เรื่อง: สิริพร ด่านสกุล
ภาพ: SATARANA Team
ในเมืองที่อัดแน่นไปด้วยอาคารและผู้คน มีกลุ่มอาคารในที่ดินผืนเล็กๆ กลางแมกไม้ ทำหน้าที่เป็นโครงการ co-creation เชิงศิลปะ ในนาม Jouer ที่แห่งนี้คอยเติมพลังชีวิตให้คนเมือง เพื่อพักผ่อน ดื่มกาแฟ ซื้อถ้วยชาม เสพงานศิลป์ ตัดผม ทำภาพพิมพ์หรือแม้กระทั่งพบปะสถาปนิก โดยมี Bangkok Tokyo Architecture และกลุ่มครีเอเตอร์ในโครงการแบ่งกันออกแบบแต่ละพื้นที่ และเครือข่าย co-create ที่เกิดขึ้นนี้กว้างใหญ่กว่าที่สายตามองเห็น เพราะ Jouer เป็นเพียงหนึ่งพิกัดของเครือข่ายครีเอเตอร์ขนาดใหญ่ที่ก่อตัวมานาน โดยมีจุดเริ่มต้นจากร้านตัดผมที่ชื่อว่า BOY
BOY กับเครือข่ายครีเอเตอร์
BOY คือร้านตัดผมในญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมของเหล่าครีเอเตอร์ มีคุณพ่อของไดซังเป็นผู้ก่อตั้ง และไดซังผู้เป็นช่างภาพที่เดินทางไปทั่วโลก เป็นผู้สานต่อและดูแลสาขาที่ไทย BOY มีแนวคิดการให้บริการที่ผ่อนคลายเหมือนบ้าน มีบรรยากาศอันสันโดษที่ซ่อนตัวอยู่กลางเมือง แต่ในเชิงเทคนิคเป็นการตัดผมเชิงศิลปะและวิชาการ โดยมีระบบทำงานแบบไต่ระดับความเชี่ยวชาญคล้ายกับสถานศึกษา
ด้วยแนวคิดอันรอบด้าน BOY จึงทำกิจกรรมเชิงศิลปะอีกมากมาย พวกเขาเผยแพร่งานตัดผมในวารสาร จัดแสดงการตัดผมในฐานะศิลปะ เปิดบริเวณร้านให้ลูกค้าและมิตรสหายได้แสดงงานและจัดกิจกรรมแขนงอื่นๆ และชักชวนผู้คนที่น่าสนใจมาร่วมงานและทำความรู้จักกันอยู่เรื่อยๆ กิจกรรมของ BOY จึงกระตุ้นเครือข่ายครีเอเตอร์ตลอดมา
จากโตเกียวสู่กรุงเทพ จาก BOY สู่ Jouer
“Rikyu by BOY เป็นหนึ่งในสองสาขาของ BOY ในกรุงเทพฯ เมื่อสัญญาเช่าที่เดิมถูกยุติลงจึงต้องย้ายมาสู่กลุ่มบ้านของลูกค้าประจำคนหนึ่ง แต่ด้วยพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นมาก Rikyu by BOY และกลุ่มครีเอเตอร์ในเครือข่าย จึงร่วมกันสร้าง Jouer ขึ้นมา” สถาปนิกกล่าวถึงที่มาของ Jouer “เราแบ่งพื้นที่ภายในอาคารเพื่อแบ่งกันดูแล และแชร์พื้นที่ภายนอกอาคารทั้งหมดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง โดยมีการบริหารและแชร์ค่าส่วนกลางร่วมกัน”
Jouer จึงประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางและบ้าน 4 หลัง ที่จัดการพื้นที่แตกต่างกันไป
– บ้านหลังแรก เป็นร้านตัดผม Rikyu by BOY ที่ Bangkok Tokyo Architecture และ BOY ออกแบบร่วมกัน เป็นพื้นที่ด้านหน้าโครงการที่ถูกรีโนเวททั้งหลัง ก่อรูปพื้นที่ขึ้นใหม่จากอัตลักษณ์ของ BOY แบบต่างๆ
– บ้านหลังที่สองเป็นร้านเบเกอรี่ Spoonful ควบคุมการปรับปรุงโดยเจ้าของร้าน มีการต่อเติมพื้นที่ชั้นหนึ่งและการตกแต่งที่ยังคงเหลือร่องรอยบ้านเก่าไว้บนชั้นสอง โดยแบ่งชั้นหนึ่งเป็นร้านเบเกอรี่ และชั้นสองเป็นแกเลอรี่ช็อป ซึ่งมีจังหวะช่องหน้าต่างที่ทำให้รับรู้ธรรมชาติแบบไม่เผชิญสายตากับบ้านหลังอื่น สร้างบรรยากาศบ้านเดี่ยวกลางป่าใหญ่
