สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปี 2529 โดยใช้ชื่องานว่า “สถาปนิก ’29” และได้จัดเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปี 2533) จนถึงปัจจุบัน ได้จัดไปแล้ว 31 ครั้ง โดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 400,000 คน ในแต่ละปี สำหรับปีนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปี 2561-2563 มีมติเห็นชอบในการจัดงานสถาปนิก’63 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 34 ในระหว่างวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม-วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 ณ อาคาร ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของสมาคมฯ ผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง นวัตกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม การส่งเสริมวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมแก่สมาชิก และสังคม ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ แก่ประชาชน นิสิต นักศึกษา และส่วนของงานแสดงวัสดุผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในและการก่อสร้าง
แนวคิดหลักในการจัดงาน
ในสังคมของเราที่ผ่านมาก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ตกทอดสืบมาจากอดีต โดยใช้คำว่า โบราณสถานโบราณวัตถุ เรียกสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เรานึกถึงแต่เพียงความเก่าแก่ โบราณ ที่ใช้อายุสมัยมาเป็นเครื่องกำหนดคุณค่า หากแต่สาระสำคัญที่แท้จริงของคุณค่าน่าจะอยู่ที่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ขึ้นมาในอดีตเพื่อให้มีคุณค่าสำหรับการใช้สอยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเราได้ร่วมกันเห็นถึงคุณค่านั้นที่คู่ควรต่อการรักษาไว้เพื่อส่งต่อจากรุ่นของเราไปสู่คนในรุ่นต่อไป และนี่ก็คือความหมายของคำว่า HERITAGE หรือ มรดก
ในปัจจุบัน HERITAGE ตามความเข้าใจโดยทั่วไปของคนส่วนมากก็มักจะนึกถึงเฉพาะแต่โบราณสถาน นึกถึงแต่การบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพความเก่าแก่โบราณไว้ คิดว่าการจัดการกับมรดกนี้เป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว โดยคิดว่าเมื่อเป็นโบราณสถานแล้วกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในเรื่องนี้จะห้ามแตะต้อง จนกลายเป็นความกลัวที่จะเข้ามาจัดการแหล่งมรดกเหล่านี้ จนลืมไปว่ามรดกก็คือสมบัติของทุกคน ที่ทุกคนควรจะมีส่วนในการดูแลรักษาและนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมที่จะส่งมอบต่อให้รุ่นลูกหลานเราได้ด้วยความภาคภูมิใจ ในรูปแบบวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี และนี่คือบทบาทที่สำคัญของการออกแบบและการศึกษาทางสถาปัตยกรรมของสถาปนิกทุกคน ไม่ได้จำกัดว่าเป็นบทบาทของกลุ่มสถาปนิกอนุรักษ์เท่านั้น … จึงถึงเวลาของการมา refocus heritage และมองเก่า ให้ใหม่
REFOCUS HERITAGE : มองเก่า ให้ใหม่ จึงถูกเสนอมาเป็นชื่องาน เพื่อแสดงถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้อง กับสิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นของเก่าๆแล้วขีดเส้นให้อยู่แต่ในกรอบเดิมๆ เพื่อสื่อถึงการนำเสนอประสบการณ์ด้านมรดกสถาปัตยกรรมที่จะปรับมุมมองการรับรู้ไปตามประสบการณ์ของผู้เข้าชมงานแต่ละคนผ่านนิทรรศการและกิจกรรมภายในงาน สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับงานอาคารสามารถปรับความคมชัด (focus) ของประสบการณ์ที่มีต่อมรดก สถาปัตยกรรม อย่างลงลึกในรายละเอียด (zoom) ได้รับข้อมูลที่สนับสนุนต่อการประกอบวิชาชีพหลากหลายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ที่เคยรับรู้ต่อมรดกสถาปัตยกรรมในมุมใดมุมหนึ่งจะได้ประสบการณ์ที่ขยายขอบเขตมุมมองที่กว้างขึ้น (wide angle) ค้นพบมรดก สถาปัตยกรรมที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน มองเห็นมรดกในทุกมิติทั้งในเรื่องของกาลเวลาระดับความสำคัญ และรูปแบบทางวัฒนธรรม มีทั้ง “ของเก่า” ในเรื่องคุณค่าที่เราอาจจะเคยมองข้าม การฟื้นฟูสืบค้นหา รูปแบบ วัสดุและ เทคนิคฝีมือมือช่างดั้งเดิมให้กลับคืนมา และ “ของใหม่” อันได้แก่ วัสดุ เครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการคุณค่าของมรดก การออกแบบใหม่ที่นำอัตลักษณ์ของเก่ามาประยุกต์ใช้ ที่คำนึงถึงบริบทที่ตั้งของอาคาร ตลอดจนแนวคิดใหม่ในการจัดการแหล่งมรดก เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้งานในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
