Roundtable Talk: What is Co-Creation?

Talk / 20 ก.พ. 2020

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ : ชนิภา เต็มพร้อม

ในปัจจุบันที่มีการใช้คำว่า co-create อย่างแพร่หลายในหลายๆกลุ่มองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ทีมงาน ASA CREW โดย ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ จะมาร่วมหาคำตอบกับคุณชวณัฏฐ์ ล้วนเส้งจาก CAN (Community Architects Network) ของมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย (Asian Coalition for Housing Rights – ACHR) และคุณยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ จากสถาบันอาศรมศิลป์ เกี่ยวกับคำจำกัดความและแนวทางที่กำลังเป็นไปของการปฏิบัติงานใต้แนวคิดของ co-creation ตั้งแต่ความหมาย กระบวนการ ความเหมือนและความต่างจากการทำงานของสถาปนิกทั่วไป ไปจนถึงข้อจำกัดของการทำงานใต้แนวคิด co-creation

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : คำว่า Co-create คืออะไร และมีความจำเป็นต่อปัจจุบัน หรืออนาคตอย่างไรคะ
คุณชวณัฏฐ์ : ในวงการของเราใช้คำนี้กันมาสักพักหนึ่งแล้ว โดยส่วนตัวที่ใช้คำนี้ น่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2015 ตอนนั้นเป็นช่วงที่กระแสเรื่องสถาปนิกชุมชนในเอเชียค่อนข้างนิ่งในระดับหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าเกิดหลายกลุ่ม เกิดหลายกระบวนการ ผมเองทำงานเรื่องสลัมมาเยอะ เลยเกิดคำถามว่าเราจะทำอะไรกันได้อีกบ้าง เพราะว่าทุกกลุ่มก็ทำงานเรื่องสลัม มีประสบการณ์แล้วเริ่มมีประเด็นเรื่องเมืองเยอะขึ้น การไล่เมืองในสเกลที่ใหญ่ การรุกคืบของวิธีคิดแบบ First-class City มันเกิดขึ้นแทบทุกแห่งในเอเชีย ในช่วงปี 2015 เราเลยเริ่มใช้กระบวนการที่เราทำงานกับชุมชน ทำร่วมกับคนกลุ่มอื่นในเมือง กับระหว่างนั้นผมได้เจอครูทางด้านจิตวิญญาณจากชุมชนฟินด์ฮอร์นที่สก๊อตแลนด์ เขาใช้คำว่า co-creation มา 40 ปี มันก็เลยมาผนวกกันทำให้อยากทดลองใช้คำนี้เพื่อเป็นคำถามด้วยว่าคนอื่น ๆ ที่ทำงานด้วยการมีส่วนร่วมมาระยะหนึ่งเราจะเปิดไปสู่การทำงานที่ลุ่มลึกขึ้นได้อย่างไร โดยที่ก็ไม่ได้มีนิยามอะไรที่ชัดเจนว่า co-creation คืออะไร เป็นการค่อย ๆ หาความหมายไปด้วยกันครับ