– บ้านหลังที่สามเป็นครีเอเตอร์เฮาส์ ประกอบด้วย แกเลอรี่ Sōko สำนักงาน Bangkok Tokyo Architecture และสตูดิโอภาพพิมพ์ริโซกราฟี่ (Risography) นาม Witti.studio โดยแตะโครงสร้างเดิมน้อยที่สุด แล้วแต่ละฝ่ายก็ปรับเปลี่ยนพื้นที่ต่างๆ ด้วยกิจกรรม ความหมาย และการรับรู้ที่แตกต่างกันไป
-บ้านหลังที่สี่ อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเพื่อเปิดรับสมาชิกและกิจกรรมใหม่ที่จะเข้ามาร่วมเครือข่ายในระดับต่อไป
การปรับปรุง Jouer จากพื้นที่ที่เคยเป็นบ้าน ทำให้ BOY ในพื้นที่ใหม่ มีบทบาทเป็นหนึ่งในกลุ่มครีเอเตอร์ในพื้นที่แห่งจิตวิญญาณของครอบครัว และบทบาทในพื้นที่นี้ ก็ทำให้ความเป็นเครือข่ายครีเอเตอร์ตั้งแต่อดีตของ BOY ชัดเจนขึ้นผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรม
แม่เหล็กของโครงการ
Rikyu by BOY แม่เหล็กของโครงการ คือส่วนที่ถูกปรับปรุงพื้นที่มากที่สุด สถาปนิกเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้ง เพื่อดูงานสาขาของ BOY และประชุมกับครอบครัวเจ้าของกิจการและสไตลิสต์ จนพัฒนาแบบไปสู่งานที่มีอัตลักษณ์ 5 ส่วน ได้แก่
– อัตลักษณ์จาก Rikyu by BOY ร้านเดิม เช่น หน้าต่างหกเหลี่ยม ราวกันตกเดิมที่ไดซังออกแบบ กระจกวงกลมคล้ายหน้าต่างกลมของร้านเดิม และเฟอร์นิเจอร์เดิม
-อัตลักษณ์เดิมของบ้านที่ถูกรีโนเวท เช่น หน้าต่างทรงขยัก โครงใต้หลังคา และพื้นที่ระหว่างอาคารแบบครอบครัว
-อัตลักษณ์แบบ BOY ในญี่ปุ่นเช่น ความผ่อนคลายแบบบ้าน อารมณ์และแสงธรรมชาติ ซุ้มกระจกตัดผมที่ไดซังเป็นผู้ออกแบบ
– อัตลักษณ์จากบริบท บริบทถูกนำมาเพิ่มศักยภาพการมองให้มากที่สุด มีการทดสอบตำแหน่งและมุมมองจากความสูงของผู้มองในการติดตั้งต่างๆ โดยมีไดซังกำกับการทดลอง ทั้งในสถานที่จริงและผ่านวิดีโอคอลล์
-พื้นที่เชื่อมต่ออัตลักษณ์ สวนและพื้นที่ส่วนกลางกรองความเป็นเมืองออกทีละขั้นยามเดินเข้าอาคาร แต่ก็ดึงกลับออกไปสู่โลกภายนอกที่ละขั้นเช่นกัน เมื่อหมุนตัวขณะตัดผมภายในร้าน มองกระจกเงาและกระจกออกไปข้างนอก จะเห็นตนเองทาบทับกับโลกภายนอก และรู้สึกเพิ่มทีละขั้นเมื่อเดินออกจากอาคารผ่านสวนกลับไปสู่เมือง
Rikyu by BOY จึงร้อยเรียงอัตลักษณ์ของ BOY จากอดีตสู่ปัจจุบันไว้ในสภาวะที่ยืดหยุ่น และมีผลต่อทั้งโครงการเป็นอย่างมาก ตัวอาคารเป็นภาพจำของโครงการที่ดึงดูดผู้คนให้เข้าหา สภาวะโล่งเปิดให้เห็นบ้านหลังอื่นในโครงการ เอื้อผู้คนให้อยากเดินเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางและอาคารอื่นๆ จนเกิดการหมุนเวียนในโครงการและการมาเยือนซ้ำๆ
ชุดโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดชีวิต (Structure for Life)
