอาบแดดแมว

Kenya Hara กล่าวไว้ว่า “คนสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยอ้างอิงจากสัดส่วนมนุษย์ ตั้งแต่เก้าอี้ โต๊ะ ประตู บันได …บ้าน ต่อเนื่องไปจนถึงเมือง และสัตว์เลี้ยงก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่สร้างไว้ตามพื้นฐานของสัดส่วนมนุษย์” แต่ใน Cat Café Home หลังนี้ สถาปนิกพยายามที่จะปรับมิติของสเปสขึ้นใหม่ เพื่อผสานโลกของมนุษย์ กับโลกของแมว ให้อยู่ร่วมกันอย่างอ่อนโยน

ข้อมูลเพิ่มเติมอ้างอิงจาก:
“แนวคิดบ้านสัตว์เลี้ยง”
Nippon Hoso
Architecure for dog

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ทีมงาน ASA CREW ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักและเตรียมตัวสำหรับงานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” โดยทีมงานได้ทำการพูดคุยสั้น ๆ กับ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานจัดงานในปีนี้ เกี่ยวกับเนื้อหางาน…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Interview : รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

    เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ด้วยประสบการณ์การสอนหนังสือและการทำวิจัย อยากให้อาจารย์ช่วยสะท้อนถึงวงการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในแง่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของไทย เริ่มว่าชีวิตชาวบ้านเป็นชีวิตที่ไม่ซับซ้อน ชาวนาเลี้ยงตัวเอง พึ่…

    โดย ASACREW
  • Talk

    One Day with an Architect: One Day in a Migration Camp

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: -.- “…ความสามารถของคนในขณะที่ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย มันน่าทึ่ง น่ายกย่องเสมอ…” หวาน-สุภณา โสภณพนิช ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่ยุคโบราณบ้านเรือนหรือที่พักอ…

    โดย ASACREW