Bitwise Headquarter

Visit / 24 มี.ค. 2020

เรื่อง: จักรสิน น้อยไร่ภูมิ
ภาพ: พุทธิพันธ์ อัศวกุล

Bitwise Headquarter

ย้อนกลับไปในช่วงระหว่าง 30 ปี ถึง 15 ปี ปีก่อนคริสตศักราช มาคัส วิทรูเวียส สถาปนิกและวิศวกรเอกแห่งอาณาจักรโรมัน ได้เขียนตำราสถาปัตยกรรมนามว่า De architectura ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นตำราด้านสถาปัตยกรรมเพียงเล่มเดียวในยุคนั้นที่ยังคงเหลือหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งของสาระสำคัญที่สุดของตำราเล่มนี้คือ วิทรูเวียสได้ให้คำนิยามถึง “สถาปัตยกรรม” เอาไว้ว่า สถาปัตยกรรม (architecture) จะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ อันได้แก่ ความมั่นคงแข็งแรง (Firmness) ประโยชน์ใช้สอย (Utility) และความงาม (Commodity) และแม้เวลาจะผ่านมานาน แต่นิยามดังกล่าวนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นนิยามที่มีความอมตะ ที่ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอในทุกยุคสมัย และหากจะหยิบยกตัวอย่างของผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยในสมัยปัจจุบัน ที่สะท้อนนิยามของวิทรูเวียสได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง อาคาร Bitwise Headquarter คือผลงานลำดับต้นๆ ที่สมควรได้รับการกล่าวถึง

Bitwise Headquarter

Bitwise Headquarter เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท บิทไวส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ ตั้งอยู่บนที่ดินติดกับถนนเทพารักษ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยตั้งอยู่หน้าโรงงานของบริษัท ตัวอาคารแห่งนี้ทำหน้าที่เสมือนตัวแทน ที่จะทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้รับรู้ถึงภาพลักษณ์ขององค์กร เงื่อนไขเหล่านี้กลายเป็นโจทย์ตั้งต้นให้สถาปนิกได้นำมาใช้ออกแบบ “เบื้องต้นเลยคือการที่เป็นสำนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท เราอยากให้อาคารนี้แสดงถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของบริษัท อีกอย่างคือเมื่อคนภายนอกมองเห็นอาคารหลังนี้แล้ว อยากให้รู้สึกว่ามันมีความพิเศษ ซึ่งเราคิดว่าสิ่งที่คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ดีที่สุดก็คือ การที่มีโครงสร้างที่ยื่นออกมามากๆ” พุทธิพันธ์ อัศวกุล สถาปนิกจากบริษัท ASWA ผู้ออกแบบ กล่าวถึงที่มาของรูปทรงของอาคาร

Bitwise Headquarter

เพื่อให้ตัวอาคารสามารถสะท้อนเทคโนโลยีและความเป็นนวัตกรรมได้ดี นำมาซึ่งรูปร่างอาคารที่มีส่วนยื่นขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้า โดยมีความยาว 13 เมตร และไม่มีเสารองรับ เพื่อแสดงถึงเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่ทันสมัย ที่พยายามเอาชนะธรรมชาติ ในส่วนของรูปร่างโดยรวมของตัวอาคารมีลักษณะคล้ายกับก้อนสี่เหลี่ยมที่ถูกเฉือนและปาดไปมา ซึ่งที่มาของเส้นเฉียงเหล่านี้ มาจากระยะถอยร่นจากแนวถนนตามกฎหมาย ทำให้อาคารออกมามีรูปทรงอย่างที่ปรากฏ