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

คุณยิ่งยง : ของผมจริง ๆ ปกติไม่เคยใช้คำว่า co-create เลยครับ ใช้คำว่าการมีส่วนร่วมอย่างเดียว แต่หลัง ๆ ได้ยินคำนี้บ่อย แค่ยังไม่เคยหาอ่านจริงจังว่ามันคืออะไร ถ้าโดยนิยามของผมรู้สึกว่า co-create คือการร่วมสร้างแบบแปลตรง ๆ มันมีความจำเป็นทั้งเรื่อง co-create และการมีส่วนร่วม ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่มันซับซ้อนขึ้นและไม่สามารถแก้ด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดทางหนึ่งได้ ปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่ฮีโร่สักคนหนึ่งหรือว่านักออกแบบสักคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาจัดการได้ เกิดความจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ที่จะมาช่วยกันทำ โลกมันเชื่อมโยงกันจนไม่ใช่ว่าปัญหามีที่อเมริกาแล้วจะไม่มีผลที่เรา ไฟป่าที่บราซิลหรืออเมซอนมันมีผลกับเรา ทีนี้ความรู้สึกร่วมมันไม่ใช่แค่ในมุมมองของผู้รับผลกระทบ แต่ในมุมมองที่เราเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างหรือว่าคลี่คลายปัญหาได้ด้วย มันต้องสร้างความรู้สึกของการเป็นกลุ่มสักอย่างนึง เพื่อตอบสนองกับปัญหาเรื่องพวกนี้ ขณะเดียวกันที่ปัญหามันเรียกร้องการร่วมมือกัน ผมว่าคนเราห่างจากกันขึ้นเรื่อย ๆ โซเชียลมีเดีย หรือว่าเทคโนโลยีทำให้คนยุ่งกับปัจเจกมากขึ้น เราเริ่มห่างจากครอบครัว ห่างจากสังคมมากขึ้น มันโหยหาความรู้สึกร่วมบางอย่าง ซึ่ง co-creation มันตอบเรื่องนี้ มันเป็นพื้นที่ที่พยายามจะสร้าง พื้นที่บางอย่างที่คนมารวมกัน ทำให้มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ร่วมกัน เพื่อตอบสนองปัญหาที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อน

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : แล้ว co-create ในกระบวนการออกแบบมันคืออะไรคะ
คุณชวณัฏฐ์ : ถ้าต่อยอดจากที่คุณยิ่งยงพูดคือมันชัดเจนว่าปัญหามันมีความซับซ้อน เพราะว่าโลกเชื่อมโยงกันเร็วแล้วก็เรียกร้องความเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นจริง ๆ พอพูดถึงกระบวนการออกแบบมันเลยกลับไปสู่การทำความเข้าใจ บางทีกระบวนการมีส่วนร่วมมันอาจจะโฟกัสว่าเราจะแก้ปัญหาอะไร แต่พูดถึง co-creation เราจะต้องให้พื้นที่กับการพยายามเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง มันเริ่มขยายขอบเขตที่กว้างขวางกว่าในโลกปัจจุบันที่มันมีการเชื่อมโยงแบบข้ามมิติ โดยการกระทำที่มันเกิดจากความเข้าใจจากแต่ละหน่วย มันจะเสริมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การออกแบบต่อจากนี้มันก็จะเกิดขึ้นโดยบ่มเพาะมาจากความเข้าใจ

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : คือจริง ๆ แล้ว co-create ในกระบวนการออกแบบ มันอาจจะมาตั้งแต่กระบวนการออกแบบเลยหรือว่าเสร็จแล้วค่อยมาร่วมกันสร้างอีกทีอันนี้ได้ด้วยไหมคะคุณยิ่งยง : ผมว่าได้ มันอยู่ที่สิ่งที่เราออกแบบคืออะไร คือถ้าพูดถึงโครงการอาคาร ถ้าเริ่มตั้งแต่ต้นได้คือดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมมันให้พื้นที่นะครับ และชีวิตมันเกิดขึ้นจากการเข้าไปใช้ ซึ่งการออกแบบวิถีชีวิตมันก็ส่วนหนึ่ง คือผมรู้สึกว่ากระบวนการออกแบบใน co-creation มีขั้นตอนที่ต่างจากการออกแบบทั่วไปคือแทนที่มันจะวนอยู่ในหัวคนสักคนหนึ่ง หรือคน 3-4 คน มันถูกถ่ายออกมาสู่ภายนอกและให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน 

คุณชวณัฏฐ์ : ผมรู้สึกว่าเราต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ ใช้ประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น กิน รับฟัง รู้สึกร้อนหนาวไปด้วยกัน กับกลุ่มที่เกี่ยวข้อง แล้วรู้สึกว่าอันนี้มันทำให้เกิดความเข้าใจแบบใหม่ แบบตรงนี้ร้อน ตรงนี้มันโดนผลกระทบจากเสียงเยอะ ในช่วงเวลานี้เราไม่เคยรู้สึกเลย ความรู้สึกที่ว่ามันเกี่ยวข้องกับเรา มันใช้เซนส์ของความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมชาติของเราได้มากขึ้น เพราะบางทีเราปิดกั้นปัญญาที่มันเกิดมา คือบางทีเราวิเคราะห์อย่างเดียวนึกออกไหมครับ ผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ขาดหายไป

