Interview : รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

Talk / 03 เม.ย. 2020

เรื่อง: กฤษณะพล วัฒนวันยู
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

ด้วยประสบการณ์การสอนหนังสือและการทำวิจัย อยากให้อาจารย์ช่วยสะท้อนถึงวงการสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในแง่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของไทย

เริ่มว่าชีวิตชาวบ้านเป็นชีวิตที่ไม่ซับซ้อน ชาวนาเลี้ยงตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ สร้างสภาพแวดล้อมเป็นหมู่บ้าน ที่พักอาศัยของเขาโดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มีความรู้เอง ในสังคมยุคนั้นพอเกิดมาแล้วก็ได้เรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตเพื่อเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมและความรู้จากบรรพบุรุษที่ทิ้งไว้ให้ เพราะฉะนั้นเวลาเรารับความรู้หนึ่งมาจากบรรพบุรุษเท่ากับเรารับมรดกมา แต่เราไม่รู้ว่าเป็นมรดก เราพูดภาษาไทยได้ ทำอาหารไทย แต่ไม่มีสำนึกรับรู้ เราไม่รู้คุณค่าแต่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความรู้ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่ความรู้เรื่องสภาพแวดล้อม ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

สมัยก่อนที่เราดำรงชีวิตอยู่ได้นั้นเรายังไม่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ การศึกษาแบบสมัยใหม่เข้ามาก็ต่อเมื่อเราติดต่อตะวันตกซึ่งเข้มข้นขึ้นในสมัยร.5 ที่ปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นสากล ทำให้มีการส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกกัน พอไปเรียนเมืองนอกพื้นฐานความรู้แบบที่เราเคยซึมซับในชีวิตประจำวันเราก็ไม่นับว่าเป็นความรู้ ไปเจอของแปลกใหม่อย่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก็คิดว่าเป็นความรู้ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พอกลับมาเขาก็จึงปรับเปลี่ยนกระบวนการให้การรับความรู้เป็นการรับจากตำรา แต่ความรู้ที่มีอยู่เดิมก่อนที่จะมีการศึกษานั้น ก็ช่วยให้บรรพบุรุษดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อม ไม่ใช่รับความรู้มาจากบรรพุบุรุษของตนอย่างเดียวนะ แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตน คือความรู้ที่ได้รับสมาชิกในครอบครัวและหมู่บ้าน ตามพ่อตามแม่ไป ผู้หญิงเรียนรู้เรื่องการทำครัว การทอผ้า การจัดระเบียบของบ้านให้เรียบร้อย ผู้ชายต้องทำงานหนัก ลงไร่ไถนา ฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ไปช่วยกันเก็บเกี่ยว เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ตามผู้ใหญ่ไปก็ทำให้เริ่มเห็นสิ่งใดเป็นประโยชน์ ความรู้เหล่านี้ถือเป็นมรดกแต่ไม่ได้รับการถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นความรู้ที่ฝังลึกและถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สังคมดูแลตัวเองให้ได้ พอมีประสบการณ์ขึ้นมาเราก็สามารถพลิกผันได้ อย่างไรก็ตาม ความรู้เดิมนี้ก็จำเป็นต้องถูกปรับให้เข้ากับความรู้สมัยใหม่ เช่น วิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เพราะความรู้ของเราเป็นความรู้ทางเกษตรกรรม ความรู้เพื่อการดำรงชีพ แต่ที่ผ่านมาเราไม่นับว่ามันเป็นความรู้ เช่น ชาวนา ซึ่งเขาเลี้ยงเรานะ เขาเข้าโรงเรียนหรือเปล่า แต่ทำไมเขารู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะไถนา ควรจะฝึกให้ควายไถนาอย่างไร จะพยากรณ์ฤดูกาลอย่างไรว่าเมื่อไหร่ฝนจะมา เข้าใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว หาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์มาช่วยในการดำรงชีพโดยตรง

