Interview: ดร.นนท์ อัครประเสริฐกุล ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

Talk / 24 มี.ค. 2020

เรื่อง: ASA CREW Team
ภาพ: ASA CREW Team

Dr. Non, DEPA

ASA CREW: การออกแบบอาคารที่เป็น “Smart Building” ที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะ “Smart” กันตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การก่อสร้าง หรือไปจนถึงการจัดการอาคาร พัฒนากันไปถึงไหนแล้วบ้างคะ

ดร.นนท์: ก่อนอื่น ขออนุญาตบอกว่าผมยินดีมากที่ได้รับเกียรติจาก ASA CREW ให้มาพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะผมเองก็จบมาทางด้านสถาปัตย์ฯ ที่สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่บังเอิญจับพลัดจับผลูมาทำงานอยู่ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City Promotion) ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหน้าที่หลักที่การดูแลการเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งในระยะแรกต้องปรับตัวเยอะ เหตุเพราะด้วยความเป็นสถาปนิก ผมต้องเปลี่ยนจากที่เคยมองว่า “เมืองคือกายภาพ” ตลอดเวลา เช่น เมืองมันคือเสาไฟฟ้า ถนน ต้องมามองใหม่ทั้งหมด ว่าเมืองคือ “แพลตฟอร์ม” (Platform) คือที่ๆ ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากการเก็บและใช้ข้อมูล ทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน เมือง ซึ่งผู้อาศัยส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันนั้นยินดีที่จะทำธุรกรรมร่วมกัน อยู่ร่วมกันโดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กันและกัน รวมไปถึงการสร้างโครงสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อการเติบโตและสิ่งแวดล้อม หรือที่เราเรียกกันว่า “วัฒนธรรม” ทำให้เราต้องคิดถึง “ความเป็นเมือง” อย่างเป็นระบบที่มากกว่าแค่เรื่องของกายภาพเท่านั้น

ดังนั้นผมจะขอตอบคำถามนี้จากมุมมองของความเป็นเมืองข้างต้น เรื่องของ Smart Building เราจะมอง 4 อย่างด้วยกัน ซึ่ง 4 อย่างที่ว่ามีตัวย่อว่า “CEED” ที่ใช้คำนี้เพราะมันออกเสียงเหมือนคำว่า Seed ที่แปลว่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจหลักการนี้ ก็ไม่ต่างจากการปลูก Smart Building ด้วยเมล็ดพันธุ์ นี้นั่นเอง สำหรับ C ตัวแรกคือ “Convenience” หรือ ความสะดวกสบาย อาคารที่ดีต้องให้ความสะดวกสบายแก่ผู้อยู่อาศัย เริ่มต้นที่ ความสบายทางกายภาพ มีอากาศหมุนเวียน อาคาร “สมาร์ท” จะ ไม่ได้ถ้าสร้างความลำบากให้กับผู้ใช้งาน เช่น ทุกวันที่มาทำงานคุณต้องผ่านการสแกนหน้าหลายครั้ง หรืออาคารมีระบบปัญญาประดิษฐ์คอยบอกว่าเราอยู่ที่ไหน ทำงานอยู่หรือไม่ (หรือว่าอู้งานอยู่) ซึ่งอาคารประเภทนี้อาจจะไม่ได้ความสะดวกสบายสักเท่าไร หนำซ้ำผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าโดนก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวหรือควบคุมมากกว่า ความเป็น อาคาร “สมาร์ท” ที่แท้จริงคือทำอย่างไรที่ประสิทธิภาพของการทำงานของผู้ใช้ดีขึ้นเมื่ออยู่ในอาคารทำให้ได้ปริมาณงานที่พอใจ

