Co-Creation: กระบวนการร่วมสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม

Learn / 12 ก.พ. 2020

เรื่อง : ดร. สุปรียา หวังพัชรพล
ภาพ : เครดิตตามภาพ

Co-creation เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจ อาทิ แนวคิดเมืองค้าปลีกรูปแบบใหม่ “Co-creation” ในการเปิดตัว ICONSIAM กับตัวอย่างของพื้นที่ “สุขสยาม” เมืองมหัศจรรย์แห่งวิถีไทย ที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ศิลปิน วิสาหกิจท้องถิ่น ชุมชนวิถีไทย ผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นไทย และนักออกแบบในการพัฒนาโครงการขึ้น หรือ กลยุทธ์ “Co-create Center of Life” โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด
(มหาชน) ที่พยายามต่อยอดจากการพัฒนาศูนย์การค้าไปสู่การเป็น Center of Life หรือศูนย์กลางการใช้ชีวิต จุดหมายที่ตอบรับความต้องการของคนยุคใหม่ทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเมื่อแนวคิดนี้มาผสานกับการออกแบบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายในห้างสรรพสินค้าที่ชัดเจน เช่น Cooking Studio หรือ Co-working Space ตลอดจนการร่วมลงทุนกับธุรกิจอื่น เช่น การเปิด IKEA Store สาขาบางใหญ่ ในพื้นที่ Central Westgate

Co-Create เจริญกรุง (Credit: tcdcconnect.com)

ส่วนในแวดวงการออกแบบนั้น เราคงเคยได้ยินชื่อ โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง หรือ Co-Create Charoenkrung เมื่อช่วงปี 2558-2559 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในการพัฒนาพื้นที่ในย่านเจริญกรุง ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบของความเจริญทางธุรกิจสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความต้องการทางกายภาพ จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านการจัดทำกิจกรรมออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกับชุมชนในย่าน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกลุ่มนักออกแบบที่เริ่มต้นการทำงานออกแบบด้วยกระบวนการ Co-creation

CAN Co-Create Workshop in Yangon 2019 (Credit: CAN:Community Architects Network)

Co-Creation คืออะไร ทำไมต้องร่วมสร้างสรรค์
ผู้ริเริ่มบุกเบิกแนวคิดของ Co-creation เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 2000 คือ C. K. Prahalad และ Venkat Ramaswamy ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจการตลาดจากมหาวิทยาลัย University of Michigan Business School โดยเผยแพร่แนวคิดในบทความและในหนังสือ The Future of Competition: Co-Creating Unique Value with Customers ที่พวกเขาร่วมแต่งและตีพิมพ์เมื่อปี 2004 ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อผู้บริโภคในปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น ความหมายของคุณค่าและกระบวนการสร้างคุณค่านั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากมุมมองที่มีผลิตภัณฑ์และบริษัทเป็นศูนย์กลาง ไปเป็นการเน้นประสบการณ์ของผู้บริโภคส่วนบุคคล ผู้บริโภคที่ได้รับข้อมูล อำนาจ และมีส่วนร่วม จะสร้างความร่วมมือและรู้สึกผูกพันกับผลิตภัณฑ์หรือบริการมากขึ้น ดังนั้นการสร้างมูลค่าร่วมกันโดยบริษัทและลูกค้า หรือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสร้างประสบการณ์การบริการให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ด้วยรูปแบบของการสร้างปฏิสัมพันธ์ การสนทนา แลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพยากร รวมทั้งเรียนรู้พัฒนาร่วมกัน จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นให้แก่ทั้งสองฝ่าย

Otto_Scharmer (Credit: wikiwand.com/en/Otto_Scharmer)

อีกหนึ่งผู้นำทางความคิดของ Co-creation ที่น่าสนใจมาจากแวดวงการบริหารจัดการองค์กร คือ Claus Otto Scharmer ปัจจุบันเป็นอาจารย์อาวุโสด้านการจัดการจากมหาวิทยาลัย MIT ซึ่งเขาได้พัฒนาทฤษฎีการเรียนรู้และการจัดการซึ่งเรียกว่า Theory U ขึ้นในช่วงการค้นคว้างานวิจัยระดับปริญญาเอกและในภายหลัง Scharmer ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันชื่อ Presencing[1] และโครงการ u.lab ใน MIT ที่มุ่งเน้นการประยุกต์ทฤษฎีดังกล่าวกับการดำเนินงานศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและองค์กร โดยแนวคิด Theory U เริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวของสถาบันขนาดใหญ่ซึ่งสร้างผลลัพธ์ที่ไม่มีใครต้องการ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน การก่อการร้าย ความรุนแรง และการทำลายชุมชนธรรมชาติ ชีวิตรากฐานของสังคมเศรษฐกิจและระบบนิเวศน์ ตลอดจนความผาสุกทางจิตวิญญาณของเรา จึงนำมาสู่การเร่งสร้างความสามารถในการเป็นผู้นำแบบใหม่ เพื่อเผชิญกับความท้าทายต่างๆอย่างมีกลยุทธ์ โดยการพัฒนาความสามารถดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถสร้างอนาคตที่มีความเป็นไปได้อันหลากหลายมากขึ้น