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เปลี่ยนสถานะของสังคมจากระบบเกษตรกรรมสู่ระบบอุตสาหกรรม มันก็เป็นอาชีพแต่เป็นอาชีพจากภายนอกที่สังคมไทยรับเอามา มันจึงเป็นคนละความรู้กัน ผู้ที่ไปเรียนเมืองนอกมากลับมาเขาก็มาวางหลักสูตร ต้องเรียนเรขาคณิตร พีชคณิต ตรีโกณ ต้องเรียนภาษา ถามว่าความรู้พวกนี้เรียนไปแล้วเราเอากลับมาดำรงชีวิตแบบชาวบ้านได้ไหม มันดำรงอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราควรต้องรู้จักนำเอาความรู้แบบสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนการดำรงชีพ เพื่อเปลี่ยนสถานภาพของความรู้แบบบรรพบุรุษมาเป็นความรู้สากล

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

แต่เกษตรกรสมัยก่อน อย่างชาวสวนทุเรียน เขาไม่ได้เรียนหนังสือแต่ทำไมเขาสามารถพัฒนาพันธุ์ผลไม้ได้หลากหลาย ถ้าเราดูประวัติของพระยาภาสกรวงศ์ ท่านบันทึกไว้เรื่องการทำสวนทำนาว่ากรุงเทพฯ-ฝั่งธน สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ทุเรียนได้หลายสายพันธุ์ ปัจจุบันความรู้พวกนี้อยู่ในม.เกษตรฯ แต่ชาวบ้านก็ยังรู้ อย่างข้าวหอมมะลิที่กลายเป็นพันธุ์ข้าวระดับโลก ถามว่าใครไปช่วยเขา เขาได้ความรู้มาจากไหน ก็มรดกจากบรรพบุรุษทั้งนั้น ต้องเข้าใจนะว่าความรู้เดิมเป็นความรู้ในระบบหนึ่ง เป็นความรู้เพื่อการดำรงชีพ รู้จักสภาพแวดล้อม พึ่งพาตนเอง แตกต่างจากความรู้ทางชีววิทยา มันคนละระบบกัน แต่ถ้าไม่ได้รับความรู้แบบสมัยใหม่หรือแบบสากลเราก็อยู่แบบชาวเขา อยู่แบบประเทศที่ไม่ได้ติดต่อกับใครซึ่งไม่มีแล้ว เพราะตอนนี้โลกเป็นสากล ความรู้ต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนกัน แต่การแลกเปลี่ยนนี้ถ้าเราไม่เฉลียวใจทัน มันจะกลายเป็นการปฏิเสธความรู้เดิมและไม่ได้พัฒนาต่อไป

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

เราจะผสมผสานความรู้สมัยใหม่และภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อย่างไร

ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือสากลที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน ถ้าเข้าใจธรรมชาติและสามารถแปรทรัพยากรธรรมชาติที่ความรู้เดิมไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนได้เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม มันจะกลายเป็นความรู้อีกระดับหนึ่ง แต่มันก็ยากและการปฏิวัติอุตสาหกรรมตอนนี้ถึงยุคดิจิตอลแล้ว ตั้งรับกันทันหรือเปล่า ตั้งรับคือใช้เป็นแล้วเปลี่ยนวิธีคิด แล้วถามว่าเราใช้เป็นหรือเปล่า ทุกวันนี้ต้องพกโทรศัพท์ มันมีประโยชน์แต่ขณะเดียวกันมันก็ลวงโลก ฉะนั้นความรู้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใหม่เราต้องรู้ทัน มีสติว่าอะไรเป็นประโยชน์อะไรไม่เป็นประโยชน์ ประโยชน์คือทำให้เราสามารถกลับไปหาความรู้ในอดีตที่ทำให้เราดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ตอนนี้เราต้องพึ่งพาคนอื่นไปหมด ในยุคดิจิตอลข้อมูลต่างๆ มันถาโถมมา ถามว่าเราจะวางตัวอยู่ตรงไหน แล้วความรู้ที่เป็นมรดกดั้งเดิมหายไปหมดเลย ยกตัวอย่างความรู้ทางการเกษตรที่เราสามารถพัฒนาพันธุ์พืชต่างๆ ได้ก่อนที่ความรู้แบบสมัยใหม่จะเข้ามา ลองคิดดูว่าถ้าเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาในเมือง คนเมืองตายกันหมดเพราะไม่รู้จะหากินอย่างไร

