ASA ESAN: เปลี่ยน ปรับ ขยับ ขยาย จากด๊ะดาด สู่ ตลาดเซนซ่า

Visit / 09 ต.ค. 2019

เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล
ภาพ: Courtesy of architects, Marisa Hirunteeyakul and Kunlasri Thungsakul

คงเป็นที่คุ้นตาทั่วไปที่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในประเทศเราที่จะมีลานอเนกประสงค์กลางแจ้งสำหรับรองรับกิจกรรมพิเศษในพื้นที่เมือง รวมทั้งใช้เป็นที่จำหน่ายสินค้าและบริการ ด๊ะดาด ตลาดของดีสินค้าสร้างสรรค์ (Dadad Creative market) ตั้งอยู่หน้าลานเซนทรัลพลาซ่า จังหวัดนครราชสีมาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่มีการจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นร้านค้าและร้านอาหารเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมโครงการมีทางเลือกในการเดินจับจ่ายสินค้าภายนอกตัวอาคารและได้สัมผัสกับบรรยากาศของความเป็นตลาดในแบบบ้านเรา

แผงขายสินค้าใน Dadad Creative market

โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Bangkok Tokyo Architecture และ OPH ซึ่งได้รับโจทย์จาก CHEEZE เจ้าของโครงการให้ออกแบบตลาด ซึ่งเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นสำหรับเป็นที่กิน เที่ยว ศูนย์รวมแฟชั่น โดยกำหนดระยะเวลาในใช้งานเพียงหนึ่งปี แนวทางหลักในการออกแบบจึงเสนอให้รูปแบบตัวสถาปัตยกรรมเป็นอาคารชั่วคราวที่สามารถถอดรื้อได้ง่าย และใช้วัสดุที่ไม่ถาวรมาก

บรรยากาศการใช้งานพื้นที่ของ Dadad Creative market

ผังอาคาร เริ่มจากแนวคิดในการออกแบบจุดนัดพบของคนเมืองโคราช โดยการจัดวางอาคารที่มีลักษณะเป็น module วางตามแนวกริด มีทั้งแบบที่เรียงกันเป็นแถว และเป็นหลังเดี่ยวๆ การจัดวาง module ร้านค้ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ (exploded grid) เป็นการเปิดโอกาสให้ร้านส่วนใหญ่กลายเป็นร้านหัวมุมซึ่งผู้จับจ่ายสินค้าสามารถมองเห็นสินค้าได้ทั่วถึง และยังสร้างบรรยากาศของการเดินตลาดแบบไทยๆ ที่ประกอบด้วยร้านค้าน้อยใหญ่ เชื่อมโยงกันด้วยทางเดินแคบๆ ที่ให้ความรู้สึกของการเดินตามตรอกซอกซอย โดยมีลานกลางแจ้ง (plaza) แทรกอยู่เป็นระยะเพื่อเป็นจุดพบปะที่จดจำได้ง่ายของผู้คนที่มาเยือนตลาดแห่งนี้

ผังการวางพื้นที่ภายใน Dadad Creative market

สำหรับตัวอาคารนั้น ทีมสถาปนิกเลือกแนวคิดการสร้างความยืดหยุ่นในการใช้งาน ประหยัดเวลาก่อสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างในระบบอุตสาหกรรมที่หาได้ง่ายในร้านค้าทั่วไป มาประกอบกันขึ้นมาเป็นอาคารที่สามารถถอดรื้อ ประกอบใหม่และย้ายที่ได้ จึงก่อสร้างได้รวดเร็ว ประหยัดเวลาและงบประมาณ

ลักษณะอาคารจึงให้กลิ่นอายของการนำรูปแบบของนั่งร้านที่ประกอบขึ้นระหว่างการก่อสร้างอาคารและถอดรื้อออกตอนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยจะเห็นได้ชัดเจนจากการกำหนดรายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี อาทิ จุดต่อระหว่างฐานเสาคอนกรีตหล่อสำเร็จรูปกับเสาเหล็ก ชิ้นส่วนของเสา คาน และโครงหลังคาเหล็กท่อกลม ที่จัดวางต่อกันโดยใช้หมุดเหล็กหนีบเพื่อยึดแต่ละชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน แต่สามารถรื้อถอดออกได้ในภายหลัง โดยที่วัสดุที่ใช้สามารถนำกลับไปประกอบเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ได้