Dr. Non, DEPA

สำหรับ ตัวที่ 2 คือ E นั้น แทนคำว่า “Economy” ทำอย่างไรให้ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการใช้พลังงานและ เพิ่มประสิทธิภาพการงานในเชิงธุรกิจสำหรับตัวอาคาร สำหรับตัว E ตัวที่ 3 ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ Environment ทำอย่างไรให้อาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด เพราะว่า 60% ของการใช้งานพลังงานทั้งหมดของเมืองเกิดจากการใช้พลังงานในอาคาร เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการที่จะลดการใช้พลังงานของเมือง การแก้ปัญหาที่การลดการใช้พลังงานของตัวอาคารจมีส่วนช่วยได้มาก นอกจากนี้ยังมีมลภาวะและขยะที่เกิดขึ้นจากตัวอาคารอีกด้วย สำหรับอักษรตัวสุดท้ายของหลัก CEED คือ D นั้น จะเป็นเชิงจิตวิทยานิดหน่อย ปัจจุบันคนเรามีปัญหาเพราะต้องตัดสินใจอะไรเยอะมากในแต่ละวัน มีงานวิจัยกล่าวว่า แต่ละวันเราต้องตัดสินใจในเรื่องที่สามารถนำไปสู่ความเป็นความตายของชีวิตประมาณ 21 ครั้ง ตั้งแต่เรื่องข้ามถนน จะเข้างานหรือ จะยอมสายไหมเพื่อแลกกับความปลอดภัยมากขึ้นถ้าต้องขับรถเร็วขึ้น เป็นต้น ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีตัดสินใจแทนเรา เพราะการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพทำหน้าที่ในการตัดสินใจแทนเรา เราก็จะได้ใช้เวลาและศักยภาพของสมองไปทำงานส่วนความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น อักษร D ตัวสุดท้ายจึงแทนคำว่า “Decision Making” ทำอย่างไรให้อาคารฉลาด สามารถทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเรา เช่น เมื่อเดินเข้ามาในอาคาร ผมไม่ต้องคิดเลยว่าผมจะเปิดแอร์หรือเปล่า เพราะอาคารคำนวณให้แล้วว่าอุณหภูมิข้างนอกกับข้างในมันแตกต่างกันในระดับที่ว่าต้องเปิดแอร์ที่อุณหภูมิเท่าไหร่ ผมเข้ามาแล้ว 15 นาที อุณหภูมิควรจะลดมาที่เท่าไหร่ คือ ทำหน้าที่ตัดสินใจให้กับผู้ใช้งานไปเลย เมื่อก่อนเราต้องใช้อคติส่วนตัว ตอนนี้ให้เทคโนโลยีตัดสินใจให้เราแทนได้เลย แล้วพอนานๆ ไปอาคารรู้จักเรามากขึ้น อาคารไม่ต้องถามเราแล้ว อาคารจะรู้แล้วว่าเรามาทำงานเวลานี้ จะเปิดแอร์รอกี่โมง จะปิดแอร์กี่โมง จะบอกเราว่าเราควรจะออกจากอาคารแล้ว จะบอกให้เราลุกขึ้นยืนบ้างเพื่อเราจะได้ไม่นั่งนานเกินไป เหล่านี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าจริงๆ เทคโนโลยีตอบได้ ซึ่งแนวคิด CEED นี้ใช้ได้ทั้งในระดับของความเป็นอาคาร (Building Scale) จนถึงระดับของความเป็นเมือง (Urban Scale)

Dr. Non, DEPA

ASA CREW ภูมิปัญญาในอดีต นำมาประยุกต์ให้มันเกี่ยวกับ Smart Building ในปัจจุบัน ในเมืองไทยได้ไหมคะ