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

ความรู้ทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ถ้าเรามีสติเราจะรู้ว่าความรู้เรามีอยู่เราต้องไม่ปฏิเสธ มันเป็นมรดกของมนุษยชาติ ความรู้แบบสมัยใหม่ก็มีประโยชน์สามารถยกระดับปรับเปลี่ยนชีวิตคนเราไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ความรู้เดิมกลับหายทั้งๆ ที่มันสามารถเลี้ยงเราได้ ฉะนั้นเมื่อเรารับมาเราต้องมีสติเท่าทัน ยกตัวอย่างประเทศจีน เขาก็ทิ้งความรู้เดิมไปรับความรู้แบบสมัยใหม่เหมือนกัน ถูกจิตสำนักแบบวิทยาศาสตร์ครอบงำอยู่พักหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมาสนใจการดำรงชีพแบบดั้งเดิม อนุรักษ์ป่าไม้ ชาวบ้านรู้จักหาพืชป่า มีการรื้อฟื้นปรัชญาขงจื๊อ กลับไปหาความรู้ท้องถิ่นที่เป็นของตัวเองแท้ๆ ความรู้เดิมกับความรู้แบบสมัยใหม่จึงมาบรรจบกัน

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

ที่ภูเก็ตมีลุงที่จักสานเป็น ในอดีตผู้ชายก็จักสานได้ เราจะเอาความรู้เรื่องการจักสานนี้กลับมาได้อย่างไร มันจะเป็นประโยชน์ไหมกับการพัฒนาชาวบ้านให้สามารถนำภูมิปัญญามรดกมาอยู่กับโลกสากล และโลกสากลยอมรับด้วย จะเชื่อมต่อตรงนี้ได้อย่างไร ยกตัวอย่างว่าสังคมปัจจุบันนี้เริ่มปฏิเสธถุงพลาสติก ที่ทางเหนือก็มี packaging ที่เป็นกระดาษ มีไผ่ที่เอามาทำจักสานได้ อันนี้สามารถสร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้ มันต้องการเชื่อมโยงความรู้ระหว่างความรู้เดิมกับแบบสมัยใหม่ที่จะช่วยให้พัฒนาเข้าสู่ชีวิตประจำวันให้เป็นประโยชน์

ทีนี้ถ้าเรารู้แล้วว่าความรู้แบบสมัยใหม่มีประโยชน์ ก็ต้องรู้จักใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น ใช้สนับสนุนความรู้เดิมในส่วนที่ความรู้เดิมอาจจะไปไม่ถึง อย่างการกลับมาสู่เศรษฐกิจแบบพอเพียง ทำไมกลับมาสู่เศรษฐกิจพอเพียงล่ะ ทำไมไม่ก้าวหน้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ก้าวหน้าได้แต่เราต้องเท่าทันระบบอุตสาหกรรม อะไรเป็นอุตสาหกรรมเราต้องเรียนรู้ แต่พอเรียนรู้แล้วต้องทำให้ระบบอุตสาหกรรมเอื้อประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่น ให้เขาสามารถนำระบบอุตสาหกรรมมาเอื้อประโยชน์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ในการที่มนุษย์เข้าใจธรรมชาติในแง่มุมหรือเงื่อนไขหนึ่ง แต่ความรู้ไหนที่จะแปรทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นี่คือระบบอุตสาหกรรมมันนำเรา

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

ถ้ามองใกล้ตัวเราทั้งในวงวิชาการและวงวิชาชีพ อาจารย์คิดว่าองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมอยู่ในขั้นวิกฤตไหม

