Studio Visit: ทิศทาง สตูดิโอ

Visit / 18 ก.ค. 2019

เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ
ภาพ: อนันตา ฐิตานัตต์

ทิศทาง สตูดิโอ (Tidtang Studio) เป็นสตูดิโอสถาปนิกชื่อไทยๆ ที่เน้นความเป็นไทยเข้าไปอยู่ในทุกงานที่ทำ โครงการ Busaba Ayutthaya Hostel ถือเป็นผลงานที่อธิบายทิศทางของงานสถาปัตยกรรมในแบบของทิศทาง สตูดิโอได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นโครงการอันถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างชื่อเสียงให้กับทางสตูดิโอได้เติบโตอย่างรวดเร็ว

จุดเริ่มต้นของทิศทาง สตูดิโอ
ทิศทาง สตูดิโอ เริ่มมาจากกลุ่มเพื่อน 4 คน ที่มีทิศทางความคิดเดียวกัน ที่อยากสร้างห้องทดลองของการออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 จนกระทั่งเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปร่วม 7 ปี กลุ่มผู้ก่อตั้งบางคนได้แยกย้ายกันไปทำตามความฝันในสายอาชีพอื่นๆ ปัจจุบัน นอกจากคุณมิก-ภัททกร ธนสารอักษร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ก็มีคุณก้อง-สุพพัต พรพัฒน์กุล และ คุณพลอย-กานต์รวี คารวะวุฒิกุล ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในภายหลัง ด้วยแนวความคิดเริ่มต้นที่ไม่อยากให้ผลงานของบริษัทมีรูปแบบเป็นลายเซ็น ติดเป็นภาพลักษณ์เฉพาะ แต่ต้องการให้แต่ละงานมีที่มาและเรื่องราวเป็นเอกลักษณ์ของงานนั้นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ ทิศทาง สตูดิโอ

ทิศทางของความคิด
ทิศทาง สตูดิโอ พยายามใช้สิ่งของธรรมดารอบตัวๆ มาสร้างวิธีการและรูปแบบใหม่ๆ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสอดแทรกความ เป็นไทยเข้าไปอยู่ในทุกๆ ผลงานที่ทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยดั้งเดิมเท่านั้น แต่สามารถออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ ที่ประยุกต์จากการตีความใหม่บนพื้นฐานของความเป็นไทย เพื่อให้เกิดทางเลือกและการเติบโตของสถาปัตยกรรมไทยในอนาคต

รูปแบบการทำงาน
ทิศทาง สตูดิโอ เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นของความคิดสร้างสรรค์ ห้องทดลองทางงานสถาปัตยกรรม ทุกคนในสตูดิโอสามารถเสนอแนวความคิดในการออกแบบได้ ร่วมกันระดมความคิดและตกผลึกด้วยกัน จุดเริ่มต้นของไอเดียไม่จำเป็นต้องมาจากเพียงคุณมิก คุณก้อง หรือคุณพลอยเท่านั้น ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนร่วมและเป็นหนึ่งในทีมที่ออกแบบในทุกงานของทิศทาง สตูดิโอ

อีกจุดหนึ่งที่ทิศทาง สตูดิโอให้ความสำคัญ คือ ขั้นตอนการออกแบบขั้นแรกที่จะส่งให้ลูกค้า จะเป็นแบบค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว มีตั้งแต่แบบแปลนไปจนถึงภาพทัศนียภาพ เพราะกระบวนการคิดแบบ 2 และ 3 มิติ ไปพร้อมๆ กัน  ทำให้ใช้เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานกว่าปกติ ไม่ใช่เพียงส่งรูปอ้างอิง แบบร่างหรือแค่แบบแปลน เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจและเห็นภาพตรงกันตั้งแต่แรก