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

คุณยิ่งยง : ผมว่าส่วนสำคัญคือมันต้องสร้างพื้นที่ขึ้นมา ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเขาได้มาแชร์กัน ซึ่งจุดต่างกันมันคือเรื่องของความรู้สึกเป็นเจ้าของ เวลาสถาปนิกออกแบบบ่อยครั้งเราจะคิดไปว่าเราเป็นเจ้าของงาน แต่ถ้า co-creation จะเกิดนั้น มันจะไม่ใช่ความรู้สึกว่าเป็นของเรา หรือของใคร อย่างเราออกแบบโครงการชื่อลานกีฬาพัฒน์ ที่ปกติบทบาทในการสร้างพื้นที่สาธารณะคือสิ่งที่รัฐสร้างขึ้น ให้ประชาชนเป็นผู้เข้าไปใช้ ความรู้สึกเป็นเจ้าของไม่เกิดเพราะประชาชนแค่เข้าไปใช้งานแล้วกลับบ้าน แต่ตอนนั้นเราอยากให้เป็นลานกีฬาที่ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ เราต้องสร้างความมีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนเริ่มคิดโปรแกรมของโครงการ รวมถึงหน้าตาต่างๆ ชุมชนเป็นจุดร่วมเพราะเป็นคนที่ให้ไอเดีย ซึ่งพอมันเริ่มแบบนี้ มันรู้สึกว่ามันเป็นของเขา เขาไม่ได้เป็นแค่คนที่มาใช้ มันเชื่อมโยงคนกับหลาย ๆ สิ่ง ในแง่ของการออกแบบผมรู้สึกว่ามีประโยชน์กับคนออกแบบ คือหลายครั้งไอเดียสถาปนิกมันคิดไปไม่ถึง มันมีภาษาที่ชาวบ้านพูดแล้วมันง่าย แล้วมันเวิร์กครับ

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

คุณชวณัฏฐ์ : ที่คุณยิ่งยงพูดมันชัดนะ คือว่า co-creation มันทำให้เราสำรวจลึกลงไปด้วยตัวเอง มันไม่ได้เพิกเฉย มันกลับทำให้เรายิ่งสืบค้น เราเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ มันเปิดกว้าง มันเป็นพื้นที่ที่ถามคำถามที่สำคัญ ว่าเราคือใคร โดยเราหาคำตอบผ่านการอยู่กับการกระทำของเรา เราได้ลองสังเกตผู้คนที่อยู่ในกระบวนการด้วยว่าเขาทำแบบนั้น เขามีทักษะแบบนั้น เขาพูดแบบนั้น เขาอยู่ที่นั้น เขาเลยคิดแบบนี้ เราเลยคิดว่าส่วนหนึ่งในกระบวนการแบบนี้มันทำให้เราไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และได้เรียนรู้จากคนอื่นในขณะเดียวกัน รวมถึงได้รู้อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในตัวเรา เพราะว่าสิ่งนี้มันจะทำให้เรา contribute กับกระบวนการนี้

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

คุณยิ่งยง : โดยกระบวนการที่บอก ผมไม่รู้สึกว่ามันจะต่างจากการออกแบบทั่วไป มันแค่ดูจากมุมของคน ไปอยู่ในพื้นที่กลาง ๆ ที่มันเห็นร่วมกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญมันมีเรื่องความเป็นเจ้าของ อย่างน้อยที่สุด พื้นที่ส่วนกลางมันไม่ได้มาลอย ๆ มันต้องมีเป้าหมาย มีโจทย์อะไรสักอย่าง มันจะไม่ใช่โจทย์ที่คนหนึ่งยกขึ้นมาตั้ง แล้วทุกคนก็มารุมกัน แต่มันจะเป็นการที่เราเชื่อมโยงจากปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นการให้คุณค่าบางอย่างของแต่ละคน มีสิ่งที่เรียกว่า CSV มันคือ Creating Share Value  มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ คือพื้นที่กลางมันต้องมี value ของแต่ละคนออกมาแชร์กันแล้วมันเกิดคุณค่าร่วมบางอย่างที่เอาเป้าหมายนี้ครับเป็นโจทย์ ในการสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