ดร.นนท์: ใช้ได้เยอะเลยครับ หนึ่งในด้านของความฉลาดของเมืองที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของเราใช้เป็นหลัก คือ “Smart Living” หรือการใช้ชีวิตอัจฉริยะ ซึ่งถึงแม้ว่าคำว่า “อัจฉริยะ” จะทำให้เราคิดว่าเมืองจะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ หากว่าความเป็น Smart Living นั้นไม่ได้เป็นเรื่องของการมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย เช่น วันก่อนมีคนถามผมว่า มีเมืองเมืองหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ก้าวมาเป็นผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ จากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมืองใหม่ ที่เมืองเมืองนี้ ธุรกรรมทุกอย่างสามารถทำผ่านมือถือได้หมด ตั้งแต่ตอนตื่นนอนตอนเช้าถึงกลับเข้าบ้าน และนอนหลับ แทบจะเรียกได้ว่ามือถือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่พอไปเฉลี่ยดูแล้ว ปรากฏว่าทุกคนในเมืองนี้ใช้ชีวิตอยู่หน้ามือถือประมาณวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งผมก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นสิ่งที่ “สมาร์ท” จริงหรือเปล่า เพราะการต้องใช้มือถือเป็นระยะเวลามากขนาดนั้น ไม่น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวแน่นอน การนำภูมิปัญญาในอดีตมาประยุกต์ถึงสามรูปแบบ คือ หนึ่ง บางครั้งการดึงเอาเทคโนโลยีออกไปจากบริบทของการใช้ชีวิตอาจจะทำให้ชีวิตดีกว่าก็ได้ รูปแบบที่สองเป็นพื้นฐานที่สุด คือ จริงๆ แล้วคนเราควรจะบริโภคเท่าที่ร่างกายต้องการ แม้เหตุจะมาจากการที่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีกลไกทางการตลาดที่ทำให้เราเห็นของใหม่ๆ ในราคาที่มันถูกลงเรื่อยๆ ทำให้เราบริโภคมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วการใช้น้อยที่สุดเป็นประโยชน์มากกว่า อาทิ เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดอาจจะไม่ใช่เมืองที่อาคารในเมืองนั้นได้รางวัลอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อมเยอะที่สุด แต่เป็นเมืองที่คนตื่นไปทำงานหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น และทำงานจนถึงพระอาทิตย์ตก จากนั้นก็เข้านอน ใช้ประโยชน์จากพระอาทิตย์ให้เต็มที่ ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าที่จำเป็น รูปแบบสุดท้าย ความเป็นภูมิปัญญา อาจจะเป็นเพียงแค่การทำอะไรที่มันตอบโจทย์ของเรา ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีเลย ซึ่งเป็นหลักการข้อสำคัญข้อหนึ่งของการคิดด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ “ดีไซน์ ติงค์กิ้ง” (Design Thinking) เช่น ผมเคยอยากซื้อกระเป๋าเดินทางที่มีเทคโนโลยี GPS และ บลูทูธ เพื่อจะทราบว่ากระเป๋าใบนี้เป็นของผม เพราะมือถือของผมจะรับสัญญาณเมื่อกระเป๋านั้นเข้าใกล้ตัวผมบนสายพานรับกระเป๋า พอคุณแม่ของผมทราบ คุณแม่ของผมก็เดินเอาริบบิ้นเส้นนึงมาผูกกระเป๋า แล้วบอกว่าแค่นี้พอกระเป๋าออกมาที่สายพานรับกระเป๋า เราก็รู้แล้วว่าคือกระเป๋าของเรา ไม่เห็นจะต้องไปติดเทคโนโลยีอะไร กล่าวคือสิ่งที่เป็นภูมิปัญญา อาจจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าก็ได้ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากกว่า ถ้าเรามองซ้ายขวาจะเห็นรูปแบบที่สามของความเป็นภูมิปัญญาอยู่รอบๆ ตัวเรามากมาย

Dr. Non, DEPA

ASA CREW: Smart Design ในประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วมีความแตกต่างกันไหมคะ

