Plan Achitects

Visit / 03 ธ.ค. 2019

เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

Plan Architect

ตั้งแต่ตึกใบหยก 1 และ 2 โรงแรม The Oriental Residence บนถนนวิทยุ โรงแรม Hua Chang Heritage เชิงสะพานหัวช้าง โรงพยาบาลจุฬาภรณ์บนถนนวิภาวดีรังสิตไปจนถึง อาคารสำนักงานโอสถสภาบนถนนรามคำแหง รวมทั้งสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ที่ที่เราคงเคยผ่านตากันอยู่ในกรุงเทพฯ และอีกหลายแห่งในประเทศไทย หลายคนที่คุ้นเคยหรืออยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรรม อาจจะพอรู้กันอยู่แล้วว่าอาคารสำคัญในหลายๆ หลังนั้น ล้วนเป็นผลงานของ Plan Architect บริษัทสถาปนิกเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ไม่มีใครในวงการสถาปัตยกรรมจะไม่รู้จัก ใน Studio Visit รอบนี้ คุณ สิน พงษ์หาญยุทธ ศิลปินแห่งชาติ ปีพ.ศ. 2560 สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) คุณวรา จิตรประทักษ์ Head Architect และ คุณจิตตินันท์ จิตรประทักษ์ Senior Architect มาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ของ Plan Architect ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Plan Architect

จุดเริ่มต้น
Plan Architect เริ่มก่อตั้งในปีพ.ศ. 2518 จากกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ 7 คน ที่เป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม หลังจากที่ร่วมกันช่วยเหลือสังคมและปัญหาการเมืองในขณะนั้นเริ่มสงบลง ทุกคนต่างเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ไม่มีประสบการณ์การทำงาน อาศัยคำแนะนำจากรุ่นพี่ในการเปิดสำนักงาน โดยตั้งเจตนารมณ์ไว้ว่าจะทำงานเพื่อสร้างสรรค์ ส่งเสริมและพัฒนาสังคมต่อไป ในด้านที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญ และยึดถือว่า สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเป็นสมบัติของชุมชน จึงต้องคำนึงถึงสังคม และผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบเป็นหลัก

ในช่วงปี พ.ศ. 2536 Plan Architect เริ่มมีจำนวนพนักงานเกือบ 100 คน จึงแบ่งออกไปเป็น 3 บริษัท คือ Plan Associates และ Plan Studio เพื่อสามารถบริหารจัดการ ดูแลและทำงานร่วมกันได้อย่างทั่วถึง

Plan Architect

ผังของความคิด
Plan Architect ไม่ใช่ทรัพย์สินของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นรูปแบบบริษัทที่อยากส่งต่อรุ่นต่อไป ให้คงอุดมการณ์ที่ทำเพื่อสังคมไว้ ทำทุกผลงานให้ออกมาดีที่สุด ควบคู่กับการคำนึงถึงสภาพสังคมโดยรอบ ทุกๆ โครงการที่ได้รับมาจะยึดวิสัยทัศน์ ความคิด ความตั้งใจของลูกค้าเป็นโจทย์หลัก และจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยที่จะทำให้ฝันของลูกค้าออกมาเป็นจริง พร้อมๆ ไปกับการเอื้อประโยชน์ไปทางสภาพแวดล้อมและสังคมให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้

ในปัจจุบันการรับสื่อต่างๆ เข้าถึงได้ง่าย ลูกค้าเริ่มเห็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างเยอะ การออกแบบจึงให้เป็นบทบาทของคนรุ่นใหม่เป็นหลัก โดยแต่ละโครงการจะออกแบบไว้ให้เกิดทางเลือกหลากหลายได้มากที่สุด บางโครงการอาจมีทางเลือกมากถึง 4-5 แบบ ให้ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะเลือกและมีส่วนร่วมพัฒนาแบบไปด้วยกัน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน งานออกแบบมีหลากหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า ทั้งในแบบเรียบๆ เน้นไปที่ดีเทล หรือแบบแมสฟอร์มที่ดูหวือหวา ซึ่งเป็นอะไรที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ค่าก่อสร้างของทั้งสองทางอาจจะไม่แตกต่างกันมาก ทางหนึ่งออกแบบโครงสร้างยาก แต่ใช้วัสดุถูก เพื่อให้รูปแบบออกมาน่าสนใจ

ในอีกทางออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่มากไปด้วยรายละเอียดและคุณค่าของวัสดุ
ผังของการทำงาน

Plan Architect

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับส่วนการออกแบบเป็นหลัก โดยมีทีมโปรดักชั่น ทีมโมเดลและทีมแอดมิน ที่คอยช่วยสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร กฎหมาย การเขียนแบบ เทคนิคการก่อสร้าง วัสดุ ทำโมเดล ตลอดจนรายละเอียดในการทำงานส่วนอื่นๆ รวมไปถึงประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่มองเห็นภาพของโครงการในระยะยาวได้ชัดเจนกว่า ความรู้และกำลังสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้ทีมออกแบบสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ กระบวนการทำงานที่เชื่อว่าเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากออฟฟิศอื่นคือ เราทำงานจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันก็สบายๆ ไปด้วย อาจจะฟังดูเหมือนสองสิ่งนี้เป็นขั้วตรงข้าม บรรยากาศในออฟฟิศเราเหมือนการทำงานสมัยเรียนที่คณะ ที่คิดและสนุกกับงานไปเรื่อยๆ ไม่กดดัน ทั้งหมดล้วนเริ่มจากความตั้งใจที่อยากให้งานออกมาให้ดี พยายามช่วยกันทำออกมา และทุกคนก็จะไม่ได้รู้สึกเคร่งเครียด

Plan Architect

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดแข็งคือ เราทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน ไม่ได้แบ่งทีมทำงานและไม่ได้มีใครเป็นคนหลักในงานออกแบบ ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดและช่วยกันตัดสินใจ บางครั้งอาจมีการโหวตเลือกแบบกัน และทุกคนจะรู้สึกว่าทุกผลงานเป็นงานที่ทำร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ละโครงการก็จะมีคนดูแล 2 คน ช่วยกันคิดและทำ เผื่อกรณีที่คนหนึ่งไม่สะดวก งานก็จะยังสามารถมีอีกคนทำแทนให้ไปต่อได้ บางโครงการที่เป็นสเกลใหญ่อาจจะมีรุ่นพี่คอยช่วยดูและให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นอีกแรง
ทุกๆ โครงการจะมีการประสานงานกันกับทีมงานทุกด้านตั้งแต่เริ่มต้นทำโครงการ โดยช่วงแรกๆ จะอยู่ที่ทีมออกแบบเป็นหลัก แต่ก็ยังมีทีมโปรดักชั่น คอยช่วยดูแลเรื่องกฎหมาย วัสดุและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไปจนถึงทีมทำโมเดลจะทำตั้งแต่ mass model ที่จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงโมเดลแบบร่างที่เริ่มมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น หลังจากที่โครงการหนึ่งผ่านช่วงออกแบบ ทำแบบ preliminary design ไปถึงช่วง design development แล้ว ทีมหลักที่รับผิดชอบก็จะเป็นฝ่ายโปรดักชั่น ที่มีประสบการณ์ในด้านการเขียนแบบ จัดการเอกสาร รายละเอียดการก่อสร้าง การทำแบบขออนุญาตและแบบก่อสร้าง ประเมินราคาและดูวัสดุ ทีมออกแบบจะกลายมาเป็นฝ่ายสนับสนุนแทน

เครื่องมือ
รุ่นพี่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากวิธีการคิดและร่างแบบด้วยมือ ทำให้น้องที่เข้ามาจากตอนแรกที่ไม่ถนัดการเขียนมือเลย ก็เริ่มฝึกหัดเขียนจนพัฒนาขึ้น แม้อาจจะไม่ได้สวยมาก แต่ก็เป็นการสื่อสารหลักอีกทางหนึ่งที่นอกเหนือจากการพูดคุย นอกจากนี้ในออฟฟิศจะมีบอร์ดขนาดใหญ่อยู่ส่วนกลาง มีแผนงานของแต่ละโครงการที่ให้ทราบว่าปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนใด และจะมีชื่อสมาชิกแต่ละคนที่คอยบอกว่าวันไหนใครจะไม่อยู่ออฟฟิศ เพื่อจะได้หากันง่ายขึ้น