คุณชวณัฏฐ์ : คิดว่า co-creation มันเกิดขึ้นเพราะว่ากลุ่มคนที่ทำงานชุมชน ทำงานกับผู้คน กับธรรมชาติ มันค่อย ๆ ถูกฝึกให้เปิดออก แล้ววางใจในตัวเราเอง วางใจในผู้คน วางใจในธรรมชาติ วางใจในกระบวนการ คือมันอาจจะไม่ได้ 100เปอร์เซ็นต์ คือเรารู้อยู่แล้วว่ากระบวนการที่เราคิดคนเดียวเนี่ยมันเป็นอย่างไร มันนำไปสู่อะไร ทีนี้พอเราเปลี่ยนมาเป็นกระบวนการที่เปิดขึ้น ทดลองมากขึ้น เราคิดว่าส่วนหนึ่งการออกแบบพวกนี้มันทำให้เราเชื่อว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเราและกับคนอื่น ความไว้วางใจแบบนี้แหละครับที่มันเป็นทางสำหรับ co-creation 

คุณยิ่งยง : คือผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เครื่องมือ มันไม่ใช่ขั้นตอน เครื่องมือมันเป็นส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องที่ใช้ความเป็นมนุษย์ สมมุติว่าเราลงไปชุมชนแล้วเจอชาวบ้านมีปัญหาขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วเถียงกัน แล้วให้ได้เป็น solution นะมันจะดีมากเลย โดยที่เขาไม่รู้จักคำว่า co-create ด้วยซ้ำ มันมีความประนีประนอมด้วยความคิดที่ว่ามึงกับกูก็อยู่พวกเดียวกัน ผมรู้สึกว่าเนี่ย co-creation

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : แล้วกระบวนการ co-creation ในขั้นตอนการออกแบบมันมีความท้าทายหรืออุปสรรคอะไรบ้างไหมคะ
คุณยิ่งยง : ข้อจำกัดที่แน่ ๆ คือใช้เวลามากขึ้น เพราะไอเดียมันไม่ได้อยู่ที่หัวเราคนเดียว มันอยู่ที่หัวหลายๆ คน อันนี้เป็นข้อจำกัดสำคัญ อันที่สองคือเป็นเรื่องความไม่คุ้นเคย ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมปัจเจก มันยากมากที่เราจะไปอยู่ในพื้นที่ที่เราจะแลกเปลี่ยนกัน แต่ผมรู้สึกว่าโลกมันเรียกร้องครับ และถ้าเราคลายเรื่องนี้ได้ มันสนุกครับ แล้วคนทำก็จะได้แรงกลับมามากกว่าการทำคนเดียว ผมรู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะแลกกับเวลา ข้อที่ผมรู้สึกว่ายังไม่เข้าใจคือ co-creation มันจะใช้ในวงการธุรกิจได้อย่างไร เพราะว่าในวงการธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะเต็มไปด้วยการต้องปิดบังและการเก็บความลับ ซึ่ง co-creation จริงๆ มันต้องเปิด

คุณชวณัฏฐ์ : ข้อจำกัดที่เราเห็นอีกอย่างหนึ่งคือเราจะรับมืออยู่กับสิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่เราไม่แน่ใจ สิ่งที่เราควบคุมหรือคาดการณ์ไม่ได้อย่างไร เหมือนมันต้องการความไว้วางใจที่จะทดลองบางอย่างด้วยกัน อีกอย่างที่เป็นตัวชี้วัดในกระบวนการ co-creation คือการมีชีวิตชีวา ความตื่นตัว ความลื่นไหล คาดเดาไม่ได้ ชีวิตคนเราวางแผนไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราตระเตรียมได้ในระดับหนึ่ง หลายส่วนเราไม่รู้ เราต้องคอยประคับประคอง พาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่ท้าทายที่สุด แล้วกลับมาถึงเรื่องที่คุณยิ่งยงพูดในโลกธุรกิจ มันน่าสนใจที่กระบวนการนี้จะกลับเข้าไปสู่โลกของการแข่งขัน โลกที่มันต้องการสร้างความร่วมมือ แล้วก็แชร์ผลประโยชน์อย่างไร