ดร.นนท์: ความแตกต่าง คือ ประเทศที่กำลังพัฒนามีขอบเขตจำกัดในด้านของงบประมาณ ทรัพยากรแรงงาน เทคโนโลยี และไม่สามารถที่จะเสียโอกาสในการพัฒนา (Opportunity Cost) ได้บ่อยๆ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งทำให้บางครั้งเราก็มองว่าประเทศที่กำลังพัฒนามีแต่ข้อด้อย ซึ่งก็ยังไม่ถูกต้องเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ในการจัดอันดับ (Ranking) ของความเป็น Smart City ซึ่งมีหลายสถาบันที่จัดด้วยเกณฑ์หลายเกณฑ์ แต่เกณฑ์การจัดอันดับที่ผมชอบที่สุด เป็น เกณฑ์ที่ไม่ได้นับเรื่องของจำนวนการใช้เทคโนโลยี หรือเม็ดเงินการลงทุนอย่างหนักหน่วงของภาครัฐในแง่การสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล แต่เป็นเกณฑ์ที่วัดความเข้าใจ (Perception) ของคนในเมืองว่าเมืองของเขานั้นมีความ “สมาร์ท” แค่ไหน ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้มานั้นน่าสนใจมาก เนื่องจากไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเงินที่ลงทุนและความพึงพอใจของคนในเมืองนั้นต่อความ “สมาร์ท” ของเมือง หมายความว่าเมืองบางเมืองอาจจะลงทุนอาจจะเยอะ เช่น เป็นหมื่นล้านบาท แต่ผู้อยู่อาศัยอาจจะไม่รู้สึกว่าเมืองของพวกเขานั้น “สมาร์ท” เลยก็ได้ ซึ่งก็ทำให้เมืองไม่สามารถพัฒนาได้ หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่ คือลงทุนไปเยอะ ทว่าผู้อยู่อาศัยไม่สามารถรู้สึกถึงความตระหนัก ความเข้าใจ และสำนึกในชีวิตที่ตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางบวก อาทิ การลงทุนให้กับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิต เช่น การที่ไฟจราจรที่เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้สามารถคำนวณการปล่อยรถได้อย่างแม่นยำ ทำงานดีขึ้น ผู้คนเสียเวลาบนท้องถนนน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้เมือง “สมาร์ท” ขึ้น แต่อยู่อาศัยในเมืองอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร ทำให้ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีบางเมืองที่ใช้กลไกการประชาสัมพันธ์ (Public Relations: PR) เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าเมือง “สมาร์ท” มาก แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพื้นฐานอะไรมากที่จะสามารถทำให้เมืองสามารถยืนระยะความ “สมาร์ท” นี้ได้ ซึ่งพอการประชาสัมพันธ์หมด ผู้อยู่อาศัยก็เริ่มรู้สึกว่าเมืองของตนไม่ได้ “สมาร์ท” ขนาดนั้น ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ไม่มีวิธีไหนที่สมบรูณ์ ต้องกลับมาดูว่า ด้วยความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีขอบเขตจำกัดทั้งในด้านงบประมาณ และ Opportunity Cost เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับขอบเขตและ Opportunity Cost ดังกล่าว ในการลงทุนที่ดีของภาครัฐและเอกชน และขณะเดียวกันต้องร่วมกันสร้างความตระหนักและความรู้ (ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า“Digital Awareness and Literacy) ทำอย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่า Smart City ไม่ใช่เรื่องของการมีหุ่นยนต์เดินไปเดินมาในเมือง ไม่ใช่การมีโดรนบินว่อนไปมา แต่คือการที่เทคโนโลยีทำงานอยู่เบื้องหลัง ในขณะเดียวกันเมืองก็ต้องทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความตระหนักว่าสัปดาห์นี้พวกเขาใช้เวลาเดินทางลดลง 15 นาที ซึ่งไม่ใช่เพราะเวทมนต์ แต่คือการทำงานอย่างมีประสิทธิผลของเทคโนโลยีที่ทางเมืองกำลังลงทุนอยู่เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น ตรงนี้มันจะทำให้ทั้งสองแนวทางมาเจอกัน ณ ตรงกลางได้ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็น “การออกแบบระบบการพัฒนาเมืองที่ให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมอย่างสมาร์ท”