Theory U จะเน้นกระบวนการพัฒนาทักษะของตัวเองและกลุ่มคนในองค์กรผ่าน 5 ลำดับขั้น ดังนี้

1. Co-initiating การร่วมรับฟังผู้อื่นและความต้องการของตัวเอง
2. Co-sensing การร่วมสังเกตและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง
3. Presencing การตระหนักรู้ภายในถึงแรงบันดาลใจและเป้าหมาย
4. Co-creating การร่วมทดลองค้นคว้าสร้างโอกาสใหม่ๆ ผ่านการลงมือทำ
5. Co-evolving การร่วมพัฒนาสร้างวิวัฒนาการใหม่

Theory U (Credit: https://www.presencing.org/aboutus/theory-u)

Co-creation กับกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม
ในงานออกแบบเชิงพื้นที่โดยทั่วไปนั้น สถาปนิกต่างต้องร่วมคิดและหารือกับลูกค้าเป็นหลักในการตัดสินใจทางเลือกของการพัฒนาโครงการ แต่เราอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่จะเป็นผู้ใช้หลักของพื้นที่ที่เราออกแบบในอนาคตมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เนื่องด้วยขั้นตอนที่ต้องการทั้งระยะเวลาและงบประมาณมากขึ้น กระบวนการ Co-creation จึงอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทุกๆ งานออกแบบ แต่ในบางประเภทงานโดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้งานที่หลากหลายและต้องการตอบสนองหลายกลุ่มเป้าหมายนั้น กระบวนการ Co-creation อาจเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวความคิด ความต้องการ และรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้นร่วมกันต่อไป เช่น ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ การออกแบบวางผังชุมชนหรือพื้นที่เมือง ในปัจจุบันมีผลงานสถาปนิกนักออกแบบหลายกลุ่มที่พยายามทดลอง ค้นคว้าและออกแบบเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากงานออกแบบสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานออกแบบร่วมกัน

CAN Co-Create Jhenaidah Workshop in Bangladesh 2019 (Credit: Facebook- CAN:Community Architects Network)

ตัวอย่างเช่น Alejandro Aravena สถาปนิกชาวชิลีจากกลุ่ม Elemental ผู้ได้รับรางวัล The Pritzker Prize เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่เน้นขยายบทบาทการทำงานของสถาปนิกร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม สตูดิโอ Baupiloten BDA[2] จากเยอรมันที่เน้นการร่วมออกแบบอาคารประเภทที่อยู่อาศัยและสถานศึกษาในรูปแบบสหวิทยาการด้วยกลยุทธ์การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ผลงานของกลุ่มสถาปนิกและนักกิจกรรมในฝรั่งเศส atelier d’architecture autogérée กับโครงการ R-Urban[3] ที่ร่วมออกแบบวางแผนกับภาคประชาชนในเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืองาน Play the City[4] ที่ใช้เกมส์เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเรื่องการออกแบบวางแผนพัฒนาเมืองร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน

จุดรวมธน เวิร์กช็อปที่ชวนชาวฝั่งธนมาร่วมออกแบบเพื่อผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์สนุกๆในฝั่งธนบุรี (Credit: Crosss & Friends)

กลุ่มสถาปนิกในบริบทของไทยที่มีผลงานจากกระบวนการร่วมสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น คุณปฐมา หรุ่นรักษ์วิทย์ จาก CASE Studio ซึ่งเริ่มทำงานมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2540 กับผลงานการออกแบบวางผังที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้มีรายได้น้อยหลายชุมชนและริเริ่มที่อยู่อาศัยแบบ co-housing สำหรับชนชั้นกลางในเมืองอย่างโครงการ Ten-House นอกจากนั้นยังมีการทำงานของสถาปนิกนักออกแบบในสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ผู้ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง[5] ของภาครัฐในการออกแบบวางผังบ้านและชุมชนร่วมกับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

Co-create มหากาฬ ร่วมจัดโดยภาคีหลายภาคส่วนร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อครั้งพัฒนาข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานครฯในการพัฒนาเมืองร่วมไปกับการอนุรักษ์ชุมชน

ซึ่งในโครงการบ้านมั่นคงนี้ยังมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่งในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ร่วมทำงานจริงกับชุมชนและเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำให้อาจารย์และนักศึกษาสถาปัตยกรรม เกิดการนิยามสถาปนิกทำงานออกแบบในลักษณะนี้ว่า “สถาปนิกชุมชน” ซึ่งเดิมมีภาพลักษณ์ที่ยึดโยงกับงานออกแบบกับชุมชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

ASA-CAN workshop คลองบางหลวง (Credit: Facebook- ASA CAN: Community Act Network)

