เรื่อง : สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล
ภาพ : HAS design and research , ideaPod
งานออกแบบไทยในมุมมองชาวจีน
ตัวผมเองได้มีโอกาสทำงานและใช้ชีวิตพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆในขณะอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันของงานออกแบบและสถาปัตยกรรมที่ไม่น้อยหน้าใคร ที่นี่มีทั้งงานออกแบบใหม่และงานปรับปรุงตึกเก่าให้เห็นอยู่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการไลฟ์สไตล์ย่าน Xintiandi อาคารเก่าย่าน The Bund ตึกระฟ้าย่าน Lujiazui และโครงการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ได้มีโอกาสมาทำงานที่นี่ ซึ่งเพื่อนๆ นักออกแบบชาวจีนต่างแสดงความสนใจเมื่อทราบว่าเราเป็นคนไทยและชื่นชมพร้อมทั้งยกตัวอย่างงานออกแบบของคนไทยที่เป็นที่รู้จักได้อย่างน่าตกใจ จึงทำให้ผมเกิดคำถามว่าอะไรทำให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยเป็นที่จดจำและได้รับการชื่นชมจากแวดวงนักออกแบบประเทศจีนเป็นอย่างมาก หลายๆ คนถึงกับเดินทางมาดูงานที่ประเทศไทยเพื่อสัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ผมเริ่มเข้าใจคำตอบมากขึ้นเมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวงสนทนากับสถาปนิกไทยและนักออกแบบชาวจีนในกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไปครั้งนี้
สถานที่จัดงานที่แตกต่าง
สถานที่จัดงานนี้มีชื่อว่า ideaPod เป็นโครงการปรับปรุงอาคารเก่าที่ยังคงเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบอาร์ตเดคโค แต่สร้างพื้นที่การใช้งานแบบใหม่สไตล์โมเดิร์นที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์การทำงานในรูปแบบ co-working space ในปัจจุบัน อันประกอบด้วยส่วน public space สำหรับผู้ใช้ทั่วไปและส่วน private office แบบสองชั้นที่มีบันไดแยกเฉพาะเหมาะสำหรับออฟฟิศขนาดเล็กและกลุ่มฟรีแลนซ์ที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวในการทำงาน
ตัวอาคารตั้งอยู่ตรงหัวมุมถนนบริเวณ The Bund ทางเดิมริมน้ำแบบที่เราเคยเห็นในละครชุดคลาสสิคยุค 80 เรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่มีชื่อเสียงของเมือง โครงการนี้นอกจากจะมีความน่าสนใจในรายละเอียดการออกแบบปรับปรุงอาคารเก่าแล้ว ยังมีความโดดเด่นในแง่การมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบเจาะจงที่เป็นนักออกแบบหรือคนที่ชื่นชอบในงานออกแบบโดยเฉพาะ ซึ่งที่นี่จะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบเป็นประจำและต้อนรับผู้มาเยือนในบรรยากาศเป็นกันเองแบบคาเฟ่ที่เปี่ยมไปด้วยรสนิยมสไตล์เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังมีงานแสดงนิทรรศการศิลปะจากศิลปินที่น่าสนใจหมุนเวียนมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้เข้าชมอีกด้วย
ความสนใจที่เกินร้อย