Dr. Non, DEPA

ASA CREW: สถาปนิกจำเป็นต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ Smart Design

ดร.นนท์: เนื่องจากพื้นฐานทางการศึกษาของผม มีทั้งสถาปัตยกรรม (ป.ตรี) ประวัติศาสตร์และทฤษฎีสถาปัตยกรรม การออกแบบชุมชนและผังเมือง ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียตะวันออก (ป.โท) มานุษยวิทยา (ป.เอก) ช่วงก่อนจบปริญญาเอกผมหันมาทำงานด้านดิจิทัล ความรู้เหล่านี้มันทำให้ผมรู้สึกถึงประโยชน์ของการรู้กว้างก่อนที่จะรู้ลึก เพราะการรู้กว้างทำให้เราไม่กักขังตัวเองอยู่ในกรอบแคบๆ เท่านั้น ดังนั้นถ้าวันนี้ผมจะออกแบบ ผมจะไม่เอาแค่ความรู้ด้านการออกแบบอาคารมาใช้ แต่จะเอาความรู้ที่มาจากสหวิทยาการ (Interdisciplinary Knowledge) มาใช้ เรื่องแรกที่สถาปนิกต้องรู้คือเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ เรื่องที่ 2 คือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) หรือการนำหลักการทางจิตวิทยามาช่วยในการคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ สมัยก่อนเศรษฐศาสตร์จะมองว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล แต่งานวิจัยทางจิตวิทยามักพบว่าไม่เสมอไป อาทิ ของสองชิ้นที่มีคุณภาพเหมือนกันบางทีคนก็เลือกสิ่งที่แพงกว่า อาจจะเพราะยี่ห้อ ความน่าเชื่อถือ หรือเพราะว่าพอดีวันนั้นเขาเพิ่งได้รับคำชมอะไรมาจึงให้รางวัลตัวเองหน่อย วิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงเป็นการเข้าใจธรรมชาติของการตัดสินใจของคนเพื่อช่วยให้คนได้รับสิ่งที่เหมาะสมกับเขาที่สุด โดยที่เขาเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าอะไรเหมาะสม เรื่องที่สามเป็นเรื่องของการเงินอยากให้สถาปนิกรู้เรื่องแบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) มากขึ้น เพราะมีความสำคัญมากต่อความเข้าใจทุกฝ่ายเพื่อที่จะออกแบบแล้วทุกคนได้รับประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งจะตอบคำถามในเรื่องของความยั่งยืนได้ เรื่องที่สี่คือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งมีหลักการสำคัญเพียงแค่สองอย่าง คือ การเอาผู้บริโภค ลูกค้า เป็นศูนย์กลาง ทำอย่างไรที่เราจะเข้าใจที่มาที่ไปของความต้องการผู้บริโภค ก่อนที่เขาจะเข้าใจตัวเองจริงๆ เสียอีก เช่น เราใช้โทรศัพท์มีปุ่มมาตลอด พอวันหนึ่งมันไม่มีปุ่มเราตอบไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่นักสร้างนวัตกรรมเขาเข้าไปอยู่ในใจของคน แล้วเขามองเห็นว่าการที่โทรศัพท์ไม่มีปุ่มจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า และการสร้างต้นแบบ (Prototype) ผ่านการทำโมเดล เพื่อจำลองสิ่งที่ออกแบบเพื่อนำมาทดสอบ ประสบการณ์และการเชื่อมต่อกับจริตการใช้งานของผู้บริโภค (UX/UI หรือ User Experience and User Interface) ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกชอบทำอยู่แล้ว