อย่าเพิ่งพูดถึงวิกฤต คอนโดฯ ขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง ในชนบทชาวบ้านเปลี่ยนบ้านกันหมดแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของวิกฤต มันเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่คนที่มีสำนึกแล้วควรกลับมาดูงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพราะถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์อย่างไร ตอนนี้ช่างไม่มีแล้ว ช่างไม้หายไปหมด จะรู้อะไรก็ไม่รู้อะไรจริง เมทัลชีท กระจก มาแล้ว แต่เพราะเราไม่ได้ทำงานไม้ ถ้าเราเข้าใจงานไม้จริงๆ ระหว่างรัฐกับประชาชน จะรู้ว่าการปลูกสร้างนั้นไม้มีส่วนสำคัญ แล้วจะสามารถวางแผนได้ ปลูกป่าเศรษฐกิจได้ ถึงกลับมาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่พึ่งพาข้างนอก เรื่องปราชญ์ชาวบ้านตอนนี้ยังไม่ชัดเจนแต่ก็มีการเริ่มหันกลับมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีประโยชน์แต่ผลกระทบมันร้ายแรง ตั้งรับไม่ทัน เปลี่ยนแปลงเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็วเพราะอะไรเพราะตกอยู่ในมือนายทุน ต้องการให้เราเสพมากๆ อุตสาหกรรมเป็นระบบที่ผลิตให้เราใช้ เราต้องพึ่งมัน อย่างในประเทศอินเดีย คนอินเดียแท้ๆ เขาเห็นว่าต้องพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด และไม่ใช่ปฏิเสธความรู้ข้างนอกแต่ต้องมีการคัดสรร ตอนนี้เราไม่มีการคัดสรร ป่าเราหมดแล้ว

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

เอาเข้าจริงๆ ลองดูว่าตอนนี้อะไรที่ทำลายโลก อุตสาหกรรม คนที่ใช้อุตสาหกรรมไม่มีจริยธรรม ไม่มีความเป็นธรรมต่อคนอื่น ไม่มีความเท่าเทียม อย่างดิจิตอลเราติดมัน ทำอย่างไรล่ะ ไม่มีดิจิตอลอยู่ได้ไหม คนที่ใช้ดิจิตอลอยู่ไม่ได้แล้ว สลับซับซ้อนนะ จะอยู่อย่างไร อยู่ให้ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เรื่องผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทำให้มนุษย์กลับมาสนใจเรื่องความยั่งยืน พึ่งตนเอง แต่พึ่งตนเองอย่างไร ไม่ใช่แบบเก่าแล้ว สมัยก่อนปลูกเรือนเครื่องผูกวันเดียวเสร็จ สมัยนี้ก็เหมือนกันแต่เอาสังกะสีมาปะๆ เมื่อก่อนมีการปลูกไผ่ใช้กันในหมู่บ้าน ก็อยู่กันมาไม่เห็นอดตาย สังคมพัฒนามาถึงตรงนี้มันต้องหาทางเลือกเพื่อสงวนรักษาสภาพแวดล้อมให้ยังคงอยู่ แล้วเกิดการหมุนเวียนใช้ไม่หมด

เรารู้ไม่เท่าทันอะไรเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว นักวิทยาศาสตร์กับนักเศรษฐศาสตร์เขาร่วมมือกัน เอากระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาสู่เศรษฐกิจ ผูกขาดสินค้า เราต้องพึ่งพาเขาไปหมดยุคดิจิตอล อย่างที่ชูมาร์กเกอร์พูดไว้ เราต้องพึ่งพาตนเอง แต่จะปฏิเสธอุตสาหกรรมอย่างไร อุตสาหกรรมผลิตของให้เราใช้ สร้างความต้องการใหม่ๆ เรื่อยๆ ยั่วยุให้เราซื้อทั้งนั้น อุตสาหกรรมอยู่ได้เพราะมันเปลี่ยนโมเดลให้ดีกว่าเก่าเรื่อยๆ ให้ทิ้งของเก่า เวลาใช้แล้วชำรุดเราต้องซื้อใหม่ แต่มันดีจริงๆ อย่างตู้เย็น ความรู้เดิมใช้ได้หรือเปล่าล่ะ