Plan Architect

ผังของพื้นที่
พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เช่าที่ออกแบบและสร้างตึกตั้งแต่ปี 2529 ให้เป็นที่อยู่ร่วมกันของบริษัทในเครือ แปลน กรุ๊ป ในส่วนของ Plan Architects จะอยู่ที่ชั้น 4 และ ชั้น 5 พื้นที่ต่อชั้นประมาณ 300 ตารางเมตร โดยชั้น 4 จะเป็นพื้นที่ทำงาน รวมกันอยู่ในชั้นเดียวเพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการประสานงานกัน

โดยจะจัดพื้นที่เป็นแบบ open plan แต่แบ่งเป็นโซนอยู่รวมกันแต่ละทีม ซึ่งจะมีโต๊ะและบอร์ดขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่ ไว้สำหรับใช้ประชุม เรียกแต่ละทีมมารวมตัวกันได้ง่าย จุดสำคัญคือพื้นที่ด้านหลังโต๊ะทำงานของแต่ละคนจะกว้าง เผื่อสำหรับการที่มีคนเดินเข้าไปหรือนั่งคุยงานกันเฉพาะบุคคลได้สะดวก เพราะการพูดคุยปรึกษากันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยทำให้งานไปต่อได้เร็วขึ้น ขึ้นมาที่ชั้น 5 จะเป็นส่วนต้อนรับลูกค้า ห้องประชุม มีทีมแอดมินคอยรับหน้าที่ดูแลอยู่

Plan Architect

ผังเวลา
ช่วงเวลาการทำงานแต่ละโครงการ ส่วนใหญ่จะพยายามให้อยู่ไม่เกิน 8 เดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสเกลงานและการตัดสินใจของลูกค้าด้วย ในช่วงแรกออกแบบขั้นต้นที่เสนอทางเลือกให้ลูกค้า จะใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์ ในส่วนของช่วงอื่นๆ อย่าง design development จัดทำแบบขออนุญาตและแบบก่อสร้าง จะใช้เวลาช่วงละ 2 เดือน
ในส่วนของการบริหารเวลาการทำงานของแต่ละคนค่อนข้างยืดหยุ่น เพียงแต่ต้องทำงานให้เสร็จตามเป้าหมาย หากมีประชุมกับลูกค้าต้องตรงต่อเวลา พยายามที่จะไม่ให้ทำงานล่วงเวลามากนัก เครื่องมือปัจจุบันทำให้การทำงานไม่ต้องใช้เวลามากเท่าสมัยก่อน ช่วยให้ได้ใช้เวลาส่วนตัวได้อย่างเต็มที่

สิ่งสำคัญที่ทำให้ Plan Architect ฝ่าฟันทุกวิกฤตมาจนถึงปัจจุบัน “มุ่งมั่นและอดทน” เป็น 2 คำหลัก ที่ทำให้ยังยืนหยัดได้มาจนถึงทุกวันนี้ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ตั้งกันไว้ตั้งแต่ก่อตั้งว่าจะทำเพื่อสังคมมาโดยตลอด จึงไม่ได้ทำไปเพื่อแสวงหาแต่ผลประโยชน์ ถือเอาความตั้งใจในงานเป็นพื้นฐานสำคัญที่ยึดโยงกันมาจนปัจจุบัน เงินอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการดำเนินงาน แต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก นอกนั้นก็เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพที่มีแบบแผนกำหนดไว้อยู่แล้ว ในแต่ละภาวะเศรษฐกิจและแต่ละช่วงอายุสร้างคนขึ้นมาคนละแบบ ซึ่งในออฟฟิศมีครบทุกช่วงวัย การทำงานที่เข้ากันได้ดี เกิดจากวัยที่ต่อเนื่องกัน ในช่วงวัยที่ใกล้ๆ กัน จะสื่อสารกันเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังเกิดคนรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ ที่จะสร้างให้เป็นกำลังหลักต่อไปในอนาคต