การ REFOCUS จึงไม่เพียงแต่เป็นการหวนกลับมามองดูมรดกเหล่านี้อีกครั้ง แต่การปรับความคมชัดด้านการรับรู้ที่มีต่อ มรดกสถาปัตยกรรมยังหมายถึงความยืดหยุ่นของการอยู่ร่วมกันเพื่อการรักษาคุณค่า ระหว่างความเก๋าของอาคารเก่าและความเก๋ของอาคารใหม่ร่วมสมัย เป็นการปลุกมุมมองต่อมรดกสถาปัตยกรรมให้มีชีวิตที่กว้างขึ้น หลากหลายมิติมากขึ้น สามารถเข้าถึงผู้เข้าชมงาน ที่มีความหลากหลายอาชีพ และความแตกต่างทางยุคสมัย ให้ทุกคนหันกลับมาตระหนักถึงบทบาทในความเป็นเจ้าของ มรดก ในอันที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาและส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้กับสังคมที่จะต้องก้าวต่อไปในวันพรุ่งนี้ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นิทรรศการและกิจกรรมสำคัญปีนี้ ประกอบด้วย
1. นิทรรศการหลัก ธีมงาน
1.1 Introduction to Refocus Heritage
1.2 นิทรรศการ ปัญหามรดกบนโลกออนไลน์ นำเสนอผลงานที่แสดงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมรดก
1.3 นิทรรศการ ฟื้นชีวิตมรดก นำเสนอผลงานในการขยายมุมองต่อมรดกให้กว้างขึ้น
1.4 นิทรรศการมรดกใกล้ตัว
2. นิทรรศการอื่นๆ
2.1 นิทรรศการ ผลงานสถาปนิก ( ASA MEMBER ) นำเสนอผลงานการออกแบบของ บริษัทสถาปนิก ในการขยายมุมอง การประกอบ วิชาชีพกับมรดก
2.2 นิทรรศการ Heritage Network นำเสนอผลงานนิทรรศการขยายมุมมอง ด้านการอนุรักษ์และพัฒนามรดกสถาปัตยกรรม
2.2.1 เมืองเก่า
2.2.2 มรดกโลก
2.2.3 สัมปทานภาครัฐ
2.2.4 มูลนิธิ
2.2.5 บริษัทเอกชน
2.2.6 หน่วยงานรัฐ
2.3 นิทรรศการโครงการประกวดแบบระดับชาติ Everyday Heritage การแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับชาติ ที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมส่งผลงานแสดงแนวคิดในการออกแบบภายใต้ธีมงาน
2.4 นิทรรศการรางวัล
2.4.1 นิทรรศการ รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2562 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2562
2.4.2 นิทรรศการ รางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563 นำเสนอผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563 คัดเลือกโดยสมาคม สถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2562
2.5 นิทรรศการ ผลงานวิชาการ “นิทรรศการการซ่อมแปลงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวังปี 2469-2479” การแสดงประวัติความเป็นมาในการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและซุ้มประตูในพระบรมมหาราชวัง
2.6 นิทรรศการ ผลงานนิสิต นักศึกษา Heritage in danger
นำเสนอผลงานเหล่านิสิต นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ 37 สถาบัน นักศึกษาเสนอแนวคิด แนวทางในการดำเนินการอนุรักษ์ มรดกสถาปัตยกรรมที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤติขาดการดูแลรักษา
3. พื้นที่กิจกรรม Activities
3.1 หมอบ้านอาษา การบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไปตอบสารพันปัญหาในเรื่องการก่อสร้าง บ้านและอาคาร โดยกลุ่มสถาปนิกอาสาผู้เชี่ยวชาญ
3.2 ASA Shop พื้นที่จำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกสมาคมฯ หนังสือวิชาการจากสถาบันการศึกษา หนังสือสถาปัตยกรรมจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ และหนังสือด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมจากสำนักพิมพ์ในประเทศ
3.3 ASA Club พื้นที่ Meeting Point และจุดพักผ่อนประจำของชาว ASA
4.งานสัมมนาวิชาการ ASA Forum 2020 และ ASA Seminar 2020
งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้าน สถาปัตยกรรมทั้งใน-ต่างประเทศ
5. งานอาษาไนท์
งานสังสรรค์ตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษาทุกรุ่นทุกสมัยทุกสถาบัน