“ในเนปาล เมื่อมีหินใหญ่ก้อนนึง จะมีคนไปสร้างบ้านเกาะกับหิน ผนังด้านหนึ่งในบ้านก็เป็นหิน และผู้อยู่อาศัยก็จะสร้างพื้นที่ภายนอกรอบๆหิน หินก้อนนี้จึงเอื้อให้เกิดชีวิต โดยไม่ได้มีคำตอบเดียวในการอยู่ร่วมกับหิน และไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของผุ้คนหรือกิจกรรมรอบๆ หินก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม”สถาปนิกกล่าวถึงแนวคิด structure for life ที่เป็นแนวคิดที่พวกเขาพยายามศึกษาตลอดมา “เราอยากสร้างสภาวะคล้ายหินพวกนี้ มันอาจไม่ใช่สถาปัตยกรรม อาจเป็นลูกค้า หรืออย่างอื่นที่เอื้อให้เกิดอะไรหลายๆอย่าง เราไม่ต้องการออกแบบทั้งหมด แต่จะออกแบบแค่ชุดโครงสร้างความสัมพันธ์บางอย่างที่สร้างผลต่อเนื่องออกไปด้วยปลายทางที่ไม่สิ้นสุด” และในครั้งนี้การออกแบบ Rikyu by BOY ก็เป็นพิกัดหลักที่สร้างผลต่อเนื่องต่อทั้งโครงการและกิจกรรมต่างๆที่ตามมา
พื้นที่เล็กๆ ในสายสัมพันธ์อันกว้างใหญ่
ด้วยพื้นฐานที่ BOY ในญี่ปุ่นคอยกระตุ้นเครือข่ายครีเอเตอร์อยู่เสมอ เมื่อมีสาขาที่กรุงเทพ ก็ยังคงจัดกิจกรรมกับศิลปินข้ามสาขาตลอดเวลา และเมื่อย้ายมาอยู่ที่ Jouer ก็นำเครือข่ายดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับกลุ่มใหม่ๆ
สถาปนิก TORAFU เป็นหนึ่งในกลุ่มครีเอเตอร์ที่เป็นลูกค้าประจำของ BOY ตั้งแต่วัยเรียน จนเติบโตมีชื่อเสียง และออกแบบ BOY สาขาฮาราจุกุ BOY ได้แนะนำเขาให้ได้รู้จักกับ Bangkok Tokyo Architecture จนต่อเนื่องไปสู่การร่วมกันออกแบบร้าน Issey Miyake pop-up storeในกรุงเทพ นอกจากนี้ BOY ยังชักชวนศิลปินจากทั่วโลกมาจัดแสดงงานในแกเลอรี่ Sōko ที่บริหารโดย Bangkok Tokyo Architecture ทำให้เกิดการขยายความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนต่อไปเรื่อยๆ
Jouer จึงเป็นโครงการสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่เป็นพิกัดของเครือข่ายอันกว้างขวางหลากมิติจากหลายวงการ “การสร้างสภาวะ co-creation ต้องเกิดจากศักยภาพของพื้นที่ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ กลุ่มคนที่มีทัศนคติคล้ายกัน มีแนวคิดเป็นผู้ให้ และทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแชร์” สถาปนิกกล่าวถึงเครือข่ายครีเอเตอร์ และสถาปนิกเองก็มีบทบาทตั้งแต่เริ่มต้น จากจุดเล็กๆ ในเครือข่ายความสัมพันธ์ แล้วก็ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม co-creation ยกระดับเป็นพาร์ทเนอร์ และเติบโตกลายเป็นผู้สร้างเครือข่ายอีกคนหนึ่งเช่นกัน
ที่มา:
การสนทนาระหว่างตัดผม ของผู้เขียนกับสไตลิสต์ของ Rikyu by BOY, 2017-2019
สัมภาษณ์คุณ Wtanya Chanvitan สถาปนิกของ Bangkok Tokyo Architecture, October 2019