Kurve7 Urban Concrete Curve

Visit / 11 พ.ย. 2019

เรื่อง: สาโรช พระวงค์
ภาพ: Stu/D/O Architects และ Ketsiree Wongwan

อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตนั้น พื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนคนไทย มีทั้งศาสนสถานและตลาด ซึ่งโดยส่วนใหญ่วัดมักจะเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมทางศาสนาและงานบุญต่างๆ ส่วนตลาดมักใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อมาตลาดได้พัฒนารูปแบบที่มีลักษณะถาวรมั่นคงขึ้น มีหลังคาคลุมแดดคลุมฝนแข็งแรง จวบจนเมื่อสังคมบ้านเรามีตลาดในอีกรูปแบบหนึ่งที่พัฒนาไปตามยุคสมัยและตามกระแสโลก นั่นคือ ห้างสรรพสินค้า อาคารประเภทนี้ได้พัฒนาตัวเองไปตามยุคสมัยต่างๆ เรื่อยมา

Kurve7 Urban Concrete Curve

จากห้างสรรพสินค้าที่เน้นปิดทึบโดยรอบ เพื่อปรับอากาศภายในด้วยเครื่องปรับอากาศให้มีสภาวะน่าสบายตลอดเวลาทำการที่เรียกว่า Department Store ซึ่งได้รับความนิยมตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน แต่ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ที่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมอาคารประเภทพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ไม่สามารถสร้างในย่านชุมชนได้ จึงเริ่มมีความนิยมสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กที่สามารถแทรกตัวไปตามชุมชนต่างๆ มักมีทางเดินที่ไม่มีการปรับอากาศ และจะปรับอากาศเฉพาะในส่วนของพื้นที่ขาย/ร้านค้าต่างๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่า Community Mall

ถนนกรุงเทพกรีฑา 7 เป็นย่านชุมชนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านพักอาศัย มี Community Mall ขนาดย่อมชื่อว่า Kurve7 ที่สเกลไม่ใหญ่แทรกเข้ามาในเนื้อเมืองของย่านนี้ ตัวโครงการดูกลมกลืนไปกับชุมชนโดยรอบ มันเป็นทั้งศูนย์รวมของผู้คนในชุมชนโดยรอบ มีโปรแกรมที่เป็นทั้งตลาด ร้านค้าและแหล่งพบปะของผู้คนในย่านนี้ โดยมี Stu/D/O Architects เป็นผู้ออกแบบโครงการนี้

Kurve7 Urban Concrete Curve

ก่อนที่เข้ามาถึงยังตัวโครงการ จะพบกับภาพในแนวระดับสายตาที่เป็นรั้วบ้าน หลังคาบ้าน ที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีการล้อไปกับความเป็นย่านพักอาศัยหนาแน่นทั่วไปของกรุงเทพฯ จนเมื่อมาถึงยังบริเวณด้านหน้าโครงการ ภาพของรั้วและหลังคาได้หายไป กลายเป็นผืนกระจกที่ถูกคลุมด้วยเส้นหลังคาคอนกรีตเรียบบาง และสายตาจะถูกชักนำให้ไปหยุดที่คอร์ตกลางด้านหน้าที่มีต้นไม้ทะลุหลังคาคอนกรีตสู่ท้องฟ้า ตัวอาคารถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วยส่วนด้านหน้าโครงการที่ติดถนน เป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และด้านหลังซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นพื้นที่ให้เช่า ชั้นบนเตรียมไว้รองรับเป็นร้านอาหารพร้อมระเบียงไม้ภายนอก

สถาปนิกสร้างการเข้าถึง (approach) ด้วยเส้นโค้งด้านหน้าโครงการให้เว้าเข้า พร้อมกับสร้างจุดนำสายตาด้วยการเติมต้นไม้ เนื่องจากกรอบอาคารด้านหน้ามีระยะไม่ห่างจากถนนมาก และใช้การค่อยๆ ลดหลั่นของระดับจากถนนด้านหน้าสู่ระดับพื้นโครงการ เพื่อเป็นการแบ่งขอบเขตพื้นที่ทางเท้าจากถนนและพื้นที่ด้านหน้า ระดับของพื้นที่ถูกแบ่งนี้จะทำให้พื้นที่ภายในโครงการที่ชั้น 1 อยู่ในระดับสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาจากถนน ช่วยให้เชื่อมต่อถึงกันทางสายตาได้ แต่แบ่งการใช้สอยด้วยระดับขั้นของงานภูมิสถาปัตยกรรม

Kurve7 Urban Concrete Curve

กลุ่มอาคารถูกกระจายให้เป็นพื้นที่ขายและแบ่งออกเป็น 9 ส่วน แต่ละส่วนมีขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตรตามกฎหมาย ทำให้เกิดทางเดินแทรกระหว่างอาคาร พร้อมกับเติมต้นไม้ลงไปได้ เนื่องจากรูปที่ดินมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวขนานไปกับถนนหลัก ทำให้ตัวอาคารมีลักษณะตื้น เมื่อแบ่งอาคารออกเป็นหลายส่วน ทำให้พื้นที่ทางเดินระหว่างด้านหน้าและด้านหลังมีลักษณะแคบและยาว สถาปนิกจึงเสนอวิธีแก้ปัญหาความยาวด้วยการออกแบบทางเดินด้านหลังเป็นเส้นโค้ง ซึ่งนอกจากมันจะช่วยลวงตาลดทอนความแคบยาวที่ไม่น่าเดินลงได้ มันยังทำให้มองเห็นหน้าร้านที่อยู่ปลายทางได้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนระนาบหน้าร้านให้หันเข้าสู่สายตาผู้ใช้โครงการ