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

พูดลำบาก ผมไม่มีคำตอบ แต่ผมมีโอกาสได้รู้จักอดีต เรียนรู้อดีต ภูมิใจในอดีต เกิดมาแล้วเราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นของเราและสากล บทเรียนประวัติศาสตร์สอนอะไรไว้บ้าง แล้วบทเรียนมีทั้งเลวร้าย มีทั้งนำไปสู่ความเจริญงอกงาม เวลาเกิดสงครามเห็นไหมเอาเปรียบกันทั้งนั้น เอาเปรียบกันทางทรัพยากร แล้วอุตสาหกรรมก็ทำลายธรรมชาติ ถลุงกัน เรารู้เราเห็นหมดแต่เราไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อยู่ไปวันๆ ได้กิน ได้สนุก ได้ฟังเพลง แต่ยุคสมัยแต่ละยุคสร้างค่านิยมไม่เหมือนกัน แต่ละคนอยู่ในยุคสมัยไหนก็มีค่านิยมแบบนั้น ไม่หันกลับมาเห็นคุณค่าอดีตก็เลยอยู่ไปวันๆ

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

แล้วตอนนี้ ความคิดความอ่านของนักศึกษายุคใหม่เป็นอย่างไรบ้าง

นักศึกษายุคใหม่ก็เรียนรู้การออกแบบนี่ล่ะ แต่การศึกษาทุกวันนี้ถูกสากลครอบงำหมด ไม่ใช่ไม่ดี มันก็ดี นักศึกษาเราออกแบบได้ทันโลกเลย แต่ไปออกแบบให้ชาวบ้านแล้วเขาอยู่ไม่ได้และเกินฐานะเขา จริงๆ แล้วการออกแบบมีหลายระดับ ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ตลาดแบบเก่าซึ่งตอนนี้ตายแล้ว เพราะของใหม่ต้องดีกว่าของเดิม แต่บางอย่างบรรยากาศเดิมหายไปก็อยากจะได้บรรยากาศเดิมกลับมาอีก เพราะอะไรเพราะแบบเดิมๆ เป็นอัตลักษณ์ที่สากลให้ไม่ได้ แต่จะเอาอัตลักษณ์ตรงไหนล่ะ ฉะนั้นประวัติศาสตร์ต้องรู้ แต่รู้แล้วนำมาเป็นประโยชน์ต่อปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

ผมออกทริปกับนักศึกษาไปเมืองแพร่ ไปคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ที่เขาสร้างแบบโคโลเนียล ตอนที่ที่นั่นสร้างเสร็จเขาให้กวีตาบอดเขียนบทกวีพรรณนาประตูหน้าต่าง ใช้คำไพเราะมาก ทำไมคนรุ่นหลังไม่ได้เสพรสแบบนี้ แต่ความเป็นสากลมีเสน่ห์ มีความรวดเร็ว ปรุงให้เสร็จสรรพ แต่มรดกของเราสามารถทำให้ดีได้ เช่น เครื่องจักสาน ผ้า อาจจะกลับมาได้อีกแต่ไม่มีใครโปรโมต เราจะเอาผ้ากลับมาสู่ชีวิตปัจจุบันได้อย่างไร

การศึกษาของเราเป็นอย่างไร ก็เป็นสากลนี่ล่ะ ฐานรากก็เป็นสากลแล้ว ออกแบบก็เป็นสากล แต่สถาปนิกนั้นพอจะออกแบบให้ชาวบ้าน แก้ปัญหาสลัมได้หรือเปล่า เอาเข้าจริงๆ housing สำคัญมาก แต่ไม่ค่อยมีใครรับผิดชอบ ทำแต่คอนโดฯ กันหมด คลองลาดพร้าวอยู่ดีๆ ก็ไล่ชาวบ้านแล้วสร้างให้เขาใหม่ อย่าลืมว่าสลัมต้องอยู่ในเมือง ไม่มีสลัมใครจะเป็นแรงงานให้กับเมือง