Bitwise Headquarter

“ตัวโครงสร้างยื่นนี้ นอกจากจะโชว์เรื่องนวัตกรรมแล้ว เราก็พยายามจะตอบโจทย์ในเรื่องของฟังก์ชั่นต่างๆ ด้วย” พุทธิพันธ์ กล่าวเสริม โครงสร้างส่วนใหญ่ของอาคารหลังนี้เป็นโครงสร้างเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ยกเว้นในส่วนของโครงสร้างยื่นด้านหน้า ที่จะเป็นโครงถักเหล็กขนาดใหญ่ โดยภายใต้รูปทรงที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ ได้แฝงพื้นที่ใช้งานภายในไว้อย่างแนบเนียน โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 4 ชั้น ภายในประกอบด้วย พื้นที่สำนักงาน ห้องประชุม ห้องสัมมนา โชว์รูม และที่จอดรถใต้ดิน 1 ชั้น บริเวณชั้น 3 ยังมีทางเดินเชื่อมไปสู่อาคารโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่ทางด้านหลัง ใต้ส่วนยื่นขนาดใหญ่ของอาคาร ถูกใช้เป็นที่หลังคาของโถงทางเข้า

Bitwise Headquarter
Bitwise Headquarter

เอกลักษณ์ของลวดลายสามเหลี่ยมของโครงถัก ได้ถูกนำมาประยุกต์ต่อยอดเป็นลวดลายของผนังและช่องเปิดในส่วนอื่นๆ ของอาคาร โดยวัสดุที่ใช้สำหรับกรุผนังอาคารเป็นแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต ในส่วนของตัวอาคารด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านที่อยู่ติดถนน เป็นด้านที่ได้รับความร้อนจากแสงแดดมากกว่าบริเวณอื่น จึงได้มีการออกแบบให้เป็นผนังสองชั้น (double skin) ซึ่งมีลักษณะเป็นซี่ระแนงสำหรับใช้กรองแสง ลักษณะของซี่ระแนงเหล่านี้ยังสามารถเทียบเคียงได้กับแผ่นตะแกรงในเครื่องปรับอากาศ สะท้อนถึงตัวตนของบริษัท ด้านบนของอาคารยังมีแผงโซล่าเซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ภายในอาคารอีกด้วย

Bitwise Headquarter

หากนำคุณลักษณะของสถาปัตยกรรม ตามนิยามของวิทรูเวียสมาพิจารณาแล้วจะพบว่า อาคาร Bitwise Headquarter หลังนี้ มีครบทั้ง 3 ประการของคุณลักษณะการเป็นสถาปัตยกรรม ทั้งความมั่นคงแข็งแรงจากโครงสร้าง ประโยชน์ใช้สอยภายใน และความงามจากรูปทรงภายนอก อาคารหลังนี้จึงถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบัน ที่มีการผสมผสานคุณลักษณะของความเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

Bitwise Headquarter

Project Information
Architects: ASWA (Architectural Studio of Work-Aholic)
Location: Samut Prakan, Thailand
Category: Office Buidings
Lead Architects: Phuttipan Aswakool, Chotiros Techamongklapiwat
Area: 3,000 m2

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    AIS Contact Center Development & Training Arena สถาปัตยกรรมเขียวที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

    เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล ภาพ: Courtesy of Plan Architects by PanoramicStudio, YAMASTUDIO โครงการศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมเอไอเอส  เป็นทั้งศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรงานบริการและการติดต่อสื่อสารขององค์กร และเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์แก่คนรุ่นใหม่ในภาคอีสานท…

    โดย ASACREW
  • Visit

    โรงเรียนสถาปัตย์ผลิตนักคิด

    The Bartlett School of Architecture, University College London (UCL) ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะผลิตสถาปนิกเพียงอย่างเดียว แต่มีระบบการเรียนการสอนที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ทดลองและค้นคว้าหาสิ่งที่ชอบและนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับงานสถาป…

    โดย asa
  • Visit

    Kurve7 Urban Concrete Curve

    เรื่อง: สาโรช พระวงค์ ภาพ: Stu/D/O Architects และ Ketsiree Wongwan อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตนั้น พื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนคนไทย มีทั้งศาสนสถานและตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่วัดมักจะเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมทางศาสนาและงานบุญต่างๆ ส่วนตลาดมัก…

    โดย ASACREW