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : แล้วอย่างนี้สถาปนิกยังเป็นสถาปนิกอยู่ไหมคะ ในกระบวนการการทำงานแบบนี้
คุณชวณัฏฐ์ : เราว่าคำถามนี้มันท้าทายมาก มันเหมือนตั้งแต่เรามาทำงานชุมชนเรารู้สึกว่า โลกไม่ได้ต้องการสถาปนิกแบบที่เราเรียนจบมา แต่มันเรียกร้องเราให้เปิดรับเพื่อทำงานกับผู้คนต่างๆ ให้ได้ ทำงานกับสิ่งที่เราไม่รู้ได้ เราต้องยอมรับในความไม่รู้ของเรา มันเกี่ยวข้องกับผู้คนและสภาพแวดล้อม ทุกอย่างมันเชื่อมโยงพัลวันถึงกันอย่างมากมาย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเป็นสถาปนิกมันก็ต้องขยายตัวออกด้วย

คุณยิ่งยง : ผมรู้สึกว่าสถาปนิกจำเป็นสำหรับกระบวนการนี้ แต่หากเป็นสถาปนิกที่เป็น master architect ที่มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง อันนี้ผมยังนึกไม่ออกว่าถ้ามาเป็น co-create มันจะเป็นอย่างไร เพราะมันดูเป็น conflict ระหว่างแนวทางที่ชัดเจนกับการที่เป็นที่ว่าง ๆ ที่ทุกคนมาร่วมกันกำหนดทิศทาง นอกจากนี้ในขั้นตอนของการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน สถาปนิกมีความจำเป็นมาก เพราะว่าการดีไซน์มันมีความคิดที่ต้องถูกนำไปสู่รูปธรรม ซึ่งสถาปนิกเป็นคนที่อยู่สองโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรม และสามารถเชื่อมสองเรื่องนี้ได้

Roundtable Talk: What is Co-Creation?

ASA CREW : มีอะไรที่อยากจะพูดเกี่ยวกับ co-creation เป็นส่วนทิ้งท้ายไหมคะ

คุณยิ่งยง : ผมรู้สึกว่ามันสนุกครับ (หัวเราะ) พอเรามีมุมมองในการเรียนรู้ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์เลยครับ แล้วหลายไอเดียคือเราคิดเองไม่ได้ครับ ผมมองว่า co-creation คือการเปิดพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายถูกนำมาใช้ประโยชน์กับโลก มันสนุก แล้วก็สร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยครับ

Roundtable Talk: What is Co-Creation?
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    ASA EXPO 2020 Special Interview: ดร.วสุ โปษยะนันทน์

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม ทีมงาน ASA CREW ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักและเตรียมตัวสำหรับงานสถาปนิก’63 ในหัวข้อ “มองเก่าให้ใหม่: Refocus Heritage” โดยทีมงานได้ทำการพูดคุยสั้น ๆ กับ ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานจัดงานในปีนี้ เกี่ยวกับเนื้อหางาน…

    โดย ASACREW
  • Talk

    สนทนากับไพจิตร พงษ์พรรฤก: การออกแบบเพื่อเสริมสร้างศรัทธา

    เรื่อง:  ดร. วิญญู อาจรักษา และข้อมูลบางส่วนจากคณะกรรมการมัสยิด Masjid An-Najah Daerah Asajaya ภาพ: beer singnoi,  Masjid-Masjid Di Sarawak, Masjid An-Najah Daerah Asajaya ไพจิตร พงษ์พรรฤก เป็นสถาปนิกชาวไทยมุสลิม ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมในแนวทางสมัยให…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Roundtable: Animals and Me การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้สัตว์

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม การออกแบบสวนสัตว์ที่มีผู้ใช้สอยอาคารเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนุกที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันสักเท่าไร ASA CREW มีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ได้แก่ คุณยงชัย อุตระ สัตวแพทย์ แ…

    โดย ASACREW