รายละเอียดการจัดวางพื้นที่ภายใน Dadad Creative market

อาคารมีความโปร่งเบาจากการเปิดโล่งผนังส่วนล่างเพื่อจัดแสดงสินค้า ซึ่งภายหลังได้มีการออกแบบส่วนยื่นอาคารเป็นผ้าใบสำหรับบังแดดและเป็นกันสาดให้อาคาร ส่วนระนาบผนังที่อยู่ระดับบนขึ้นไป ใช้วัสดุเป็นโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสงโดยออกแบบแสงประดิษฐ์ซ่อนอยู่ด้านใน ตอนกลางคืน แสงไฟที่เปิดจากภายในร้านจึงส่องสว่างออกมาเหมือนดวงโคมที่ดึงดูดความสนใจและสร้างบรรยากาศของตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งสะท้อนแนวคิดของทีมสถาปนิกที่ต้องการสร้างสีสันในการเดินตลาดนัด โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากที่พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป สภาพอากาศจึงเหมาะกับการเดินเล่น มารวมตัวกัน และใช้ชีวิตภายนอกอาคาร

โครงสร้างของ Dadad Creative market

ปัจจุบัน ถือได้ว่าโครงการนี้ ประสบความสำเร็จเกินคาด เนื่องจากอาคารยังคงมีการใช้งานอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกินระยะเวลาที่คาดหมายไว้ตั้งแต่แรกตั้งโครงการ มีการปรับเปลี่ยนผังบริเวณจากแบบกริดและวางอาคารกระจายในพื้นที่ กลายเป็นผังแบบเป็นแถวยาวเรียงปิดล้อมลานกลางแบบตัวยู เนื่องจากต้องการรองรับกิจกรรมพิเศษที่ขนาดพื้นที่มากขึ้น อาทิ การแสดงดนตรี ลานสเก็ต เป็นต้น

จากการได้พูดคุยกับผู้ใช้โครงการในพื้นที่ ส่วนใหญ่มีทัศนคติในทางบวกกับการจัดวางอาคารทั้งสองรูปแบบ กล่าวคือแบบเดิมให้บรรยากาศที่น่าเดิน น่าค้นหามากกว่า ขณะที่แบบใหม่ที่ปรับเปลี่ยนการวางอาคารล้อมลานกลาง สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลายได้มากขึ้น โครงการนี้จึงตอบโจทย์ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี ในการที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบชั่วคราวที่ถอด/ ปรับ/ เปลี่ยนได้ ตามความต้องการของผู้ใช้โครงการ

Dadad Creative market
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    โรงเรียนบ้านคลองบอน: พื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์จากภาพวาดเพื่อสร้างภาพฝัน

    เรื่อง: กิตติ เชาวนะ ภาพ: ทรงพันธุ์ จันทร์ทอง ท่ามกลางแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบริเวณอ่าวพังงาระหว่างพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต “เกาะยาวใหญ่” เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรก…

    โดย ASACREW
  • Visit

    “แกลเลอรีบ้านครัว” พื้นที่เก่าบนเรื่องเล่าใหม่

    เรื่อง : ณัฐวดี สัตนันท์ ภาพ : Pat Phuchamni “สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์” สตูดิโอสถาปนิกที่ให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความเชื่อว่า “คุณค่า” หรือ “ความหมาย” ของงานสถาปัตยกรรมไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมิต…

    โดย ASACREW
  • Visit

    โครงการกุมารเวช (Children’s Center) โรงพยาบาลเอกชัย

    เรื่อง: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ ภาพ: เกตน์สิรี วงศ์วาร ‘โรงพยาบาล’ เป็นสถานที่หนึ่งในความทรงจำที่เหมือนฝันร้ายในวัยเด็กของใครหลายๆ คน อาจเพราะความป่วยไข้ ไร้เรี่ยวแรงให้วิ่งเล่น เข็มปลายแหลมรวมไปถึงหมอและพยาบาลที่ดูตัวสูงยาวในชุดสีขาว ทำให้รู้สึกเหมือนอย…

    โดย ASACREW