เครื่องมือ
สตูดิโอเพียงแต่จัดสรรพื้นที่สนามเด็กเล่นที่พนักงานสามารถมาทำอะไรก็ได้ พร้อมด้วยเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการทำงาน ไม่มีข้อจำกัดในการคิดสร้างสรรค์ผลงาน ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น สเกตช์มือ การตัดโมเดล คอลลาจรูป เป็นต้น
ทำให้ทุกคนสามารถใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ทิศทาง สตูดิโอยังให้ความสำคัญกับพื้นที่จัดเก็บตัวอย่างวัสดุ เพื่อให้พนักงานได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้วัสดุใหม่ๆ  สัมผัสวัสดุในสัดส่วนจริง  เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพในการทำงานสถาปัตยกรรม มากขึ้น

การออกแบบพื้นที่
พื้นที่สตูดิโอที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้ ทิศทาง สตูดิโอเพิ่งย้ายมาได้เพียง 1 ปี เนื่องจากงานที่เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ตั้งแต่ผู้คนได้เห็นโครงการ Busaba Ayutthaya Hostel ทำให้ออฟฟิศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เดิมรองรับพนักงานได้เพียง 12 ที่นั่ง และคาดหวังว่าจะใช้พื้นที่เดิมไปอีก 3-5 ปี ทำให้ต้องขยับขยาย หาออฟฟิศที่มีพื้นที่กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันมีพนักงานรวมทั้งหมดถึง 20 คน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทิศทาง สตูดิโอ สร้างพื้นที่ co-working space ชื่อ ‘subtitle’ เปรียบเทียบกับการดูภาพยนต์ ที่จะมีคำบรรยายที่ช่วยขยายความเพื่อให้เข้าใจรายละเอียดได้มากขึ้น โดยจะมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับนั่งเล่น ต้อนรับลูกค้า ทำกิจกรรมรวมกันหรือฉายภาพยนต์ก็ได้ ชุดโซฟาสามารถจับรวมหรือแยกชิ้นส่วนเพื่อสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ของการใช้งานได้ รวมถึงมีห้องรับประทานอาหาร ที่มีน้ำและขนมให้บริการตนเองได้ตลอด ถือเป็น 30% ของพื้นที่ออฟฟิศทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าสตูดิโอให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นพอๆ กับการทำงาน อีก 50% เป็นส่วนสำนักงาน ที่ปัจจุบันให้ออฟฟิศอื่น เช่าแบ่งปันใช้พื้นที่ได้ รวมถึงสามารถใช้พื้นที่ส่วนกลางได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมประจำเดือน เช่น ทานอาหารกลางวันร่วมกัน ทำให้เกิดสังคมที่กว้างขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของคนนอกวงการ มีชีวิตชีวามากกว่าการอยู่เพียงออฟฟิศเดียว

นอกจากนี้ทิศทาง สตูดิโอยังมองว่าห้องประชุมมีความสำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบันมาก เพราะเป็นที่แบ่งปันความคิดของแต่ละคน รวมถึงเชิญลูกค้าเข้ามาประชุมและแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการทำงานด้วย หรือหากต้องการความเป็นส่วนตัวก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ เป็นอีก10% ของพื้นที่ที่มีห้องประชุมขนาดเล็กและใหญ่ รวมกันถึง 5 ห้อง

พื้นที่ 10% สุดท้ายเป็นห้องเก็บวัสดุ พื้นที่ประมาณ 40 ตารางเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อให้พนักงานได้เข้าไปศึกษา และทำความเข้าใจกับวัสดุจริง ก่อนนำมาใช้ในงานออกแบบ

การออกแบบระยะเวลาในการทำงาน
ตั้งเวลาการเข้างาน ตั้งแต่ 10.00-19.00 เป็นพื้นฐาน แต่ทุกคนสามารถจัดสรรเวลาตัวเองได้อย่างอิสระ ตามความเหมาะของงานแต่ละโครงการและของแต่ละบุคคล ส่วนระยะเวลาการทำงานแต่ละโครงการ ทิศทาง สตูดิโอให้ความสำคัญกับการออกแบบขั้นแรกเป็นอย่างมากตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ซึ่งบางโครงการอาจใช้เวลาในการออกแบบขั้นแรกถึง 2 เดือนเลยทีเดียว โดยไม่ใช่ดูเพียงความสวยงาม แต่ยังคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และงบประมาณอีกด้วย ด้วยการคิดอย่างละเอียดนี้จะช่วยประหยัดเวลา เกิดความผิดพลาดน้อยลง และผลงานที่สร้างจริง จะใกล้เคียงกับภาพ 3 มิติที่นำเสนอลูกค้าไปในตอนแรกมาก


