บรรยากาศกิจกรรม Walk & Talk with an Architect ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ วัดโสมนัสราชวรวิหาร ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 15 ท่านได้แลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์จิ๋ว (Tiny Museum) แห่งนี้
เริ่มต้นด้วยการที่คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์เล่าถึงหลักการและหัวใจของการออกแบบงานชิ้นนี้ว่ามีด้วยกัน 3 ข้อ คือ ปลอดภัย ยั่งยืน เผยแพร่ ภายใต้คอนเซ็ปต์การเป็นหีบสมบัติที่เก็บรักษาของมีค่าอย่าง “กเบื้องจาน” (อ่านว่า กอ-เบื้อง-จาน) อายุ 8,000-20,000 ปี ซึ่งเจ้าคุณอ่ำ พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) เก็บรักษาไว้มาหลายทศวรรษให้อยู่อย่างยั่งยืนต่อไป และสามารถเผยแพร่ให้ผู้คนได้รับรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้มากขึ้น
คุณสุริยะเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังรายละเอียดต่างๆ ในระหว่างการเตรียมงานตลอด 2 ปี หลังจากที่ได้รับการเชิญชวนจากคุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ผลักดันเรื่องราวของกเบื้องจานเหล่านี้มาโดยตลอด เกิดเป็นภารกิจที่ท้าทายทั้งไหวพริบและกระบวนการคิดแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพื้นที่ในการแทรกพิพิธภัณฑ์จิ๋วนี้ลงไปในพื้นที่วัดโสมนัสฯ การพูดคุยให้เจ้าอาวาส และเจ้าคณะ เข้าใจถึงแนวคิดการออกแบบและวิธีการก่อสร้าง คุณสุริยะเล่าว่า การเลือกใช้สีแดงชาดนั้นก็ดึงมาจากสีสันที่ปรากฏในวัดแห่งนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เพิ่มความเข้มของสีแดงมากขึ้นไปอีกเพื่อความโดดเด่น แต่ก็รับรองว่าไม่สะดุดตาจนเกินพอดีด้วยขนาดที่เล็กจิ๋ว หรือการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แยกส่วนเพื่อการเก็บรักษาออกจากส่วนจัดแสดงอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้วัตถุโบราณล้ำค่าได้อย่างเต็มที่
จากนั้นทุกคนจึงได้เข้าไปชม Tiny Museum ของจริงด้วยตาของตัวเอง ได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่หน้าประตูที่มีการตัดแผ่นเหล็กให้โค้งตามรอยของขอบบัวตามคอนเซ็ปต์หลักของงานออกแบบนี้ว่าจะเป็นการวาง/แทรกตัวลงไปบนพื้นที่ว่างระหว่างกุฏิคณะ 1 ซึ่งไม่ไปแตะต้องตัวโครงสร้างอาคารเดิมรอบข้างแต่อย่างใด และยกพื้นขึ้นจากพื้นเดิมเล็กน้อย โดยมีการแบ่งช่องกั้นไว้เป็นระยะเพื่อป้องกันหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานแอบแฝงตัวเข้ามาได้
แผ่นเหล็กตรงรอยต่อระหว่างหลังคากับผนังเป็นอีกจุดที่แสดงให้เห็นความพิถีพิถันในการออกแบบ ด้วยการพับดัดแผ่นเหล็กแผ่นเดียวให้กลายเป็นทั้งคานรองรับน้ำหนักหลังคาที่เชื่อมต่อกับเส้นเหล็กยึดอยู่กับตัวชั้นวางกเบื้องจานเพิ่มความแข็งแรงให้โครงสร้าง และเป็นช่องสำหรับติดไฟส่องสว่าง และพับสุดท้ายเป็นรางระบายน้ำรองรับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาที่เอียงทำมุม 45 องศา
เมื่อมองไล่สายตาขึ้นไปสุดขอบหลังคาจะเห็นช่องใสเปิดให้แสงสว่างธรรมชาติเข้ามาภายในได้โดยไม่ต้องเปิดไฟ และเป็นการแก้ปัญหาเชิงรายละเอียดจากการใช้เหล็กแผ่นเป็นตัวโครงสร้างหลังคา เพราะหากเชื่อมให้แผ่นเหล็กชิดติดกันหมดอาจจะบิดเบี้ยว ไม่สวยงามได้ จึงใช้แผ่นอะคริลิกใสครอบปิดปลายยอดหลังคาแทน
ในช่วงท้ายของกิจกรรม คุณสุริยะได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมถึงการก่อสร้างในระยะถัดไป โดยเมื่อการก่อสร้างระยะแรกเสร็จสิ้น ก็จะตามมาด้วยการจัดทำส่วนจัดแสดงด้านในให้สมบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษากเบื้องจานด้วยตนเองต่อไป ด้วยความเชื่อที่ว่า งานสถาปัตยกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเชื่อมคนรุ่นใหม่กับของเก่าเข้าหากัน
ติดตาม Walk & Talk with an Architect ครั้งต่อไปได้ที่ asa crew