โบสถ์ศีลมหาสนิท

Visit / 08 ต.ค. 2019

เรื่อง: ดร.จักรสิน น้อยไร่ภูมิ
ภาพ: ชนิภา เต็มพร้อม

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 60 ถือเป็นยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม ในช่วงเวลานี้โลกได้เกิดเหตุการณ์ๆ สำคัญทางประวัติศาสตร์ขึ้นมากมาย และหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ ความเคลื่อนไหวด้านศาสนา มีการสังคายนาวาติกันครั้งที่สองขึ้น ณ กรุงโรม โดยคริสตจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับตัวคริสตจักรให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ และหนึ่งในผลพวงที่เกิดขึ้นจากการสังคายนาในครั้งนี้ คือการที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้ประกาศให้อิสระในการสร้างศาสนสถานทางคริสตศาสนาทั่วโลก โดยไม่จำเป็นว่าต้องยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ตายตัวและเหมือนกันอีกต่อไป

ภายในวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

การประกาศให้อิสระในการสร้างศาสนสถานของคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นเสมือนการทลายกรอบและเปลี่ยนโลกทัศน์ในการออกแบบที่มีมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างและออกแบบคริสตศาสนสถานทั่วโลก ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา สามารถพบเห็นศาสนสถานทางคริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีรูปทรงแตกต่างและหลากหลายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย ซึ่งคริสตศาสนาได้เข้ามาเผยแพร่มาเป็นเวลายาวนาน และมีคริสตศาสนสถานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ค่อยได้พบเห็นศาสนสถานแห่งไหนที่มีรูปทรงแปลกตาและแตกต่างจากรูปแบบประเพณีนิยมแบบดั้งเดิมมากนัก จนกระทั่งโบสถ์ศีลมหาสนิทแห่งนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น

ภายในวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

โบสถ์ศีลมหาสนิท เป็นศาสนสถานในคริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก สังกัดอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยโบสถ์เดิมนั้นมีประวัติการก่อตั้งในพื้นที่ละแวกนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งราวปี ค.ศ. 2011 พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช พระอัครสังฆราชมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้มีความคิดที่จะสร้างโบสถ์หลังใหม่ จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณริมถนนราชพฤกษ์และได้มอบหมายให้ คุณมาโนช สุขชัย สถาปนิกจากบริษัท Triple One Architects เป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบโบสถ์หลังใหม่หลังนี้

“จริงๆ ผมออกแบบไปสองแบบ แบบหนึ่งคือแบบที่เรียบง่ายที่เป็นทรงจั่วธรรมดา อีกแบบหนึ่งก็เป็นอาคารทรงโมเดิร์นที่ผมคิดคอนเซปต์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งพระคาร์ดินัลท่านชอบแบบโมเดิร์นมากกว่า ท่านก็ให้ผมพัฒนาแบบนี้ต่อ ก็พัฒนาจนกลายเป็นแบบที่ก่อสร้างจริง และสร้างแล้วเสร็จออกมานี้” คุณมาโนช กล่าวถึงความเป็นมาเริ่มต้นในการออกแบบอาคารแห่งนี้

แถวเก้าอี้ม้านั่งภายในภายในวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

หลังจากที่ได้โจทย์ที่ชัดเจนจากพระอัครสังฆราชฯ คุณมาโนชก็ได้นำแบบที่ได้รับการอนุมัติมาพัฒนาต่อ โดยแปรจากความคิดที่เป็นนามธรรมมาสู่แบบก่อสร้างที่เป็นรูปธรรม “คอนเซปต์พื้นฐานที่ใช้เป็นคอนเซปต์ในทางด้านเทวศาสตร์ คือมีตอนหนึ่งในพระคัมภีร์เก่าได้กล่าวเอาไว้ว่า มนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาจากดินและจะหวนกลับไปสู่ดิน ส่วนผู้ที่ทำดีจิตวิญญาณจะขึ้นสู่สวรรค์ ก็เอาคอนเซปต์นี้มาผสมกับอีกคอนเซปต์ คือชื่อของวัดศีลมหาสนิท ซึ่งก็ได้หยิบยืมรูปทรงของแผ่นศีลที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิทที่เป็นแผ่นวงกลมมาใช้ในการสร้างรูปทรงของตัวอาคาร” คุณมาโนช อธิบายเสริม

ภายนอกวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

ตัวอาคารมีรูปทรงคล้ายก้นหอยที่ขดเป็นแกลียว มีผังเป็นวงกลมคล้ายแผ่นศีล โดยเริ่มจากทางลาดที่ค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากดิน นำสายตามาสู่ส่วนที่เป็นโบสถ์ วนขึ้นไปยังหอระฆังและไปจบที่ไม้กางเขนซึ่งเป็นยอดสูงสุด พื้นที่ใช้งานภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่หลักคือ ส่วนสักการะสถาน ซึ่งเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา จุคนได้ประมาณ 300 คน พื้นที่ในส่วนนี้สถาปนิกได้ออกแบบให้แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมายังรูปเคารพพระเยซูซึ่งประดิษฐานอยู่ภายใน ในส่วนของพระแท่นสำหรับสักการะได้มีการออกแบบฉากด้านหลังให้เป็นผนังสองชั้น โดยมีผนังชั้นในที่ปูด้วยอิฐเทียมคล้ายกับคอกแกะในอิสราเอลสมัยโบราณที่มักสร้างด้วยหิน บริเวณส่วนยอดเป็นหอระฆัง ซึ่งมีระฆังจริงอยู่ด้านใน และมีการเจาะช่องขนาดต่างๆ ไว้ เพื่อให้เสียงของระฆังสามารถออกมาภายนอกได้

อีกมุมของภายนอกวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)
มุมมองทะลุกระจกขึ้นไปยังยอดปลายวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร ส่วนใหญ่เป็นวัสดุสมัยใหม่ เช่น คอนกรีต กระจก และเหล็ก เพื่อให้เข้ากับรูปแบบของอาคารที่เป็นรูปทรงสมัยใหม่ โครงสร้างอาคารทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังเป็นคอนกรีตเปลือยสะท้อนความเรียบง่าย ส่วนหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีการออกแบบคานโค้งไขว้กันไปมาเพื่อรับกับรูปทรงของหลังคา ภายนอกกรุด้วยแผ่นอลูมิเนียม โค้งรับกับหลังคาบริเวณด้านหน้าอาคารส่วนที่เป็นโถงทางเข้าที่เป็นหลังคาผ้าใบขึง

กระจกสีที่ประดับอาคารวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)

หลังจากพัฒนาแบบอยู่ราวปีเศษ และใช้เวลาก่อสร้างอีกราว 3 ปี โบสถ์ศีลมหาสนิทแห่งนี้จึงก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้คริสตศาสนิกชนได้มาเข้าใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากโบสถ์แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคริสตศาสนิกชนแล้ว ในมิติของการออกแบบ โบสถ์แห่งนี้ยังเป็นหลักไมล์สำคัญ ของการออกแบบอาคารศาสนสถานในประเทศไทย ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ แต่ให้ความสำคัญกับการตีความ ใช้สัญลักษณ์ โดยผสมผสานแนวคิดในการออกแบบและเทคโนโลยีในการก่อสร้างสมัยใหม่ ให้เข้ากับปรัชญาความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาได้อย่างลงตัวยิ่ง

กระจกสีที่ประดับอาคารวัดศีลมหาสนิท (ตลิ่งชัน)
โดย ASACREW
Facebook
Twitter
Pinterest

บทความที่น่าสนใจ

  • Visit

    dotLIMITED อยู่อย่างรัก(ษ์)โลก และรักษ์สถาปัตยกรรม

    เรื่อง: นพดล ตั้งสกุล ภาพ: Sofography by เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู ไม่มีอะไรที่เล็กเกินไปถ้าเทียบกับความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างจิตสำนึกให้กับการดูแลสภาพแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต อันเนื่องจากการมีอยู่อย่างจำกั…

    โดย ASACREW
  • Visit

    CREATIVE CREWS

    ภาพ: วสวัตติ์ รุจิระภูมิ เรื่อง: ชนิภา เต็มพร้อม ตึกแถว 2 ห้องสุดท้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ข้างศาลเจ้าจีน ในย่านเมืองเก่าเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ไม่ไกลจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมากนัก หากมองจากภายนอกดูกลมกลืนไปกับตึกแถวข้างเคียง จนเราไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า …

    โดย ASACREW
  • Visit

    MARY HELP OF CHRISTIANS CHURCH (CHAWENG)

    เรื่อง: ปวริศ คงทอง ภาพ: Juti architects จากการเพิ่มจำนวนของคริสต์ศาสนิกชนในพื้นที่เกาะสมุย ทั้งจากนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ หรือแม้แต่ชาวไทยในพื้นที่ซึ่งหันมานับถือศาสนาคริสต์มากขึ้น ทำให้…

    โดย ASACREW