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2553 เกิดเครือข่ายปฏิบัติการชุมชน หรือ Community Act Network (CAN) ขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มคนที่สนใจกระบวนการทำงานออกแบบสร้างสรรค์ร่วมกับผู้คน และมีการเชื่อมโยงกับสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ในฐานะกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง (ASA-CAN) เกิดโอกาสในการจัดกิจกรรม Co-creation หลายครั้ง เช่น Ten for Ninety: Public Transit Lounge ในการทดลองปรับเปลี่ยนพื้นที่โถงพักรอในสถานีรถไฟหัวลำโพง ดำเนินงานร่วมกับสถาปนิก Cloud-Floor และ IF: Integrated Field รวมถึงงานออกแบบวางผังเมืองชุมแสงร่วมกัน Co-Creation: เมืองชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ที่ ASA-CAN ร่วมจัดกับเครือข่ายสถาปนิกชุมชนในเอเชียจาก 17 ประเทศ[6]

Co-creation เมืองชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ (Credit: communityarchitectsnetwork.info)
Imagine Maekha แผนการปรับปรุงพื้นที่ริมคลองแม่ข่าร่วมกับชุมชนริมคลองแม่ข่า เทศบาลเชียงใหม่ สถาปนิกใจบ้านและภาคี (Credit: สถาปนิกใจบ้าน)

และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานแบบร่วมสร้างสรรค์นี้อย่างกว้างขวางขึ้น ในขณะเดียวกันยังมีการขยายตัวขอบเขตลักษณะงานสู่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายในสังคม รวมถึงการเกิดของสำนักงานออกแบบรุ่นใหม่ๆที่สนใจในกระบวนการทำงานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เช่น Openspace – ตาแสงสตูดิโอ ทำงานออกแบบร่วมกับผู้สูงอายุและผู้มีความสามารถที่แตกต่าง สถาปนิกใจบ้านสตูดิโอในเมืองเชียงใหม่ กลุ่มสถาปนิก CROSSs & Friends สตูดิโอสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ บริษัท SHMA SOEN กับโครงการร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะในเมือง กลุ่ม SATARANA ที่ชวนคนเมืองร่วมออกแบบพื้นที่สาธารณะและการปรับปรุงป้ายรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร-MAYDAY เป็นต้น

กระบวนการ Co-Creation ป้ายรถเมล์โดยกลุ่มเมล์เดย์ ร่วมกับสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGA) และกรุงเทพมหานคร
Bangkok Bus Stop การออกแบบป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่อย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนทั่วไป โดย MAYDAY-SATARANA

ในกระบวนการทำงานออกแบบที่ร่วมกันสร้างสรรค์นั้นค่อนข้างเปิดโอกาสให้มีการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้นนอกจาก Co-creation จะเป็นเครื่องมือการทำงานออกแบบเชิงพื้นที่หรือด้านการบริการ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและพื้นที่ได้ ทำให้เกิดความผูกพันต่อสถานที่หรือโครงการมากขึ้นในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบและผู้ใช้หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ไม่จำเป็นต้องหยุดลงเมื่อเสร็จสิ้นการออกแบบ แต่การสนทนาแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ การค้นคว้าทดลองร่วมกัน การปรับเปลี่ยนของพื้นที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่หลากหลายนั้นสามารถมีวิวัฒนาการและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.ตรัง ของกลุ่มสถาปนิกตาแสง
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Learn

    The Jungle Camp

    เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู ภาพ: Multiple sources หากใครที่ได้ติดตามข่าวการอพยพ/ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คงจะพอคุ้นหูกับชื่อ Calais camp อยู่บ้าง หรือมักเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือ The Jungle ซึ่งเป็นค่ายรองรับผู้อพยพ/ลี้ภัยที่มา…

    โดย ASACREW
  • Learn

    สิงสาราสัตว์ในสถาปัตยกรรมไทย

    เรื่อง: ชาตรี ประกิตนนทการ สถาปัตยกรรมไทยประเพณีหากเรามองดูในรายละเอียดอย่างจริงจังจะพบว่ามีเป็นจำนวนมากที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยอาศัยแหล่งอ้างอิงทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับสรรพสัตว์นานาชนิด เริ่มตั้งแต่องค์ประกอบตกแต่งอาคารไปจนถึงระดับที่ให้แนวคิดต่อกา…

    โดย ASACREW
  • Learn

    SHIGERU BAN LECTURE: WORKS AND HUMANITARIAN ACTIVITIES

    แสงไฟในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน ถูกปรับให้สลัวลง บนจอขนาดใหญ่ที่ทุกสายตาจับจ้องปรากฏภาพสถาปัตยกรรมจากแท่งกระดาษหลากหลายรูปแบบ Shigeru Ban สถาปนิกชาวญี่ปุ่น วัย 62 ปี ผู้มีผลงานน้อยใหญ่ฝากไว้เกือบทั่วโลก เขาเริ่มต้นเล่าเรื่องราวการทำงานท…

    โดย ASACREW