และเป็นโอกาสดีเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาทางทีมสถาปนิกจาก HAS design and research ที่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรวบรวมผลงานของสถาปนิกไทยมาจัดนิทรรศการในเมืองกว่างโจวไปเมื่อต้นปีได้เชิญคุณจีรเวช หงสกุล แห่งบริษัท IDIN Architects มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถ่ายทอดเรื่องราว แนวคิด และกระบวนการในการทำงานออกแบบของบริษัทให้กับผู้ฟังชาวจีนและชาวต่างชาติอื่นๆ ที่ให้ความสนใจร่วมงาน งานเสวนานี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทราบจากผู้จัดมาว่าที่นั่งทั้งหมดถูกจองเต็มภายหลังเปิดลงทะเบียนเพียงสองวันเท่านั้น โดยในช่วงเวลาของการจัดงานได้มีผู้คนในวงการออกแบบทั่วเซี่ยงไฮ้มารวมตัวกันร่วมร้อยคน
แนวคิดของ IDIN Architects ในการออกแบบ
บรรยากาศกิจกรรมที่เป็นกันเองนั้นเน้นไปในเรื่องของการนำเสนอแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ของ IDIN Architects ที่ผ่านมา เนื้อหาเริ่มตั้งแต่แนวทางการออกแบบตัวออฟฟิสของบริษัทเองที่สร้างพื้นที่ปลีกตัวจากความวุ่นวายบนถนนสุทธิสาร โดยแปลงสภาพเป็นอาคารที่แวดล้อมด้วยป่าขนาดย่อมๆ และร้านกาแฟสไตล์โมเดิร์น การสร้างบ้านเพื่อคู่สามีภรรยาที่อยู่อาศัยกันเพียงสองคนในซอยร่วมกับครอบครัวดั้งเดิมที่เน้นการแบ่งแยกพื้นที่อย่างกลมกลืน การปรับเปลี่ยนอาคารเก่าเพื่อการใช้งานของครอบครัวที่มาอยู่รวมกันและควบรวมการใช้งานเชิงพาณิชย์ การสร้างสรรค์บ้านที่ต้องการความเป็นส่วนตัวที่อยู่บนความท้าทายของชุมชนที่มองเห็นกันได้โดยง่าย ความประหลาดอันเป็นปกติของเรื่องราวครัวไทย-ครัวฝรั่งของบ้านในประเทศไทย รวมทั้งโครงการโฮสเตลที่ฉีกกฎเกณฑ์ด้านการแบ่งพื้นที่ หรือแม้กระทั่งโครงการออกแบบโรงแรมสำหรับการใช้งานของคู่รักที่ตั้งอยู่บนเกาะเสม็ด
ถึงแม้ว่าแต่ละโครงการจะฟังดูเหมือนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือแนวคิดโดยรวมนั้นตั้งอยู่บนเหตุผลที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ ความเข้าใจในตัวผู้ใช้งาน การเปิดรับพื้นที่แสงธรรมชาติ ออกแบบเพื่อสอดรับกับชุมชนแวดล้อม และภาษาการออกแบบที่ไม่หลงลืมรากของวัสดุและแนวคิดการใช้งาน เหล่านี้ล้วนเป็นแนวคิดที่ผู้ฟังชาวจีนแสดงความชื่นชนและมีส่วมร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นอย่างมากจนผมเองก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกภูมิใจในผลงานของคนไทยเราบนเวทีนานาชาติ จึงหวังอย่างยิ่งที่ผลงานออกแบบของสถาปนิกไทยจะได้รับโอกาสเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกในอนาคต
ท่ามกลางบทเสวนาและตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่จัดงาน เราจะเห็นผู้คนบนท้องถนนเดินกันขวักไขว่เป็นพื้นหลัง เช่นเดียวกับที่ผู้คนเหล่านั้นมองเห็นพวกเรานับร้อยนั่งอยู่บนสเตปที่นั่ง ตั้งใจฟังการนำเสนอผลงานของ IDIN Architects คงเหมือนกับภาวะไร้ซึ่งขอบเขตระหว่างภายในและภายนอก เช่นเดียวกับการไร้ซึ่งพรมแดนระหว่างผลงานออกแบบของไทยและผู้รับชมชาวจีนเหมือนที่ HAS design and research ผลักดันให้เกิดขึ้นเช่นกัน
ideaPod
No. 1 Yan’an East Road (Near Zhongshan Dong Er Road), Huangpu District, Shanghai สามารถเดินทางได้จากสถานีรถไฟใต้ดิน Nanjing East และ Yuyuan Garden แล้วเดินต่อประมาณ 15 นาที