ทิศทางต่อไปของ
ทิศทาง สตูดิโอ
อยากให้ชื่อของทิศทาง สตูดิโอ ไปอยู่ในเวทีโลก ทำให้ผู้คนสนใจสถาปัตยกรรมในประเทศไทยมากขึ้น ทิศทาง สตูดิโอพยายามสอดแทรกความเป็นไทยรูปแบบใหม่ลงไปในทุกๆ ผลงาน อย่างงาน Busaba Ayutthaya Hostel ที่เคยเป็นบ้านทรงไทย ซึ่งปัจจุบันไม่มีการสร้างใหม่ และผู้คนในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนไทยแล้ว นำมาสร้างความทิศทางของไทยสมัยใหม่ที่ยังคงความเป็นไทย อย่างเช่นการใช้งานแบบเดิมที่เป็นหนึ่งเรือนหนึ่งการใช้งาน ที่ยังคงแยกเป็นเรือนนอน เพื่อให้คนไทยปัจจุบันได้เข้าไปสัมผัสการใช้ชีวิตในบ้านไทยเดิม ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก จากลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทย  ทิศทาง สตูดิโอ ยังคงทดลองและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของสถาปัตยกรรมไทยต่อไป ด้วยความคาดหวังว่าวงการสถาปัตยกรรมไทยจะกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก


อยากฝากอะไรให้สถาปนิกที่สนใจจะเปิดสตูดิโอบ้าง
รูปแบบการทำงานของเราเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทดลอง แต่อยากให้ทดลองด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักออกแบบจริงๆ เราเชื่อว่า คุณค่าของงานออกแบบหรือศิลปะ มันประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ ร่วมกันสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ข้ามกาลเวลาได้ ไม่ได้เป็นไปเพียงตามยุคสมัย สามารถอยู่คู่ไปกับพื้นที่ตรงนั้นได้ไปอีกหลักร้อยปีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่มาพบเจอ เหมือนที่เราได้แรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมชมงานของสถาปนิกระดับโลกหลายๆ ท่าน  งานที่ดีจริงๆ วันหนึ่งจะมีคุณค่าขึ้นมากเอง แล้วชื่อเสียง เงินทองจะตามมาเอง และถ้าเป็นไปได้ อยากให้สถาปนิกไทยทำงานช่วยกันรักษาความเป็นไทย วัฒนธรรมหลายๆ อย่างกำลังถูกทำลายทิ้ง รากเหง้าของพวกเรากำลังหายไป เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากโลกภายนอกเยอะมาก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงพยายามทำงานที่สอดแทรกความเป็นไทย ภายใต้ออฟฟิศชื่อ ทิศทาง สตูดิโอ

 

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    MARY HELP OF CHRISTIANS CHURCH (CHAWENG)

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: Juti architects จากการเพิ่มจำนวนของคริสต์ศาสนิกชนในพื้นที่เกาะสมุย ทั้งจากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือแม้แต่ชาวไทยในพื้นที่ซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น ทำให้…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Reopening of the Pavillon Le Corbusier

    Story and Photos : Asst.Prof. Kamon Jirapong, Ph.D. Content: Museum fur Gestaltung, Zurich  Media Information – Reopening of the Pavillon Le Corbusier, Exhibition Mon univers Graphic of Plans and Elevations: Brochure – Pavillon Le Corbusi…

    โดย ASACREW
  • Visit

    Stadtmuseum Rapperswil-Jona

    Story and Photos : Asst.Prof. Kamon Jirapong, Ph.D. Content: Brochure – 800 Years of Town History and Culture, Stadtmuseum Rapperswil-Jona Computer 3D Models & Hand Sketchs: Brochure – JANUS ASA CREW x Switzerland Tourism Switzerland …

    โดย ASACREW