The Commons Saladaeng

Update / 04 ก.พ. 2020

เรื่อง: ปวริศ คงทอง
ภาพ: Courtesy of Department of Architecture

หากจะเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง สถาปนิกก็คงเป็นเหมือนผู้กำกับที่จะกำหนดแนวทางและกำกับให้ภาพยนตร์เป็นไปตามแนวทางนั้น และภาพยนตร์บางเรื่องที่ได้รับความนิยมและการกล่าวถึงเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการประกาศว่าจะทำภาคต่อ ผู้ชมก็ย่อมมีความคาดหวังว่าภาคต่อนั้นจะออกมาดีมากกว่าหรือไม่ต่างจากภาคแรก

The Commons Saladaeng Perspective

สถาปัตยกรรมเองก็เช่นกัน นี่เป็นมุมมองส่วนหนึ่งของคุณอมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท Department of Architecture ซึ่งพูดถึงโครงการเดอะคอมมอนศาลาแดง โครงการที่มีความต่อเนื่องมาจากโครงการเดอะคอมมอนทองหล่อ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งในแง่ธุรกิจและแง่การออกแบบที่ได้รับรางวัลต่างๆ เป็นเครื่องการันตี

The Commons Saladaeng Perspective

เมื่อสถาปนิกมองโครงการที่ต่อเนื่องกันนี้เป็นภาพยนตร์ภาคต่อแล้ว องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านั้นประสบความสำเร็จได้เหมือนภาคแรกก็ถูกตีความแล้วนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม ในมุมมองของคุณอมตะ สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ภาคต่อประสบความสำเร็จได้มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ ตัวละครเดิมที่ผ่านช่วงเวลาและเติบโตขึ้น ตัวละครใหม่ที่มีความสำคัญและมีความน่าสนใจที่จะดึงผู้ชมเข้ามาได้ และสุดท้ายคือองค์ประกอบรองๆ ที่ช่วยให้เส้นเรื่องดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง องค์ประกอบทั้ง 3 อย่างที่ถูกถอดออกมานี้คือแนวคิดหลักที่สถาปนิกจะใช้ในการออกแบบโครงการเดอะคอมมอนศาลาแดงให้ออกมาดีไม่น้อยไปกว่าโครงการเดอะคอมมอนทองหล่อ

ภาพขณะก่อสร้างของ The Commons Saladaeng

จากการวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบแรกคือตัวละครเดิม ที่ทำให้โครงการเดอะคอมมอนทองหล่อประสบความสำเร็จในแง่ของการออกแบบ สิ่งนั้นคือการออกแบบโดยใช้พื้นที่กึ่งในร่มกึ่งกลางแจ้ง และระบบการระบายอากาศตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ในตัวอาคารของเดอะคอมมอนศาลาแดงเองก็มีการนำพื้นที่กึ่งกลางแจ้งนี้มาใช้เช่นกัน และเพื่อให้เกิดสภาวะสบายในพื้นที่ส่วนนี้ Industrial Fan จึงถูกติดตั้งเอาไว้เพื่อช่วยให้อากาศเกิดการไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง

The Commons Saladaeng Perspective

ตัวละครต่อไปคือตัวละครใหม่ คือรูปลักษณ์อาคารที่สถาปนิกตั้งใจทิ้งรูปลักษณ์ของเดอะคอมมอนทองหล่อไปทั้งหมด เพื่อสร้างภาพจำที่เป็นเอกลักษณ์ของเดอะคอมมอนศาลาแดงขึ้นใหม่ จากแนวคิดที่ต้องการให้ความสำคัญกับละแวกรอบๆ ของผู้พัฒนาโครงการเดอะคอมมอน สถาปนิกพยายามหาความเป็นมาของพื้นที่ศาลาแดง และทราบว่าเดิมชื่อศาลาแดงมาจากศาลารอรถไฟขนาดเล็กที่มีหลังคาจั่วสีแดงในอดีต ศาลารอรถไฟนี้จึงกลายมาเป็นต้นแบบในการสร้างรูปลักษณ์ของเดอะคอมมอนศาลาแดง สถาปนิกตั้งโจทย์ 2 อย่างคือ สีหลักของอาคารต้องเป็นสีแดง และหลังคาต้องเป็นหลังคาจั่วขนาดเล็ก สอดคล้องกับรูปร่างอาคารในย่านศาลาแดงสมัยก่อน

The Commons Saladaeng Perspective

องค์ประกอบสุดท้ายที่ทำให้เส้นเรื่องของภาพยนตร์ดำเนินไปได้ เปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมก็คือการใช้งานที่หลากหลายและเพิ่มความน่าสนใจให้กับโครงการ ในกรณีของเดอะคอมมอนทองหล่อคือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เข้ากับสถาปัตยกรรม และในโครงการเดอะคอมมอนศาลาแดง สถาปนิกเลือกที่จะคิดกลับกันโดยออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะปรับตัวเข้ากับกิจกรรมที่หลากหลายได้ พาเลทไม้ราคาไม่แพง ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยการออกแบบโมดูลของพาเลทที่จะปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ ได้ ทั้งในวันทั่วไป หรือในกิจกรรมพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การจัดตลาดนัด การแสดงดนตรีขนาดเล็ก ไปจนถึง International Jazz Festival และ The Common Carnival หรือรองรับกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไม่จำกัด

via GIPHY

สุดท้ายแล้วโครงการเดอะคอมมอนศาลาแดงจะประสบความสำเร็จได้อย่างเดอะคอมมอนทองหล่อหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าจับตากันต่อไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบผ่านมุมมองที่ให้โครงการนี้เป็นภาพยนตร์ภาคต่อซึ่งมีทั้งสามองค์ประกอบข้างต้น ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจและน่าติดตามอยู่มากเลยทีเดียว

Project Information

ผู้ออกแบบ Department of Architecture
เจ้าของโครงการ The Commons
ที่ตั้ง กรุงเทพมหานคร
สถานะ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
พื้นที่โครงการ

โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Update

    Walk & Talk with an architects #2 at AUBE Wedding Venue

    บ่ายวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ASA CREW จัดกิจกรรม Walk & Talk with an architects ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เปิดโอกาสพิเศษให้สมาชิกสมาคมฯ 15 ท่าน ได้มาสัมผัสประสบการณ์จริงในสถาปัตยกรรมสำหรับพิธีการแต่งงานโดยเฉพาะ อย่าง AUBE Wedding Venue พร้…

    โดย ASACREW
  • Update

    New Waves of Thai Architects คลื่นระลอกใหม่จากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย

    เรื่อง: Jenchieh Hung และ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี แปล: Jiaqi Han ภาพ: ตามระบุใต้ภาพ เมื่อวาน คืนวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร หรือ Royal Academy of Arts ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสถาปนิกไทย ผศ. บุญเสริม เปรมธา…

    โดย ASACREW
  • Update

    ASA Real Estate Awards 2019

    ASA Real Estate Forum 2019 เปิดเวทีให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบเมืองยุคใหม่ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่มีความยั่งยืนและเป็น “เมืองเพื่อทุกคน (Cities for All)” อย่างแท้จริง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงก…

    โดย ASACREW