Dr. Non, DEPA

ASA CREW:  ตอนนี้อาคารในประเทศไทยเรานับว่า Smart ระดับไหนคะ
ดร.นน: เราต้องมองความ “สมาร์ท” เป็นกระบวนการ ไม่ใช่ผลลัพธ์ เพราะเราต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ อาคารบางหลังอาจจะ “สมาร์ท” ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน อาคารบางหลังอาจจะ “สมาร์ท” ในเรื่องของการจัดการขยะ นอกจากนี้ อาคารก็เหมือนกับธุรกิจ คือจะอยู่ในหนึ่งใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงที่เติบโต ช่วงที่กำลังพุ่งแรง และช่วงที่กำลังชะลอตัว ตอนท้าย ความสำคัญ คือ ถ้าจะ “สมาร์ท” ได้จะต้องเข้าใจว่าตัวเองอยู่ในส่วนไหน เช่น บริษัทโกดัก ในช่วงที่กำลังจะถูกแทรกแซงอย่างหนักจากเทคโนโลยีกล้องดิจิทัล เป็นเพราะไม่รู้ว่าเทคโนโลยีฟิล์มกำลังอยู่ในช่วงการชะลอตัวตอนท้าย เผลอไปคิดว่าตัวเอง “สมาร์ท” แล้ว ไม่ได้มองความ “สมาร์ท” เป็นกระบวนการ แต่มองว่าเป็นสิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีใครมาเอาไปจากเขาได้ พอมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา คือ เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลภาพแบบดิจิทัล บริษัทโกดักเองก็แทบจะหายไปจากกลไกตลาดเพราะเทคโนโลยีฟิล์มไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป ถ้ามองเป้าของความ “สมาร์ท” ตามตัวเอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า ถ้าจะ “สมาร์ท” ก็ต้องเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดีกว่าเดิมตลอดเวลา ซึ่งการที่เรามีเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลของอาคารด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้เราสามารถเห็นโอกาส เปรียบเทียบข้อมูลได้ดีกว่าเดิม ทำให้เราสามารถพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา ดังนั้นแล้ว อาคารที่ “สมาร์ท” จึงไม่ใช่อาคารที่ได้รับรางวัลในวันนี้ แต่เป็นอาคารที่ใช้กระบวนการเก็บและบริหารข้อมูล เป็นฐานในการเปลี่ยนแปลงในทางบวกตลอดเวลา จึงจะเป็น อาคารที่ “สมาร์ท” อย่างแท้จริง

Dr. Non, DEPA
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    ASA EXPO 2020: Refocus Heritage in Details นิทรรศการที่เต็มไปด้วยคำถามเกี่ยวกับการมองมรดกทางวัฒนธรรมแบบใหม่

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ: ไลลา ตาเฮ หนึ่งในสิ่งที่หลายคนตั้งตารอสำหรับงานสถาปนิก ซึ่งจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ทุกปีนั้น ก็คือการออกแบบนิทรรศการซึ่งมีส่วนสำคัญในการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่แล้วให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก งานสถาปนิกในปี 2563 ครั้งนี้ …

    โดย ASACREW
  • Talk

    Roundtable Talk: What is Co-Creation?

    เรื่อง: ASA CREW Team ภาพ : ชนิภา เต็มพร้อม ในปัจจุบันที่มีการใช้คำว่า co-create อย่างแพร่หลายในหลายๆกลุ่มองค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ทีมงาน ASA CREW โดย ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ จะมาร่วมหาคำตอบกับคุณชวณัฏฐ์ ล้วนเส้งจาก CAN (Community…

    โดย ASACREW
  • Talk

    Round Table Talk: Sook Siam

    อีกหนึ่งโครงการตลาดที่น่าสนใจในช่วงนี้คือพื้นที่ตลาดที่ถูกจับมาไว้ในศูนย์การค้าอย่างโครงการสุขสยาม โครงการตลาดที่นำเอาสินค้าตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาจัดไว้รวมกันในโครงการ ICONSIAM และในครั้งนี้ทีมงาน ASA CREW ก็ได้โอกาสพูดคุยกับคุณโอ๊ต-ชยะพงส…

    โดย ASACREW