Plan Architect

“หากอยากเปิดบริษัทสถาปนิก ต้องมีความมั่นคง มุ่นมั่น เพราะเป็นงานที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก สถาปนิกและผู้รับเหมา เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง อาศัยความรับผิดชอบสูง ต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ต้องทำงานอย่างมีมาตรฐาน และประเมินรายละเอียดของงานอยู่เรื่อยๆ หากมีหุ้นส่วนควรทำงานอย่างมีระบบ มีเอกสาร มีระบบบัญชีชัดเจน ทุกคนต่างเป็นลูกจ้าง ที่รับเงินเดือน จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างโปร่งใส อีกทั้งยังจะช่วยลดภาระต่างๆ ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกออกแบบ จะดูเรื่องการออกแบบเป็นหลักในทุกโครงการ ทุกขั้นตอน ของการออกแบบ เริ่มตั้งแต่ แนวคิด การพัฒนาแบบร่าง รวมถึงการพัฒนารายละเอียด ในส่วนต่างๆ ของการทำแบบก่อสร้าง คอยดูแล ให้คำปรึกษาและแบ่งงานให้น้องๆ แต่ไม่จำเป็นว่าทุกแนวคิดการออกแบบต้องเริ่มจากเราเป็นหลัก เราเน้นทำงานเป็นทีม ไอเดียอาจจะเริ่มมาจากน้องก็ได้ ใช้ประสบการณ์ของเราช่วยให้มันชัดขึ้น มีความเป็นไปได้ รวมถึงการประสานงานออกแบบกับทางด้านวิศวกรรม และงานระบบ” – วรา จิตรประทักษ์ ฝ่ายออกแบบ Head of Design

“หลังจากแบบที่นำเสนอของทีมออกแบบผ่านแล้ว ก็จะส่งแบบร่างมาให้ดูแลต่อ เพื่อจัดทำแบบขออนุญาต แบบก่อสร้าง รวมถึงจัดทำแบบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดูแลอุปกรณ์ไอทีและซอร์ฟแวร์ในออฟฟิศด้วย” 
– สุรพงศ์ เอกภาพสากล ฝ่ายผลิต Job Caption & IT

“ทำงานตำแหน่ง cost control รับผิดชอบเรื่องงบประมาณของโครงการ เป็นที่ปรึกษาเรื่องวัสดุให้กับพนักงานในบริษัท ตั้งแต่ข้อมูลของวัสดุ ไปจนถึงเทคนิคการก่อสร้าง ในด้านเอกสารจะจัดทำเอกสารประมาณราคา สเปควัสดุของโครงการต่างๆ เพื่อไปเสนอแก่ลูกค้า ในทุกวันศุกร์ช่วงบ่ายจะมีจัดอบรมให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับวัสดุใหม่ๆ
– จเร เที่ยงอ่ำ ฝ่ายผลิต Cost & Specification

“หน้าที่หลักคือทำโมเดลให้กับทางออฟฟิศ ประสานงานกับทีมออกแบบตั้งแต่ช่วงแรกๆ อย่างช่วง preliminary design ที่ทำ mass model ให้ไปใช้เสนอกับทางลูกค้า เพื่อให้เห็นภาพรวมและเข้าใจง่ายขึ้น เพราะลูกค้าบางคนอาจจะมองเพียงแต่ภาพ 3 มิติอย่างเดียวไม่ชัด ขั้นตอนการทำโมเดลของที่นี่ก็จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ mass study โมเดลที่มีรายละเอียดมากขึ้น และโมเดลเสมือนจริง ส่วนใหญ่จะเป็นงานตัดด้วยมือ แต่หากเป็นกรณีทีมีรายละเอียดมากก็จะใช้วิธี outsource ออกไปทำ Laser cutting แล้วนำชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้นกลับมาประกอบเอง” – จำเริญ พัชราภา ฝ่ายผลิต Model

Plan Architect
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    ในความสัมพันธ์ระหว่างขนาด: โลกของช้าง จังหวัดสุรินทร์

    เรื่อง: อ. ดร. วิญญู อาจรักษา สถาปนิก: Bangkok Project Studio ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา สภาพแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆ ในเมืองมักถูกกำหนดให้มีขนาดที่สอดคล้องไปกับร่างกายมนุษย์และกิจกรรมที่เราคุ้นเคย แต่ในบริบทซึ่งเราดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์ การสร้างสรรค์…

    โดย ASACREW
  • Visit

    โรงเรียนสถาปัตย์ผลิตนักคิด

    The Bartlett School of Architecture, University College London (UCL) ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะผลิตสถาปนิกเพียงอย่างเดียว แต่มีระบบการเรียนการสอนที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ทดลองและค้นคว้าหาสิ่งที่ชอบและนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับงานสถาป…

    โดย asa
  • Visit

    โรงเรียนบ้านคลองบอน: พื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์จากภาพวาดเพื่อสร้างภาพฝัน

    เรื่อง: กิตติ เชาวนะ ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบริเวณอ่าวพังงาระหว่างพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต “เกาะยาวใหญ่” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรก…

    โดย ASACREW