พื้นที่ว่างรวมกันมีทั้งพื้นที่สีเขียวและทางเดิน จะอยู่ที่ 35% และถูกเติมด้วยต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่ตามทางเดินเพื่อสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นน่าเดิน รวมถึงแนวคิดที่ต้องการเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่เดิม 2 ต้นในผืนที่ดินด้านข้าง จึงออกแบบให้สถาปัตยกรรมแทรกไปกับต้นไม้เดิม มากกว่าที่จะตัดออกไป และทำให้มันเป็นจุดรวมสายตาของโครงการในพื้นที่ด้านหลัง

Kurve7 Urban Concrete Curve
Kurve7 Urban Concrete Curve

สิ่งที่เราจะพบได้กับงานของ Stu/D/O Architects คือความชัดเจนในเรื่องการใช้วัสดุ จากผลงานที่ผ่านมาจะมีทั้งการเล่นกับความดิบของเหล็ก ที่ตัดกับกระจกจนเกิดเอ็ฟเฟ็คต่างๆ หรือการเลือกใช้วัสดุที่สื่อสารถึงโปรแกรมอย่างกระจกไข่มุก และสำหรับงานนี้ สิ่งที่พวกเขาสนใจเลือกใช้คอนกรีตเปลือยเป็นหลัก เส้นสายที่โดดเด่นของงานชิ้นนี้คือการเชื่อมอาคารทุกหลังด้วยผืนหลังคาคอนกรีตเปลือยที่โค้งแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมองอย่างผ่านๆ จะมีความเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน จากภาษาที่มีไวยากรณ์เดียวกัน

Kurve7 Urban Concrete Curve

การเลือกคอนกรีตเปลือยผิวที่แลดูดิบมากเป็นตัวเชื่อมมวลอาคารทุกหลังของโครงการ ซึ่งแนวคิดการเลือกใช้วัสดุในลักษณะดังกล่าว คุณอภิชาต ศรีโรจนภิญโญ สถาปนิก และ co-founder แห่ง Stu/D/O Architects ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “จุดประสงค์ของการเลือกคอนกรีตคืออยากได้วัสดุที่ดูบางเบา ให้ mass ดูเชื่อมกัน อยากทดลองใช้คอนกรีต และได้ปรึกษาผู้รับเหมาก่อนออกแบบ แล้วทำเป็นคอนกรีตโค้งและบางด้วย มันเป็นวัสดุที่เป็นธรรมชาติดี เพราะโครงการนี้เราใช้อะไรที่มันไม่เป็น metallic เราพยายามจะชูเรื่องพื้นที่สีเขียว ให้วัสดุมันใกล้ชิดธรรมชาติ” ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกพื้นที่ของคนเมืองที่มีความร่มรื่นและใกล้ชิดธรรมชาติได้อีกที่หนึ่ง

Kurve7 Urban Concrete Curve

 

Project Title: Kurve 7
Project Location: Krungthep Kreetha 7 Road, Bangkok, Thailand
Client: Kurve 7 Co.,Ltd.
Program: Community Mall
Area: 4,000 square meters
Structural Engineer: Panit Supasiriluk
Mechanical Engineer: MEE Consultants
Architect: Stu/D/O Architects
Interior Architect: Stu/D/O Architects
Landscape Architect: Teerachai Tharawongthawat
Graphic Designer: Amnaj Suriyawongkul
Lighting Designer: Siriluck Chinsaengchai
Design: 2011-2012
Status: Completion 2014

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    Jouer หนึ่งพิกัดของเครือข่ายความสัมพันธ์แบบ co-creation ไร้พรมแดน

    เรื่อง: สิริพร ด่านสกุล ภาพ: SATARANA Team ในเมืองที่อัดแน่นไปด้วยอาคารและผู้คน มีกลุ่มอาคารในที่ดินผืนเล็กๆ กลางแมกไม้ ทำหน้าที่เป็นโครงการ co-creation เชิงศิลปะ ในนาม Jouer ที่แห่งนี้คอยเติมพลังชีวิตให้คนเมือง เพื่อพักผ่อน ดื่มกาแฟ ซื้อถ้วยชาม เสพง…

    โดย ASACREW
  • Visit

    ASA ESAN: เปลี่ยน ปรับ ขยับ ขยาย จากด๊ะดาด สู่ ตลาดเซนซ่า

    เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล ภาพ: Courtesy of architects, Marisa Hirunteeyakul and Kunlasri Thungsakul คงเป็นที่คุ้นตาทั่วไปที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในประเทศเราที่จะมีลานอเนกประสงค์กลางแจ้งสำหรับรองรับกิจกรรมพิเศษในพื้นที่เมือง รวมทั้งใช้เป็นที่จำหน่ายสินค้าแ…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Sattrapirom Meditation Center สถานปฏิบัติธรรมศรัทธาภิรมย์

    เรื่อง: สาโรช พระวงค์ ภาพ: Xaroj Photographic Atelier สถาปัตยกรรมพุทธศาสนาในประเทศไทยส่วนใหญ่มักมีรูปแบบประเพณีนิยม แต่หากลองดูวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาในช่วงรัตนโกสินทร์แล้ว จะพบได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย และมีวงจรที่นิยมย้อนกลับไปใช้ร…

    โดย ASACREW