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์

อาจารย์มีคำแนะนำอะไรจะฝากถึงสถาปนิก นักศึกษารุ่นใหม่ไหมครับ

สถาปนิกไทยไม่ปฏิเสธว่าเป็นสากลไปแล้ว แต่ทำอย่างไรเอาความรู้สากลมาหาภูมิปัญญาดั้งเดิมว่ามันอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วพอเข้าไปถึงแล้วจะรักษาไว้ได้อย่างไร มีสองอย่าง คือสืบเนื่อง กับอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้เรา ก็อย่าไปเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านระดับล่างเราเข้าใจเขาหรือเปล่า ที่สำคัญคนระดับล่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะทำอย่างไรให้เขามีที่อยู่อาศัยที่ดี ที่เขามารุกล้ำเพราะเขาอยู่ที่ชนบทไม่ได้ เมืองที่ดีเขาจะมีสำนึกว่าจะช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างไร มีการกระจายรายได้ แต่บ้านเรายังมีสลัมอยู่ เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบ มันเป็นความเป็นความตายของคน ที่สำคัญ เมืองขยายไปเรื่อยๆ ที่นาก็หมด แล้วชาวนาจะไปอยู่ไหน

เสียดายที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้เห็นมรดกสำคัญของอดีตและไม่ซาบซึ้ง พอไม่ซาบซึ้งก็เลยไม่มีความภูมิใจในชาติ อย่างเช่น ประเทศจีนที่ได้ยกตัวอย่างไปก่อนนี้ เขายังหันกลับมา พยายามเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ด้วยความรู้เท่าทัน จะเป็นอย่างไรไม่ทราบไม่มีคำตอบ แต่เขาเริ่มหยั่งเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม ต้องเรียนรู้ซึมซับ ผมคิดว่าใครที่เรียนสถาปัตยกรรมไทยจะไม่มีอาชีพถ้าไม่สามารถพลิกผันเข้าสู่สากล ต่างกับที่ถ้าเรียนสากลจะพลิกผันเข้าสู่ความเป็นไทยได้ง่ายกว่า ผมคิดอย่างนี้ เราทำได้ แต่เราไม่เห็นคุณค่า

รองศาสตราจารย์ วิวัฒน์ เตมียพันธ์
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Talk

    Round Table Talk: Sook Siam

    อีกหนึ่งโครงการตลาดที่น่าสนใจในช่วงนี้คือพื้นที่ตลาดที่ถูกจับมาไว้ในศูนย์การค้าอย่างโครงการสุขสยาม โครงการตลาดที่นำเอาสินค้าตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาจัดไว้รวมกันในโครงการ ICONSIAM และในครั้งนี้ทีมงาน ASA CREW ก็ได้โอกาสพูดคุยกับคุณโอ๊ต-ชยะพงส…

    โดย ASACREW
  • Talk

    One Day with an Architect: One Day in a Migration Camp

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: -.- “…ความสามารถของคนในขณะที่ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย มันน่าทึ่ง น่ายกย่องเสมอ…” หวาน-สุภณา โสภณพนิช ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่ยุคโบราณบ้านเรือนหรือที่พักอ…

    โดย ASACREW
  • Talk

    ROUNDTABLE TALK: Let’s Talk about Spiritual Space

    เรื่อง : ASA CREW Team ภาพ : ชนิภา เต็มพร้อม การออกแบบหรือก่อสร้างอาคารทางศาสนาอาจจะเป็นความฝันหรือปณิธานของศาสนิกในแต่ละศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ASA CREW มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์…

    โดย ASACREW